02 มีนาคม 2564
11,571

3 ทางเลือก จ่ายค่าเบี้ยไม่ไหว ทำอย่างไร กรมธรรม์ไม่ขาดทุน

3 ทางเลือก  จ่ายค่าเบี้ยไม่ไหว ทำอย่างไร กรมธรรม์ไม่ขาดทุน
Highlight

จากสถิติล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค. - ก.ย. 63) พบว่า กรมธรรม์ 676,017 ฉบับ คือ กรมธรรม์ประกันชีวิตในระบบที่มีการยกเลิกและขาดอายุ (lapse)


แบ่งเป็น

1. ประกันชีวิตตลอดชีพ 331,715 ฉบับ
2. ประกันออมทรัพย์ 190,388 ฉบับ
3. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 76,979 ฉบับ
4. ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา 56,902 ฉบับ
5. ประกันภัยกลุ่ม 11,913 ฉบับ
6. ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) 4,341 ฉบับ
7. ประกันบำนาญ 2,364 ฉบับ
8. ประกันยูนิเวอร์แซลไลฟ์ 1,401 ฉบับ 
และแบบประกันชีวิตอื่น ๆ 14 ฉบับ

แน่นอนว่า ทิ้งกรมธรรม์ = จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว‼️

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ว่ามีทางเลือก มักทำ ก็คือ

1. ปล่อยให้ค่าเบี้ยประกันค้างจ่ายไปเรื่อย ๆ  

บริษัทประกันก็จะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันยังได้รับความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่ได้จากกรมธรรม์เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่ายอดค่าเบี้ยประกันค้างจ่ายรวมดอกเบี้ยทั้งหมดจะเท่ากับมูลค่าเวนคืนเงินสดที่ระบุในกรมธรรม์ เมื่อนั้นกรมธรรม์ก็จะถูกยกเลิก ความคุ้มครองก็จะสิ้นสุดลง

2. เวนคืนเงินสด 

ก็จะได้รับเงินคืนบางส่วนและความคุ้มครองก็สิ้นสุดลงทันที

ทางเลือกอะไร ? ที่ช่วยไม่ให้ขาดทุน 

ทันข่าวToday ชวนมารู้จักกับ 3 ทางเลือก ที่ช่วยไม่ให้ขาดทุน หากส่งเบี้ยประกันไม่ไหว ก็คือ

1. การขอปิดกรมธรรม์หรือเวนคืนกรมธรรม์ แบบนี้คือ เราหยุดจ่ายเบี้ยประกันแล้วขอคืนเงินเลย แบบนี้จะทำให้เราได้เงินคืนน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้เลือกวิธีการนี้ เพราะจำนวนเงินที่ได้คืนจะน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไป

2. การใช้เงินสำเร็จ ก็คือ หากเราหยุดจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว ความคุ้มครองก็ยังมีระยะเวลาเท่าเดิม เพียงแต่ทุนประกันชีวิตจะลดลง และสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์บางแบบ ก็อาจจะมีเงินคืนให้ตามสัดส่วนและระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนด
 
วิธีนี้เหมาะกับคนที่ไม่ได้รีบร้อนใช้เงิน และไม่ได้เน้นความคุ้มครองของกรมธรรม์มาก แต่ยังคงต้องการให้มีประกันชีวิตคุ้มครองไปยาว ๆ จนครบสัญญา 

3. ขอขยายเวลา เป็นทางเลือกที่คล้ายกับวิธีเงินสำเร็จ คือ มีการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน ต่างกันที่ทางเลือกนี้ความคุ้มครองของกรมธรรม์จะยังอยู่เท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะลดน้อยลงจากเดิม ซึ่งแบบขยายเวลามีข้อดีตรงที่เรายังได้รับเงินประกันเท่าเดิม แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ระยะเวลาคุ้มครองจะสั้นกว่าแบบเงินสำเร็จนั่นเอง

ทีนี้เราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักแต่ละทางเลือกกันแล้วล่ะ ถ้าเลือกปิดกรมธรรม์ก็จบกันไป แต่ถ้าเราอยากจะให้กรมธรรม์มีผลต่อไป เราก็ต้องมาเลือกกันระหว่างทางเลือกที่ 2 หรือ 3 ถ้าเราคิดว่าการทำประกันชีวิตคือการซื้อความเสี่ยง หากเราเป็นอะไรไปคนในครอบครัวก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือ

ลองมาดูตัวอย่าง ก่อนตัดสินใจทางเลือกข้างต้นกัน 


20210302-a-1.jpg

สมมุติว่า เวนคืนกรมธรรม์ ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 3 ซึ่งกรมธรรม์แสดงมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 63 บาท หมายความว่า เงินเอาประกันภัย 1,000 บาท กรมธรรม์นี้มีมูลค่าเวนคืน 63 บาท ดังนั้น หากทำประกันชีวิตโดยมีทุนหรือจำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 63,000 บาท โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันจำนวน 63,000 บาทก็จบกันไป

คุ้มหรือไม่คุ้มที่จะเวนคืนกรมธรรม์ ?

1. โดยทั่วไป ในช่วงปีแรก ๆ ของการทำประกัน มูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นจะยังไม่มากนัก หากเวนคืนในช่วงนี้ เงินที่ได้รับจากการเวนคืนมักน้อยกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป เมื่อเทียบกับการถือกรมธรรม์จนครบสัญญา 

2. ซึ่งเงินที่ได้รับจากประกันมักสูงกว่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป นอกจากนี้ หากมีการทำสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตเอาไว้ เช่น ความคุ้มครองสุขภาพ ความคุ้มครองทุพพลภาพ เมื่อเวนคืนประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลัก ความคุ้มครองในสัญญาแนบท้ายเหล่านี้ก็จะสิ้นสุดลงเช่นกัน

3. แต่จริงๆ แล้ว ผู้ทำประกันก็ยังมีทางเลือกที่ได้รับเงินก้อนจากประกัน และยังมีความคุ้มครองชีวิตอยู่ด้วย นั่นคือ การกู้กรมธรรม์ โดยทั่วไปกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่มีอยู่ ซึ่งบริษัทฯ จะคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันอีกประมาณ 2% ต่อปี วิธีคำนวณง่ายๆ หากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันของกรมธรรม์นั้นอยู่ที่ 4% ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะประมาณ 6% ต่อปี
ข้อดีของการใช้วิธีกู้กรมธรรม์ คือ ผู้ทำประกันยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม ซึ่งกรมธรรม์จะสิ้นสุดลงหรือความคุ้มครองจะหมดไปก็ต่อเมื่อเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างชำระมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าเวนคืนในขณะนั้น


20210302-a-2.jpg
เครดิตรูป : www.ddproperty.com

เพราะฉะนั้นหากเริ่มรู้สึกว่าส่งเบี้ยประกันไม่ไหวแล้ว ก็ลองติดต่อไปที่บริษัทประกัน ปรึกษา ขอคำแนะนำเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ถูกต้องสำหรับตัดสินใจกัน ก่อนจะทิ้งกรมธรรม์แบบน่าเสียดาย

ติดต่อโฆษณา!