สารพันวิธีหลอก รวบรวมรูปแบบการหลอกของมิจฉาชีพ
Highlight
เวลาเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มขึ้นตามมาก็คือมิจฉาชีพและโจร ที่ปัจจุบัน ไม่ได้มาในรูปแบบการปล้นชิงหรือขโมย แต่ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกคนรู้ไม่เท่าทัน ให้โอนเงินหรือมอบเงินให้ ซึ่งรูปแบบในการหลอกลวงก็หลากหลายและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทันข่าวToday รวบรวมเอาสารพัดวิธีหลอกของมิจฉาชีพ มาฝากกันครับ
ธนาคารแห่งประเทศไทยคือผู้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งรวบรวมมาจากการฟ้องร้องหรือแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นคือช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook Line e-mail ในขณะที่ช่องทาง โทรศัพท์มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรมการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพเปลี่ยนเป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมากและการหลอกลวงมีรูปแบบที่ซับซ้อนและตรวจสอบได้ยากกว่าซึ่งภัยทางการเงินหลักที่พบคือ
1. หลอกแอบอ้าง/สวมรอยเป็นบุคคลอื่น เพื่อให้โอนเงินให้ เช่น หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ ธปท. ญาติพี่น้อง
2. หลอกจีบให้ตายใจ แล้วขอให้โอนเงินให้ โดยส่วนใหญ่พบเป็นมิจฉาชีพชาวต่างชาติ และติดต่อผ่านช่องทาง Facebook
3. หลอกว่าช่วยให้ได้สินเชื่อ แต่ให้โอนค่าธรรมเนียมล่วงหน้า เช่น ขอเป็นค่าเอกสารปล่อยกู้
4. หลอกว่าจะจ่ายชำระคืนหนี้ให้ โดยให้เสียค่าสมัครล่วงหน้า
5. หลอกให้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าหรือบริการนั้นจริงเช่นการซื้อขายหน้ากากอนามัย
6. หลอกให้โอนเงินให้ โดยอ้างว่าจะได้รับเงินก้อนใหญ่หรือพัสดุที่มีมูลค่าสูงจากมิจฉาชีพต่างชาติ ที่ติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหลอกให้โอนเงินเป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษี
7. หลอกให้ลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง ในรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ เช่น Forex Bitcoin เงินดิจิทัล แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ธนาคารแสงแดด โครงการปลูกป่าลดหนี้
8. หลอกเอาข้อมลูส่วนบุคคล/ขโมยข้อมูลผ่านรูปแบบเช่นหลอกให้กรอกข้อมูลใน e-mail / website/ application ปลอมของสถาบันการเงิน
9. ปลอมแปลงข้อมูลบัตรเครดิต/บัตรเดบิต เพื่อนำไปชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์