23 มิถุนายน 2564
1,856

สรุปผลประชุม กนง. หลังแบงก์ชาติหั่นเป้า GDP ปีนี้เหลือ 1.8%

สรุปผลประชุม กนง. หลังแบงก์ชาติหั่นเป้า GDP ปีนี้เหลือ 1.8%
Highlight

ท่ามกลางการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจไทยยังโตได้แค่ไหนในปีนี้ เพราะทั้งกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอย ความเชื่อมั่น ตลอดจนการเปิดประเทศ อาจได้รับผลกระทบทั้งหมด วันนี้ #ทันข่าวลงทุน รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ ขอหยิบเอามุมมองธนาคารแห่งประเทศไทยที่เพิ่งประกาศ มาให้ติดตาม

ประเด็นหลัก โควิด-19 ทำฟื้นช้า และไม่ทั่วถึง

ความเป็นจริงในปีนี้ แบงก์ชาติเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ 3% ซึ่งถือว่าต่ำแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ทำให้การฟื้นตัวช้ากว่าคนอื่น แต่พอมีการระบาดรอบล่าสุด ทำให้การฟื้นตัวดังกลาวช้าลงไปอีก โดยแบงก์ชาติมองว่าการระบาดโควิด-19ระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น เทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าดอกเบี้ยนโยบาย เราคงไว้ที่ระดับต่ำตามเดิม เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวให้มากที่สุด


นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังเน้นการเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่า


ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 ในปีนี้ ลดลงจาก 3% ที่เคยคาดไว้ ส่วนปีหน้าจะโตได้ 3.9% ก็ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.7% เช่นกัน โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3

ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า


มุมบวกยังพอมีให้เห็น คือเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุด และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่แบงก์ชาติก็ยังย้ำว่าโอกาสที่ GDP จะโตน้อยกว่าที่คาดก็ยังมี โดยเฉพาะจากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ


และปิดท้ายที่ปัจจัยที่แบงก์ชาติกำลังติดตาม ก็จะมีเรื่องการกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว และเน้นย้ำว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!