14 กันยายน 2564
967

ตลาดอสังหาฯไทยยังเหนื่อย เปิดโครงการใหม่ น้อยสุดในรอบ 18 ปี

ตลาดอสังหาฯไทยยังเหนื่อย เปิดโครงการใหม่ น้อยสุดในรอบ 18 ปี
Highlight
ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างมาก นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและภาคบริการต่างๆ คืออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายและการซื้อของชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือคอนโด จึงเป็นสิ่งที่คนเลือกจะชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน ทำให้ผู้ประกอบการเอง ก็ต้องชะลอการเปิดโครงการใหม่ๆ ออกไปเช่นกัน ภาพรวมของอสังหาฯไทย จึงยังไม่สดใส 


นับจากต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมยังทรงตัวระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะของตลาด ซึ่งจากข้อมูลของ เอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวน 25,257 หน่วย ลดลง 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากจำนวนหน่วยรอขายสะสมสูง กอปรกับผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์มาให้ความสำคัญกับตลาดแนวราบ เนื่องจากกลุ่มนี้จะมีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้น และสามารถจัดการบริหารความเสี่ยงได้ง่าย

ขณะเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการยังคงทำแคมเปญการตลาด นำเสนอโปรโมชั่นพิเศษอย่างหนัก เพื่อจูงใจลูกค้า เช่น การปรับลดราคา แคมเปญอยู่ฟรี อัตราดอกเบี้ยพิเศษและของสมนาคุณ ซึ่งนับเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ที่มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัย จึงช่วยผลักดันให้ยอดขายกลับมาเพิ่มขึ้น แม้จะต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิดก็ตาม จากข้อมูลของ เอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นถึง 37.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
              
สำหรับแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีปัจจัยท้าทายและความเปราะบางสูง แม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มมีสัญญาณที่นิ่งขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เริ่มลดลง ขณะที่ตลาดยังพอมีปัจจัยหนุนอย่างมาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย (ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท) ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564  แต่ผลของโควิดระลอกนี้ที่รุนแรงและยืดเยื้อ กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยคงต้องใช้ระยะเวลาที่นานขึ้นกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง และทั้งปี 2564 จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีจำนวนประมาณ 4.1-4.8 หมื่นหน่วย ซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดในรอบ 18 ปี ขณะที่การจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2564 น่าจะมีจำนวน 5.7-6.3 หมื่นหน่วย ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ติดต่อโฆษณา!