07 กรกฎาคม 2564
5,719

คนไทยหนี้ท่วมหัว หนี้ครัวเรือนทะลุ 90% ของ GDP แล้ว

คนไทยหนี้ท่วมหัว หนี้ครัวเรือนทะลุ 90% ของ GDP แล้ว

ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนถือเป็นปัญหาใหญ่ของไทยมาระยะหนึ่งแล้ว ยิ่งพอเกิดวิกฤติโควิด-19 หลายคนตกงาน หรือบางคนขาดรายได้ ขณะที่รายจ่ายยังคงสูง เช่นเดียวกับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจากภาระหนี้เดิม ยิ่งซ้ำเติมให้หนี้ของคนไทยเพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง คลิกอ่าน #ทันข่าวลงทุน รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

 

ตัวเลขหนี้ล่าสุดของคนไทย จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 สะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

 

โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นในไตรมาส 1/2564 มาจากหนี้ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลง จนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้

 

จากผลสำรวจภาวะหนี้สินของประชาชนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงมากจากผลของโควิด-19 ระลอกที่สาม และลูกหนี้ห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือน มิ.ย. ส่วนใหญ่ราว 79.5% ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี) ทั้งนี้ แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโตสวนทิศทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย

 

แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้น ๆ ของไทยที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข ซึ่งสำหรับในปีนี้ น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และ/หรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย (เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด) ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

 

รวมไปถึงการวางแนวทางในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ และดูแลให้การก่อหนี้ของภาคประชาชน สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมตามภาพ ว่าผู้ตอบแบบสอบถามตอนนี้ กำลังมีหนี้อะไรกันบ้าง ลองติดตามดูครับ

20210707-a-01.jpg

ติดต่อโฆษณา!