ส่อง "ค่าสินสอด" 5 ประเทศ ที่ไหนให้เท่าไหร่กันบ้าง?

หลังจากที่มีโพสต์ ไม่มีสกิล = ฟรี ในเรื่องของค่าสินสอด ก็กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนสนั่นโซเชียลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงมีดาราสาวออกมา Call out ให้ยกเลิกระบบสินสอดอีกด้วย งานนี้ เลยมีประเด็นถกเถียงกันยกใหญ่ ว่า ปัจจุบัน ยังคงต้องมีการจ่ายค่าสินสอดอยู่หรือไม่
สำหรับประเทศไทยเรา เรื่องธรรมเนียมค่าสินสอด ถูกสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แต่ในต่างประเทศ อย่างทางฝั่งยุโรป ไม่มีธรรมเนียมเรื่องค่าสินสอดทองหมั้น แต่จะมีวัฒนธรรม Dowry คือทรัพย์สินที่พ่อแม่ฝ่ายหญิง มอบให้ลูกสาว มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และในยุคกลาง รวมถึง ประเทศทางเอเชีย อย่าง จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็เริ่มหมดค่านิยมตรงนี้ไป
ส่วนในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก และ ตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีสินสอดอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งก็มีทั้งวัฒนธรรมสินสอดเจ้าสาวให้เจ้าบ่าว และ เจ้าบ่าวให้เจ้าสาว
และวันนี้ ทันข่าว Today ได้ทำการยกตัวอย่างมูลค่าสินสอด จาก 5 ประเทศ มาไว้ให้แล้ว แต่ละประเทศมีธรรมเนียมสินสอดอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย !
1. จีน
จากเดิมที่ธรรมเนียมการมอบสินสอดให้ฝ่ายหญิง เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานของจีน ตอนนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ คือปัญหาขาดแคลนเจ้าสาว เพราะเงินค่าสินสอด มีการตั้งมูลค่าไว้พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในชนบท
ยกตัวอย่าง หมู่บ้านต่านหลิว ของมณฑลหูเป่ย ที่ตั้งค่าสินสอดไว้สูงว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของคนในหมู่บ้านสูงถึง 5 เท่า อยู่ที่ 3.8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท
สินสอดเจ้าสาวในหลายมณฑลจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994-2013
เสฉวน +272% = 142,000 บาท
เจียงซู +143% = 947,000 บาท
เหลียวหนิง +550% = 1,184,000 บาท
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทางรัฐบาลท้องถิ่นของหมู่บ้านต่านหลิว มณฑลหูเป่ย และอีกหลายหมู่บ้าน ที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน จึงออกกฎข้อบังคับใหม่ จำกัดค่าสินสอด ให้ไม่เกิน 9.5 หมื่นบาท หากเกินกว่านี้ จะถือว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์
ทางการเมืองไถเฉียน มณฑลเหอหนาน ทำการออกคู่มือการแต่งงาน แนะนำว่าผู้หญิงไม่ควรเรียกว่าสินสอดเกิน 60,000 หยวน หรือ 310,000 บาท และการจัดงานแต่งก็ไม่ควรหรูหราฟู่ฟ่าเกินไป
2. ญี่ปุ่น
เงินค่าสินสอดตามธรรมเนียมประเทศญี่ปุ่น มี 2 ประเภท คือ พิธีสินสอดแบบเป็นทางการ และ พิธีสินสอดแบบย่อ
สินสอดแบบเป็นทางการ คือ การที่คนกลางหรือแม่สื่อพ่อสื่อนำสินสอดทองหมั้นทั้ง 9 ชิ้น ส่งให้ครอบครัวทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันรูปแบบนี้มีลดลงแล้ว มีปฏิบัติกันในบางพื้นที่
โดย เครื่องสินสอด 9 ชิ้น ได้แก่
- นางะโนะชิ แบบยาว หมายถึงอายุยืน
- คิงโปะอุดึทสึมิ กระเป๋าเอาไว้ใส่เงินสินสอด
- คะทสึโอะบุชิ ปลาคะทสึโอะบุชิ หมายถึงความมีอำนาจของฝ่ายชาย
- สุรุเมะ ปลาหมึกตามแห้ง สุรุเมะ หมายถึงความสุขชั่วกัลปาวสาน
- โคงบุ สาหร่ายโคงบุ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของลูกหลาน
- โทะโมะชิระงะ ตุ๊กตายายแก่ตาแก่ผมหงอก หมายถึง เป็นสามีภรรยากันจนแก่หัวหงอกหรือถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรนั่นเอง
- สุเอะฮิโระ พัดกระดาษ-สุเอะฮิโระ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรื่องแผ่กระจายไปทั่วสารทิศ
- ยานะงิดารุ ถังเหล้ายานะงิดารุ หมายถึง ความกลมเกลียวปรองดองกันในครอบครัว
สินสอดพิธีแบบย่อ คือ ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายจะไปจัดพิธีกันที่บ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือที่โรงแรม หรือ ภัตราคาร และทำพิธีส่งมอบสินสอดทองหมั้น เป็นพวกของที่ระลึก แหวนแต่งงาน
ในสมัยก่อน ฝ่ายชายจะสู่ขอโดยการส่งกิโมโนเป็นของขวัญให้ฝ่ายหญิง ส่วนมูลค่าสินสอด ไม่มีกำหนดตายตัว ให้ตามกำลังฐานะของฝ่ายชาย ซึ่งฝ่ายหญิงไม่ควรคาดหวังหรือขอเพิ่ม ให้ฝ่ายชายกำหนด โดยส่วนใหญ่ มูลค่าของเงินสินสอดที่นิยมคือ 1 ล้าน - 2 ล้านเยน หรือประมาณ 300,000 - 600,000 บาท หรืออาจใช้ตัวเลขคี่ เช่น 5 แสนเยน, 7 แสนเยน หรือ 8 แสนเยน ซึ่งเป็นตัวเลขแห่งความเจริญรุ่งเรือง
3. อินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการแต่งงานแบบฝ่ายหญิงเป็นผู้เลือก และเป็นฝ่ายไปสู่ขอฝ่ายชาย ที่ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม สมฐานะกัน อยู่ในวรรณะเดียวกัน หลังจากแต่งงาน ผู้หญิงเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชาย พร้อมปรณนิบัติทุกคนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สามี พ่อแม่สามีญาติของสามี ต้องตื่นนอนก่อน และ เข้านอนทีหลัง ต้องอดทนทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตคู่อยู่รอด ส่วนฝ่ายชาย มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดูแลฝ่ายหญิงไปตลอด
คนอินเดียจำนวนมากยังคงเคร่งครัดในวัฒนธรรมสินสอด ที่ฝ่ายหญิงที่หาไปให้ เหมือนเป็นการซื้อใจคู่ครอง และครอบครัวฝ่ายชายให้ดูแลลูกสาวอย่างดี โดยสินสอดนั้นคือทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เงิน ทอง เพชรนิลจินดา รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้แก่ครอบครัวหรือพ่อแม่ฝ่ายชาย บางครอบครัว มีการจ่ายค่าสินสอดโดยการชั่งน้ำหนักตัวเจ้าบ่าวโดยการใช้ทองคำ โดยค่าสินสอดจะต้องมากกว่าหรือเท่ากับน้ำหนักตัวเจ้าบ่าว
บ้านไหนที่ลูกสาวอายุเยอะแล้ว ฝ่ายชายก็จะเรียกค่าสินสอดที่สูงขึ้น จึงมีการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย ๆ และด้วยค่าสินสอดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นปัญหาใหญ่ในอินเดีย ที่ฝ่ายชายเรียกร้องสินสอดมากเกินไป ถึงแม้จะเป็นเรื่องผิกกฎหมาย ตั้งแต่ปี 1916 บางครอบครัวต้องการสินสอดเพิ่ม จนเกิดการทำร้ายร่างกาย จนมีเหตุที่ฝ่ายหญิงกดดันจนปลิดชีพตัวเองเป็นจำนวนมาก หรือโดนทำร้ายจนเสียชีวิต
และยังมีความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ไม่มีสามี หรือมีสามีแต่ไม่มีลูกเป็นหญิงอาภัพ การมีสามีจึงเหมือนการได้มีเทพเจ้าในบ้าน การได้มาซึ่งเทพเจ้านั้นก็จำเป็นต้องจ่ายค่าบูชาเป็นค่าสินสอดไปนั่นเอง
นอกจาก อินเดีย ประเทศที่มีธรรมเนียมสินสอดแบบฝ่ายหญิงให้สินสอดเจ้าบ่าว ได้แก่ บังคลาเทศ เนปาล ปากีสถาน และ ศรีลังกา
4. เคนยา
ประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา มีวัฒนธรรมการให้สินสอดมาเป็นระยะเวลานาน แต่ละพื้นที่ มูลค่าสินสอดไม่เท่ากัน ใน Kikuyu ค่าสินสอดจะประกอบด้วยสิ่งของสำหรับผู้ชาย (athuri) และสิ่งของสำหรับผู้หญิง (atumiia) เช่น แกะ วัวตัวเมีย (ที่ยังไม่มีลูก) รวมไปถึง เบียร์ที่ทำจากน้ำผึ้งสำหรับผู้สูงอายุ
ส่วนราคาสินสอด ขึ้นอยู่กับสองฝ่ายตกลงกัน ปัจจุบันหลายครอบครัว รับสินสอดเป็นเงินแทนของที่กล่าวมาข้างต้น โดยอยู่ที่ประมาณ Ksh.500,000 หรือ 150,000 บาท
ส่วนในชุมชนคาเลนจิน มีธรรมเนียมการให้สินสอดกับฝ่ายหญิงเป็นวัว 12 ตัว แกะ 4 ตัว และเงินอีกจำนวนหนึ่ง เช่น Ksh.100,000 หรือประมาณ 330,000 บาท ซึ่งเรื่องเงินสามารถต่อรองกันได้
5. ไทย
ค่าสินสอด เป็นวัฒนธรรมที่ไทยเราสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีความหมายถึง หลักประกัน คำมั่นสัญญา การตอบแทน แสดงถึงหน้าตา ฐานะ เกียรติ ความมั่นคง อำนาจ อาจเป็น เงิน ทอง แหวน เครื่องประดับ อาจรวมไปถึง ทรัพย์สมบัติอื่น ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น
แต่ในบางครั้ง ค่าสินสอด ก็สร้างความปวดหัวได้ไม่น้อย หากไม่ตกลงกันให้ชัดเจน เพราะส่วนมาก ฝ่ายหญิงมักบอกว่า ให้จัดค่าสินสอดมาตามความเหมาะสม แต่คำว่าเหมาะสม ก็ไม่ระบุจำนวนที่แน่ชัด จึงมีหลักการคำนวนค่าสินสอด เพื่อความลงตัวและสบายใจของทั้งสองฝ่าย
โดย ค่าสินสอดนั้น ขึ้นอยู่กับ
- ตามตกลงของทั้งสองฝ่าย
- ตามหลักการคำนวน
ซึ่งหลักการคำนวนนั้น มี 4 แบบ คือ
- สูตรคำนวณ สินสอด ทองหมั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์
มูลค่าสินสอด = รายได้ x 2.2205 บวกกับ อายุ x 8,986.92
- เงินเดือนฝ่ายหญิง x 10
เช่น เงินเดือนเจ้าสาว 35,000×10 = 350,000 บาท อาจปัดขึ้นตามเลขมงคลเป็น 399,999 บาท
- (เงินเดือนฝ่ายชาย) +(เงินเดือนฝ่ายหญิง) x(5 ถึง 10)
เช่น ฝ่ายชายมีเงินเดือน 35,000 บาท ส่วนฝ่ายหญิงมีเงินเดือน 30,000 บาท ทั้งสองฝ่ายตกลงคิดจากค่ากลางระหว่าง 5-10 อยู่ตรงที่ 8 ดังนั้นเงินสินสอดโดยประมาณของคู่นี้จะอยู่ที่ 520,000 บาท
- (3.64 x รายได้ต่อเดือน) + (14,700 x อายุ) + ปัจจัยอื่นๆ = ค่าสินสอด
เช่น นางสาวเอ อายุ 30 ปี มีรายได้ 100,000 บาท/เดือน ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร เป็นคนกรุงเทพ แต่งงานคนแรกของครอบครัว แต่มีภาระทางครอบครัว
(3.64 x 100,000) + (14,700 x 30) + 286,700 + 372,000 + 3,100,000 – 197,000
ค่าสินสอด = 4,366,700 บาท
ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนคำนวนสินสอด ได้แก่
- เป็นคนกรุงเทพ + 286,700 บาท
- แต่งงานคนแรกของครอบครัว + 372,000 บาท
- มีภาระทางบ้าน – 197,000 บาท
- ตำแหน่งผู้บริหารขึ้นไป + 3,100,000 บาท
- วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี – 667,000 บาท
มีผลงานวิชาการ ระบุว่า สินสอดในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นรูปแบบหนึ่งของข้อตกลงแต่งงาน แต่ไม่ได้ซื้อขายผ่านตลาด (Non-Marketable Trade) จึงไม่มีราคาตลาด และไม่สามารถใช้วิธีการทั่วไป ประเมินมูลค่าได้ ดังนั้น "มูลค่าของสินสอด" จะอยู่ที่ "ราคาดุลยภาพ" (Equilibrium Price) ที่เกิดจากการต่อรองของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ส่วน สินสอด ตามกฎหมายไทย ยังไม่มีการระบุจำนวนเงินที่แน่ชัด แต่ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 วรรคสาม นั้น บัญญัติว่า สินสอด เป็นทรัพย์ซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงนั้นยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายมีสิทธิเรียกสินสอดคืนได้
อ้างอิง
- Prof. Wei Yan, Xi’an University of Finance and Economics
- มูลค่า “สินสอด” ในงานแต่งควรเป็นเท่าไหร่ดี?http://setthasat.com/2011/09/20/wedding/
- กฏหมายเกี่ยวกับสินสอด ( โดยทนายเสริม )http://www.jollaw.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&No=1299899
- ฝรั่ง (ยุโรป) มีสินสอดไหม ? https://bit.ly/3ABJfkt
- วิธีคิด สินสอด ทองหมั้น ต้องเรียกเท่าไหร่ สาว ๆ ต้องรู้ https://www.you.co/th/blog/bride-price/
- https://www.bbc.com/thai/45625045
- www.womanstats.org
- https://www.tuko.co.ke/360961-how-bride-price-kenya.html
- คนญี่ปุ่นให้ค่าสินสอดเจ้าสาวเท่าไหร่กันหนอ
- https://ilovejapan.co.th/life/entry/wedding-betrothal-money-how-japanese-married
- https://www.nepal101.net/th/nepaldowrysystem/

หมายเหตุ : มูลค่าสินสอดตามที่ระบุ เป็นเพียงการหาข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้มูลค่าสินสอดขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา
ข่าวยอดนิยม

6 แอปฯ "ออมทอง" ไม่ต้องมีเงินก้อน ก็เริ่มลงทุนได้ !

7 แอป สร้างรายได้เสริม ไม่ต้องออกจากบ้าน ก็หาเงินได้!

ส่องรายได้คนขับส่งอาหาร ทางเลือกอาชีพยุคโควิด

6 บัญชี “ออมทรัพย์ดิจิทัล” ดอกเบี้ยดีต่อใจ สมัครง่ายผ่านออนไลน์ !
