28 กรกฎาคม 2567
356

10 อันดับ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก ปี 67

10 อันดับ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก ปี 67
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประกาศจัดอันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกประจำปี 2024 ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงครองแชมป์เป็นอันดับหนึ่ง ด้วยขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP 28.78 พันล้านดอลาร์สหรัฐ ตามด้วยจีน 18.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เยอรมณี อยู่ที่ 4.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
.
เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสองทศวรรษที่ผ่านมา จากความได้เปรียบเรื่องฐานประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก ยอดส่งออกสินค้าไปทั่วโลกเติบโตสูง มีความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภคพื้นฐาน และการบิโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง มาดู 10 อันดับประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกกัน 
.
1. สหรัฐฯ
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี : 2.6%
สหรัฐฯ ยังคงรักษาตำแหน่งประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเอาไว้ได้ตั้งแต่ปี 2503-2566 ระบบเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนโดยภาคส่วนสำคัญๆ ทั้งภาคบริการ การผลิต การเงิน และเทคโนโลยี อีกทั้งมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น และมีประสบการณ์ทางด้านเงื่อนไขทางธุรกิจต่างๆ ที่ได้เปรียบ
.
2. จีน
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 5%
จีนมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยขยับจากอันดับที่ 4 ในปี 2503 มาเป็นอันดับที่ 2 ในปี 2566 ระบบเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการผลิต การส่งออก และการลงทุน โดยประเทศมีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก มีการสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง มีความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
.
3. เยอรมนี
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 0.2%
ระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีให้ความสำคัญกับการส่งออกเป็นอย่างมาก และมีชื่อเสียงในด้านความพิถีพิถันในภาควิศวกรรม ยานยนต์ เคมี และเภสัชกรรม โดยมีข้อได้เปรียบจากแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ โครงการวิจัยและการพัฒนาที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการส่งเสริมนวัตกรรม
.
4. ญี่ปุ่น
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 0.7%
ระบบเศรษฐกิจที่โดดเด่นของญี่ปุ่นมีปัจจัยมาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ความสามารถในการผลิต และอุตสาหกรรมบริการ ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และการเงิน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รับการยกย่องในด้านจรรยาบรรณในการทำงานที่แน่วแน่ การบุกเบิกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการส่งออกสินค้าคุณภาพเยี่ยม
.
5. อินเดีย
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 7%
IMF คาดว่า GDP ของอินเดียจะเติบโตอยู่ที่ 6.8% ในเดือนเมษายน 2567 และในเดือนกรกฎาคม ได้ปรับแก้การคาดการณ์ 20 bps เป็น 7% โดยให้เหตุผลว่ามีการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทของอินเดีย มีส่วนสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตนี้ ระบบเศรษฐกิจของอินเดียมีความหลากหลายและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้รับแรงหนุนจากภาคส่วนสำคัญๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ บริการต่างๆ การเกษตร และการผลิต นอกจากนี้ อินเดียยังใช้ประโยชน์จากตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ แรงงานที่อายุน้อยและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี รวมถึงชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว
.
6. สหราชอาณาจักร
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 0.7%
ระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรประกอบด้วยการผสมผสานของภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคการเงิน โดยกรุงลอนดอนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินทั่วโลกที่ดึงดูดบรรดาการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ พันธมิตรทางการค้ายังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอีกด้วย
.
7. ฝรั่งเศส
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 0.9%
ระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการกระจายความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การบินและอวกาศ การท่องเที่ยว สินค้าหรูหรา และการเกษตร นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีชื่อเสียงในด้านระบบสวัสดิการสังคมที่แข็งแกร่ง โครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาอย่างดี รวมถึงการลงทุนจำนวนมากในด้านการวิจัยและพัฒนา
.
8. อิตาลี
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 0.7%
อิตาลีมีตลาดที่พัฒนาเป็นอย่างมาก และมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในสหภาพยุโรป ประเทศนี้เป็นที่รู้จักในด้านภาคธุรกิจที่เป็นผู้บุกเบิกและมีอิทธิพล อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมการเกษตรที่สามารถแข่งขันได้
.
9. บราซิล
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 2.1%
ระบบเศรษฐกิจของบราซิลมีความหลากหลายในหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกรรม การทำเหมือง การผลิต และภาคบริการ นอกจากนี้ บราซิลยังเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของโลก ปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การบริโภคภายในประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่างมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
.
10. แคนาดา
อัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี: 1.3%
ระบบเศรษฐกิจของแคนาดาพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงน้ำมัน ก๊าซ แร่ธาตุต่างๆ และไม้ นอกจากนี้ ประเทศยังมีภาคบริการที่เจริญรุ่งเรือง อุตสาหกรรมการผลิตที่มั่นคง และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างแน่วแน่
.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของอังกฤษ (CEBR) เผยคาดการณ์ว่า จีนเตรียมแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2581 ขณะที่สหราชอาณาจักร จะเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดของยุโรปในอีก 15 ปีข้างหน้า รั้งอันดับ 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป รองจากเยอรมนี
.
การคาดการณ์ดังกล่าว ยังระบุว่า ประเทศอิตาลีจะหลุดออกจาก 10 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกเมื่อพิจารณาตามขนาดเศรษฐกิจ ภายในปี 2581 โดยประเทศเกาหลีใต้จะเข้ามาแทนที่ ขณะที่สหรัฐฯ และเยอรมนี จะร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 2 และ 5 ตามลำดับ จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 1 และอันดับ 3 ด้านอินเดียและบราซิล ซึ่งเป็น 2 ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก จะขยับขึ้นมาจากเดิมที่อยู่ในอันดับ 5 และอันดับ 9 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 และ 8
.
ที่มา :
IMF,  AEC Connect-Bangkok Bank 
https://indianexpress.com/article/trending/top-10-listing/top-10-largest-economies-in-the-world-in-2024-9358501/
.
ติดต่อโฆษณา!