ก่อนซื้อหุ้นกู้ต้องดูอะไร?
Highlight
ในภาวะความไม่แน่นอนสูง หลายคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงสูงต่างมองหาสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง - ต่ำทำให้ “ตราสารหนี้” ซึ่งมีผลตอบแทนระดับนึง และมีสภาพคล่องสูง แต่ผันผวนน้อยกว่าหุ้น กลายเป็นทางเลือกที่น่ามอง
เน็ตฟลิกซ์ #Netflix ที่ใครๆ ก็รู้จัก ก็ระดมเงินทุนมูลค่ามหาศาลเพื่อภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงผ่าน “ตลาดหุ้นกู้” เช่นกัน แถม หุ้นกู้ของเน็ตฟลิกซ์อยู่ในหมวดหมู่ Junk Bond อีกต่างหาก เพราะสภาวะการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างสูงและกระแสเงินสดของเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่แข็งแรงช่วงนั้น กลับได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากนักลงทุน
ทันข่าวToday เลยจะชวนมาทบทวน สำหรับมือใหม่ ใครที่สนใจลงทุน “ตราสารหนี้” ว่าต้องเริ่มจากอะไรก่อน
มาเริ่มกันที่ ...
1. มองหา “อันดับเครดิต” (Credit Rating)
ประกอบด้วย ตัวอักษรภาษาอังกฤษ และเครื่องหมาย +| -
เครื่องหมายนี้ คือ ผลลัพธ์จากการประเมินโดยบริษัทจัดอันดับซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 3 เจ้ายักษ์ใหญ่คือ
- Moody’s
- Standard & Poor’s
- Fitch
หลักในพิจารณานั้น คือ ดูจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ โดยสูงสุดคือ Aaa และ AAA และต่ำสุดคือ D หรือหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้
การจัดเกรดดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถพิจารณาได้ว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้น แลกกับความเสี่ยงนั้น ประมาณไหน
2. Investment Grade และ Speculative Grade จุดตัดอยู่ที่ไหน ?
หุ้นกู้จากอันดับเครดิตเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มที่เหมาะต่อการลงทุน (Investment Grade) คือหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ Baa3 หรือ BBB- ขึ้นไป ความเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ
- กลุ่มที่เหมาะต่อการเก็งกำไร (Speculative Grade) คือกลุ่มหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง หรือที่คุ้นหูว่า หุ้นกู้ขยะ (Junk Bonds) ที่ผลตอบแทนก็แลกมากับความเสี่ยง ตรงๆ ชัดๆ กันเลย
3. คำศัพท์หุ้นกู้ที่ต้องเจอ
เช่น
- ราคาที่ตราไว้ (Face Value)
- อัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate)
- วันไถ่ถอนเมื่อครบกำหนด (Maturity Date)
ปัจจัยที่พูดมานี้ จะส่งผลต่อราคาซื้อขายและผลตอบแทนสุทธิของการลงทุนในหุ้นกู้ เพราะราคาซื้อขายของหุ้นกู้นั้นจะผันผวนตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด
4. การคำนวณผลตอบแทนของหุ้นกู้
หลายคนเคยได้ยิน “ราคาซื้อขายของหุ้นกู้นั้นจะผันผวนตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด”
ทำไมต้องเป็นแบบนั้น?
สาเหตุของการปรับตัวที่สวนทางกันนั้นมาจาก การคำนวณผลตอบแทนของหุ้นกู้ซึ่งอิงจากการคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันตามแนวคิดค่าของเงินตามเวลา
ยกตัวอย่างเช่น
หุ้นกู้ของบริษัท XYZ อายุ 3 ปี มูลค่าที่ตราไว้ 1,000 บาทและจะจ่ายอัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
เราสามารถมองไปในอนาคตได้ทันทีว่า
ปลายปีที่ 1 เราจะได้รับดอกเบี้ย 30 บาท
ปลายปีที่ 2 เราจะได้รับดอกเบี้ย 30 บาท
และในปีสุดท้ายเราจะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 1,030 บาท
สมมติว่าเรามีผลตอบแทนที่คาดหวัง ณ ระดับความเสี่ยงที่ลงทุนในหุ้นกู้ MMT เท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ที่เราจะซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวจะเท่ากับ 945.53 บาท
(มูลค่ายุติธรรมของหุ้นกู้คือผลรวมของกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตคิดลดด้วยผลตอบแทนที่คาดหวัง)
5. การจ่ายผลตอบแทนของหุ้นกู้
หลัก ๆ มีอยู่สองแบบ คือ
1) ดอกเบี้ย
คล้ายการฝากเงินกับธนาคาร ผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยตามงวดที่กำหนด เช่น ทุก ๆ 3 เดือน ทุก ๆ 6 เดือน โดยดอกเบี้ยที่จ่ายนั้นมีทั้ง
- แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) คือกำหนดไว้ตายตัวเลยว่าจะจ่ายเท่าไหร่ เช่น 2.8% 3.5% 5% พอถึงเวลาก็จะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้
- แบบคืออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) จะคล้ายกับเวลาที่เราไปกู้บ้าน แล้วธนาคารบอกว่าจะคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR – xx% (แปลว่าถ้าดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เราก็จะมีโอกาสได้ดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง เราก็จะได้ดอกเบี้ยน้อยลงด้วยเช่นกัน)
2) ส่วนลด (Zero-coupon) ผู้ซื้อหุ้นกู้จะไม่ได้รับดอกเบี้ยแต่จะได้ส่วนลดจากราคาหน้าตั๋วแทน
เช่น หุ้นกู้บริษัท A เขียนราคาหน้าตั๋ว 1,000 บาท มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน 4 ปี แต่เวลาบริษัท A นำหุ้นกู้นี้มาขายให้เรา เขาอาจขายให้เราในราคาเพียง 800 บาทเท่านั้น เท่ากับเราได้ส่วนลด 200 บาท เป็นผลตอบแทน ถ้าเราถือจนครบกำหนดแล้วนำหุ้นกู้นี้ไปขึ้นเงิน เราจะได้เงินเต็มจำนวนที่เขียนไว้บนหน้าตั๋วคือ 1,000 บาทนั่นเอง
จุดเด่นของการลงทุนในหุ้นกู้คือหากเราถือจนครบกำหนดไถ่ถอนและบริษัทไม่ผิดนัดชำระหนี้ เราจะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ YTM ไม่ว่าตลาดจะผันผวนเพียงใด
YTM (Yield to Maturity) คือ ผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดไถ่ถอน
ย้ำกันทิ้งท้ายสักนิดว่า "การลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง อย่าลืมศึกษาและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุน" ประโยคสุดคลาสสิกที่ใช้ได้ตลอดกาล
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว