GPSC เข้าลงทุนพลังงานลมในไต้หวัน ดีลนี้น่าสนใจอย่างไร ?
HighLight
นักลงทุนคงได้ยินข่าวการที่บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าลงทุนในโปรเจกต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่อินเดีย ผ่านการเข้าซื้อหุ้นของ Avaada กันมาบ้างแล้ว แต่ความจริง GPSC ยังมีอีกโปรเจกต์ที่ประกาศออกมาพร้อมกัน และน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การเข้าลงทุนพลังงานลมในไต้หวันด้วย ซึ่ง #ทันข่าวลงทุน รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ จะมาเจาะลึกดีลนี้ ว่าน่าสนใจแค่ไหน
ดีลเป็นอย่างไร ?
ในดีลเข้าลงทุนพลังงานลมในไต้หวันของ GPSC นี้ ได้ดำเนินการผ่าน บริษัท GRSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC โดยถือหุ้น 100% ซึ่ง GRSC จะเข้าร่วมทุนในบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners หรือ CIP ในนามของกองทุน Copenhagen Infrastructure II K/S (CI-II) และ Copenhagen Infrastructure III K/S (CI-III) เพื่อร่วมมือในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao ในไต้หวัน โดย GRSC จะเข้าถือหุ้น 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี กับ บริษัท Taiwan Power Company ซึ่งเมื่อแปลงตามสัดส่วนการถือหุ้น ก็จะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีก 149 เมกะวัตต์
ซึ่งโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาดกำลังการผลิต 595 เมกะวัตต์ดังกล่าว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากชายฝั่งมณฑลชางฮัว 13-15 กิโลเมตร
ทำไมต้องพลังงานลม ทำไมต้องไต้หวัน ?
ในเรื่องนี้ นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลว่า เพราะไต้หวันมีศักยภาพ เช่นเดียวกับ partner อย่าง CIP ก็มีเทคโนโลยีและมีความเชี่ยวชาญ การเข้าไปร่วมทุนดังกล่าว นอกจากจะสร้างผลกำไรแล้ว ยังน่าจะทำให้ GPSC ขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นได้ด้วย
“ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชั้นนำของโลก รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดในทุกประเภท จะเห็นจากอัตราการใช้พลังงานทางเลือกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กลุ่ม GPSC ตัดสินใจเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าว และพร้อมที่จะขยายการลงทุนต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้อีกทางหนึ่ง การเข้าร่วมทุนครั้งนี้ ถือเป็นโครงการแรกที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งกับ CIP ซึ่งมีประสบการณ์สูงในด้านการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เปิดโอกาสให้บริษัทฯ ได้ขยายความเชี่ยวชาญในด้านองค์ความรู้การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงนวัตกรรมกังหันลมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า และป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย” CEO ของ GPSC กล่าว
โปรเจกต์มีแผนอย่างไร ?
แผนการติดตั้งของโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2565 จำนวน 96 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 คาดจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2566 จำนวน 499 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA กับบริษัท Taiwan Power Company เป็นระยะเวลา 20 ปี นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ สามารถจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมได้มากกว่า 600,000 ครัวเรือน โดยทั้งโครงการจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567
สำหรับการเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ GPSC จะมีกำลังการผลิตคิดเป็น 149 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25%
เชื่อมต่อเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของ GPSC
การได้ COD จากพลังงานลมไต้หวันเข้ามาเพิ่ม ทำให้เป้าหมายด้านการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของ GPSC รุดหน้ามากขึ้น โดยส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ และกระจายแหล่งผลิตพลังงานทางเลือกให้มีความหลากหลาย พร้อมกันนี้ ยังเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในต่างประเทศ ที่จะสามารถสร้างโอกาสและขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ของธุรกิจในการเติบโตด้านพลังงานทดแทนในกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป
โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะต้องดำเนินการยื่นขออนุมัติการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Approval) และขออนุมัติจาก Ministry of Economic Affairs ของไต้หวันต่อไป โดยหลังจากการซื้อขายหุ้น CI-II และ C-III ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการ CFXD
ซึ่งนักวิเคราะห์จาก บล. FSS international ก็มองว่าโปรเจกต์นี้ น่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับ GPSC และโครงการลมไต้หวัน เฉพาะโครงการนี้ น่าจะทำให้ราคาเหมาะสมของ GPSC ขยับขึ้นได้ราว 3 บาท และให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 112 บาท
ข้อมูลเกี่ยวกับ GPSC
GPSC ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) ในสัดส่วน 44.45%* บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 20.78% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) 10.00% และนักลงทุนทั่วไป 24.77% (*PTT และ SMH (บริษัทย่อยที่ PTT ถึอหุ้นทั้งหมด) ถือหุ้น GPSC จำนวน 42.54% และ 1.91% ตามลำดับ)
GPSC แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอื่นๆ โดยปัจจุบัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติแล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) รวมประมาณ 6,761 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 2,946 ตันต่อชั่วโมง น้ำเย็นรวมประมาณ 15,400 ตันความเย็น และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมประมาณ 7,372 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว