06 กรกฎาคม 2564
2,897

วางแผนการเงิน รับมือวิกฤติโควิด-19

วางแผนการเงิน รับมือวิกฤติโควิด-19 วิกฤติโควิด-19 รอบนี้ กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากทีเดียว โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ทำธุรกิจอาจไม่คล่อง เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่อาจตกงานหรือมีรายได้ลดลง ซึ่งการจัดการการเงินในช่วงนี้ อาจทำได้อย่างยากลำบาก วันนี้เรารวบรวมหลักการวางแผนการเงินมาฝากกันว่าเราพอจะจัดการอะไรได้บ้าง คลิกอ่าน #ทันข่าวลงทุน รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ อย่างน้อยจะได้ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

2021-a-01.jpg

5 ขั้นตอน เอาตัวรอดในภาวะวิกฤติ COVID-19
 
1. สำรวจสินทรัพย์ เงินสำรองฉุกเฉิน
สำรวจสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด เพื่อดูว่าเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง และอยู่ที่ใด เช่น เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ประกันชีวิต บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ของใช้ส่วนตัว เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ เช่น กองทุนรวม หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ฯลฯ แบ่งกลุ่มออกเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและไม่มีสภาพคล่อง เพื่อประเมินว่าสินทรัพย์ใดที่พอจะแปลงเป็นสภาพคล่องหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว โดยใช้มูลค่าสินทรัพย์ในปัจจุบัน หากเราต้องการแปลงสภาพเป็นเงินในทันที เพื่อดูว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างน้อยกี่เดือนจากเงินที่มี ในกรณีที่ไม่มีรายได้เข้ามา
 
ในกรณีที่มีเงินสดสำรองไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในระยะเวลา 3-6 เดือน ลองหาหนทางเพิ่มกระแสเงินสด เช่น รีบขอคืนภาษีเงินได้ หรือขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นและไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตออกไปบ้าง
 
2. จัดการเรื่องหนี้สินไม่ให้เป็นภาระ
บริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสม สรุปหนี้สินทั้งหมดที่เรามี ไม่ว่าจะหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต มีมูลค่าคงเหลืออยู่เท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าใด และมีภาระที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร
 
ในกรณีที่เรามีรายได้ลดลง หรือขาดรายได้ เรายังสามารถผ่อนชำระไหวหรือไม่ วางแผนการชำระหนี้ให้เรียบร้อย เพราะการไม่จ่ายหรือจ่ายช้าจะมีผลกระทบต่อเครดิตในอนาคต
 
หากประเมินแล้วไม่สามารถผ่อนชำระได้จริง ๆ ควรรีบติดต่อ พูดคุยกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ หาทางออกร่วมกัน เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่องผ่านสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ไปให้ได้ ทำให้เงินออมที่มีลดลงช้าที่สุด โดยเตรียมหลักฐานไปยืนยันให้เจ้าหนี้เห็นว่ารายรับเราลดลงจนไม่สามารถผ่อนชำระได้จริง ๆ
 
ยิ่งในช่วงนี้หากเรามีปัญหารายได้ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 หลาย ๆ สถาบันการเงินมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงินกู้ พักชำระหนี้ชั่วคราว พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ฯลฯ
 
3. ทำงบประมาณควบคุมการใช้จ่าย
วางแผนการเงินด้วยการทำงบประมาณรายได้และค่าใช้จ่ายในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า กำหนดสมมติฐานว่าหากสถานการณ์ยังอยู่แบบนี้ไปอีก 3-6 เดือน หากต้องออกจากงานแล้วขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง ลองประเมินรายได้ และนำไปเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าสมาชิกฟิตเนส ฯลฯ หักลบแล้วมีกระแสเงินสดสุทธิเท่าไร เพียงพอหรือไม่
 
หากกระแสเงินสดติดลบก็ต้องมาดูว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง ค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดทิ้งออกไปได้ เพื่อให้มีส่วนต่างหรือกระแสเงินสดกลับมาทุกเดือน
 
ควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผน และอย่าลืมพูดคุยกับคนในครอบครัวให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่ามีส่วนใดช่วยกันได้ ค่าใช้จ่ายส่วนใดลดได้ก็ขอให้ลด เพื่อลดกระแสเงินสดจ่ายออกให้ต่ำลง  เพราะไม่มีใครรู้ว่าสภาวะนี้จะอยู่นานขนาดไหน
 
4. ใช้จ่ายอย่างมีสติ หยุดฟุ่มเฟือย ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ถ้าสิ่งที่กำลังจะซื้อไม่จำเป็นจริง ๆ ณ เวลานี้ แนะนำอย่าเพิ่งรีบซื้อ ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยต่าง ๆ งดกิจกรรมการท่องเที่ยว สังสรรค์หรือช้อปปิ้ง ให้แต่ละเดือนเหลือเพียงรายจ่ายที่จำเป็น จะได้เหลือเงินเพิ่มมากขึ้น ในช่วงนี้อย่าพยายามทำอะไรที่จะต้องมีภาระหนี้สินตามมา ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อะไรที่ชะลอได้หรือเลื่อนได้ แนะนำให้เลื่อนออกไปก่อน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพราะจะสร้างภาระในอนาคตในสภาวะที่รายได้ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย
 
5. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
ใช้โอกาสนี้ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะและความสามารถให้กับตัวเอง รวมไปถึงหาช่องทางในการสร้างรายได้เสริม
 
ปัจจุบันมีการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีให้คนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาหาความรู้จำนวนมาก บางแห่งเมื่อเรียนจบแล้ว เรายังได้รับใบประกาศนียบัตรอีกด้วย เมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ คนที่มีความรู้ความสามารถก็จะได้รับโอกาสที่มากกว่า

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว
ติดต่อโฆษณา!