22 มีนาคม 2564
33,774

"ทำงานประจำ" เสริม "ขายออนไลน์" ยื่นภาษียังไงดี ?

"ทำงานประจำ" เสริม "ขายออนไลน์" ยื่นภาษียังไงดี ?
Highlight

ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ 
มนุษย์เงินเดือนหันมาขายของออนไลน์ เพิ่มสภาพคล่องกันมากขึ้น
เชื่อว่าเหล่าคนขยันหลายคนที่ไม่รู้ว่าจัดการเรื่องรายได้ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีว่าต้องทำอย่างไร ?


โดยปกติทำงานประจำก็ต้องยื่นภาษีหากต้องเสียภาษี ก็เป็นการเสียภาษีในรูปแบบเงินได้บุคคลธรรมดา 

และเมื่อมีรายได้เพิ่มมาจากการ “ขายของออนไลน์” ก็เป็นการเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดาเช่นกัน ถือว่าเป็นรายได้ของบุคคลคนเดียวกัน 
แต่แตกต่างกันที่ประเภทของรายได้ !!

1. หากมีรายได้หลายทางแล้วล่ะก็ คำถามแรกที่เราต้องถามตัวเอง คือ รายได้แต่ละประเภทของเรานั้น ถือเป็นเงินได้ประเภทไหนตามประมวลรัษฏากรบ้าง ปัจจุบันนี้ เงินได้ทางกฎหมายถูกแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฏากร ตามนี้ 

▪️  เงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน โบนัส ต่างๆ
▪️  เงินได้ประเภทที่ 2 คือ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า งานที่รับจ้างทำตามสัญญาจ้างเป็นครั้งคราวไป
▪️  เงินได้ประเภทที่ 3 คือ เงินได้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
▪️  เงินได้ประเภทที่ 4 คือ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรต่างๆ
▪️  เงินได้ประเภทที่ 5 คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
▪️  เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
▪️  เงินได้ประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
▪️  เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้อื่นๆที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 7 ประเภท

2. รายได้จากเงินเดือน คือรายได้ประเภทที่ 1 ส่วนรายได้จากการขายของออนไลน์ คือเป็นรายได้ประเภทที่ 8 เป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีจึงต้องยื่นภาษี

3. มนุษย์เงินเดือนที่ทำการขายของออนไลน์ จะเสียภาษีในรูปแบบ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” 

4. การคำนวณภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดาของ  “มนุษย์เงินเดือนที่ทำการขายของออนไลน์” มี 2 วิธี เป็นทางเลือก คือ

วิธีที่ 1️ คำนวณภาษีแบบขั้นบันได
หลักการ : (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

สำหรับพนักงานประจำที่ขายของออนไลน์ไปด้วย ถือว่ามีรายได้ 2 ประเภท แต่ละประเภทนำมาหักค่าใช้จ่ายต่างกัน

▪️  รายได้จากงานประจำ (ประเภทที่ 1) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
▪️  รายได้จากขายของออนไลน์ (ประเภทที่ 8) มี 2 วิธี

วิธีแรก หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ใช้ได้ในกรณีที่ขายของออนไลน์แบบซื้อของมาขาย
วิธีที่สอง หักค่าใช้จ่ายตามจริง ใช้ในกรณีที่ผลิตสินค้าเอง แต่วิธีนี้จะต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเก็บเอกสารอย่างรอบคอบ

ตัวอย่างการคำนวณหักค่าใช้จ่าย  
เงินเดือน : 30,000/เดือน รายได้ต่อปี 30,000×12 = 360,000 หักค่าใช้จ่าย 360,000-100,000 = 260,000 บาท     
เงินจากการขายของออนไลน์: 70,000/เดือน รายได้ต่อปี 70,000×12 = 840,000 หักค่าใช้จ่าย 60% 840,000-504,000 = 336,000 บาท

หลังจากนั้นก็ให้นำเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน แล้วค่อยนำไปหักค่าลดหย่อน (260,000+336,000 = 596,000 บาท) ให้นำ (596,000 – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย!! 

วิธีที่ 2️ คำนวณภาษีแบบเหมา
เงินได้ x 0.5% จะสามารถใช้วิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาทต่อปี

สำหรับใครที่มีรายที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 1 ล้านบาท (เข้าเกณฑ์วิธีที่ 2) ต้องคำนวณดูทั้ง วิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 ควบคู่กันไป วิธีไหนได้ภาษีที่ต้องจ่ายมากกว่า ก็ให้ใช้วิธีนั้นในการคำนวณ   

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่มีเงินได้หลายทาง ก็คือ
▪️  การตรวจสอบข้อมูลเงินได้และค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ถูกต้องเสียก่อนที่จะคำนวณภาษีนั่นเองครับ 
▪️  และถ้าเรามีเงินได้อื่นนอกจากเงินเดือน เราต้องใช้แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90  ในการยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่ แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 

ถ้ายังไม่แน่ใจ มีข้อสงสัย 
คลิกทางนี้เลย : https://rd.go.th/272.html

ติดต่อโฆษณา!