16 กันยายน 2564
1,258

“หรูหรา ราคากันเอง” กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของโรงแรมไทย

“หรูหรา ราคากันเอง” กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของโรงแรมไทย
Highlight
การท่องเที่ยวนั้นเป็นแหล่งรายได้หลักอย่างหนึ่งของบ้านเรามายาวนาน แต่วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นทำให้การท่องเที่ยวแทบจะกลายเป็น 0 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นหายไปอย่างมาก เช่นเดียวกับการระบาดในรอบต่างๆของบ้านเรา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไทยก็เดินทางท่องเที่ยวน้อยลงมากเช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องดิ้นรนอย่างหนัก ทำให้กลยุทธ์ “เที่ยวหรู อยู่สบาย จ่ายไม่แพง” ถูกนำมาใช้เพื่ออยู่รอดให้ได้

อ้างอิงจากโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เปิดมาเกินกว่า 2 เดือนแล้ว ผลที่เห็นคือนักท่องเที่ยวยังมีไม่มากนัก โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-14 ก.ย.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจำนวน 32,005 คน มียอดจองห้องพักโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 นี้สะสม 524,221 คืน

ในเรื่องนี้ สุรฉัตร เอี๋ยวสกุล กรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และประธานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า แม้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเริ่มต้นเดินมาได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้ เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

“จากประมาณการมีโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จำนวน 2,500 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักประมาณ 150,000 ห้อง พอโควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลให้โรงแรมปิดตัวกว่า 90% แต่จากฐานข้อมูลในระบบ SHABA ล่าสุด พบว่ามีโรงแรมมาขึ้นทะเบียนเพื่อรับมาตรฐาน SHA Plus ประมาณ 700 แห่ง และมีลูกค้าเข้าพักประมาณ 400 แห่ง สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่ามีโรงแรมที่เปิดตัวเป็นช่วงๆ โดยในช่วงเดือน ก.ค.2563-มิ.ย.2564 มีโรงแรมเปิด 300 แห่ง คิดเป็น 12% ด้วยจำนวนห้องพักประมาณ 15,000 ห้อง ส่วนช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2564 มีโรงแรมเปิดเพิ่มเป็น 500 แห่ง คิดเป็น 20% ด้วยจำนวนห้องพักประมาณ 30,000 ห้อง”

อย่างไรก็ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นับเป็นความหวังเดียวที่จะเป็นทางออกของการฟื้นเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต โดยฝากความหวังไว้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซั่นของทะเลอันดามัน จากการทดสอบตลาดพบว่ายังมีความต้องการเดินทางมาท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากตลาดยุโรปที่จะเดินทางหนีหนาวเข้ามา หากประเทศไทยมีการจัดการที่เหมาะสมและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวถึงเดือนละ 200,000 คน คิดเป็น 20% ของภาวะปกติ

แต่ถึงกระนั้นธุรกิจโรงแรมก็จะยังคงไม่สามารถทำกำไรได้ และยังคงสภาพการขาดทุนไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

อีกจุดที่น่ากังวลในช่วงนี้คือสถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดเป็นวงกว้างภายในประเทศ ทำให้ตลาดความหวังอย่าง “สหรัฐ” ซึ่งเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มากเป็นอันดับ 1 จากสถิติช่วง 2 เดือนแรกของการเปิดโครงการฯ ทางหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ หรือ ซีดีซี ได้ประกาศเมื่อ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ยกระดับคำเตือนให้ชาวสหรัฐหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด (Level 4) ต่อการระบาดของโควิด-19

ส่วนตลาด “สหราชอาณาจักร” ซึ่งเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มากเป็นอันดับ 2 นั้น ทางรัฐบาลได้ประกาศปรับสถานะให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสีแดง (Red List) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย เมื่อกลับเข้าสหราชอาณาจักรจะต้องถูกกักตัวในโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลา 10 วัน และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง 2,230 ปอนด์ หรือประมาณ 1 แสนบาท

เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของหลายจังหวัดในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีโครงการนำร่องเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการสมุย พลัส โมเดล และโครงการ 7+7 ภูเก็ต เอ็กซ์เทนชั่น ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเชื่อมโยงหลังจากพำนักในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ครบ 7 คืนแรก แล้วไปเที่ยวต่อในพื้นที่นำร่องของกระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานีในช่วง 7 คืนหลัง

ภาคเอกชนท่องเที่ยวและโรงแรมใน 4 จังหวัดดังกล่าวจึงจำเป็นต้อง “ปรับกลยุทธ์” เพื่อกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการดึงตลาด “นักท่องเที่ยวไทย” ผ่านโครงการ “เอ็กซ์พีเรียนส์ ทู ซี” (Experience2Sea) จัดโปรโมชั่นชูบริการระดับพรีเมียม ครอบคลุมทั้งโรงแรมที่พัก กิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล และร้านอาหาร ในราคาที่จับต้องได้ ดึงคนไทยให้มาท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานีมากขึ้นหลังจากรัฐบาลคลายล็อกการเดินทางภายในประเทศ ประกอบกับตลาดคนไทยท่องเที่ยวต่างประเทศยังติดข้อจำกัดการเดินทางจากวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเอ็กซ์พีเรียนส์ ทู ซี ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ ในรูปแบบ “ซื้อก่อน เที่ยวทีหลัง” โดยผู้ประกอบการบางรายวางเงื่อนไขให้ใช้บริการได้ถึงไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้งนี้คาดหวังว่าจะเกิดยอดการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 1,200 รายการ คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 5 ล้านบาท
 
ติดต่อโฆษณา!