5 เรื่องต้องรู้ ก่อนลงทุน “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์”
Highlight
หลายๆ คนอาจจะได้ยินคำว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" [Perpetual bond]
แต่จะรักกันนิรันดร์ ตามความคิดเราหรือเปล่า ?
ทันข่าวToday ชวนมารู้จัก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ว่าจริงๆแล้วเราเหมาะเป็นเนื้อคู่หรือเปล่า
1. หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ คืออะไร ?
ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. อธิบายว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual subordinated bond) หรือที่เราเรียกติดปากว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" นั้นอธิบายง่ายๆ ก็คือ
▪ ส่วนแรกของชื่อ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ก็คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้หลังจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับคืนทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงินก่อน ผู้ถือหุ้นสามัญ
▪ ส่วนท้ายของชื่อมีลักษณะคล้ายทุน ก็คือ สิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น ด้วยลักษณะพิเศษแบบนี้เองจึงทำให้หุ้นกู้นี้ถูกเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์บ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพบ้าง
ดังนั้น พูดได้ว่า เส้นทางชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออก ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม‼️
“เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้” ผู้ออกสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าบริษัทจะมีกำไรก็ตาม โดยสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้แต่ระหว่างนั้นจะห้ามจ่ายปันผลไม่ว่าจะเป็นเงินหรือหุ้นปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แม้สุดท้ายผู้ออกอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ค้างไว้ตามที่กำหนดก็ตาม
2. ถ้าไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไปเป็นนิรันดร์ ..มีทางเลือกไหม ?
ไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นๆ ว่าคนยังสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับได้
3. ทำไมหลายบริษัท (ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ และกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์) เสนอรูปแบบการลงทุนนี้ ?
สาเหตุที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ออก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” กันเป็นจำนวนมาก เพราะ
▪ ช่วง 5 ปีแรกจะไม่ถูกนับเป็นหนี้ จะไม่กระทบต่อ อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัท
▪ สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยที่อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน
บริษัทต่างๆ จึงอาศัยจังหวะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่มีความเสี่ยงและซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาซื้อ
แล้วทำไม ไม่ออกเป็นหุ้นเพิ่มทุน แทนการออก หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์?
เหตุผลสำคัญที่ทำไม หลาย ๆ บริษัทเลือกการออก หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แทน การเพิ่มทุน เนื่องจาก การเพิ่มทุนนั้นจะทำให้ ราคาหุ้นของบริษัทเองนั้นมีการ Dilution (หรือการลดลงของราคาหุ้น อันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหุ้น)
ซึ่งการเพิ่มทุนนั้นจะทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นในบริษัท ต้อง ควักเงินตัวเองมาจ่าย เพื่อไม่ให้หุ้นของตัวเอง Dilution ลง และ นักลงทุนที่ไม่เคยซื้อหุ้นบริษัทมาก่อน หรือ ถือหุ้นบริษัทมาก่อนระดมทุนได้ (ยกเว้นการออกทำ PP)
แต่ในทางตรงกันข้าม การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ นั้นจะสามารถเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนของ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ได้แบบไม่มีข้อจำกัด และ เจ้าของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นเดิมก็ไม่เสียสิทธิในการออกเสีย หรือ อำนาจควบคุมบริษัทไปด้วย... ชัดเจนเลยทีนี้
4. หุ้นกู้นี้ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default)
พูดให้เข้าใจ ก็คือ ถ้าผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย และเมื่อไม่ผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
5. เช็กลิสต์ 5 ข้อ เพื่อสำรวจตัวเองว่าเหมาะกับการลงทุน “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” มั้ย ?
1. ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนาม รับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ
2. เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก
3. ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย
4. รู้เครดิตเรตติ้ง
5. รู้วิธีขายคืน
"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" ในมุมของบริษัทผู้ออกถือเป็นประโยชน์ เพื่อใช้สำหรับการระดมทุน
โดยไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น
ในมุมของนักลงทุนถือว่ามี “ความเสี่ยง” ไม่น้อย..แม้ผลตอบแทนจะสูงกว่าหุ้นกู้ประเภทอื่นก็ตาม อาจจะไม่ใช่ทางสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ต้องการหมุนเงินลงทุนเพราะอาจเปลี่ยนรักนิรันดร์ เป็นรักเอยแทนได้ง่ายๆ
สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนจะลงทุนกับอะไรสักอย่างควรจะต้องมองให้ขาดว่า บริษัท หรือ ธุรกิจที่เราจะลงทุนด้วยมี วัตถุประสงค์ ในการระดมทุนยังไง