09 ตุลาคม 2564
9,704

“กิจการดูแลผู้สูงอายุ-เนอร์สซิ่งโฮม” โอกาสธุรกิจของอนาคต เมื่อไทยเป็นเมืองผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ

“กิจการดูแลผู้สูงอายุ-เนอร์สซิ่งโฮม” โอกาสธุรกิจของอนาคต เมื่อไทยเป็นเมืองผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ
Highlight
  • ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ที่ให้บริการสถานที่พักสำหรับผู้สูงอายุพร้อมให้บริการการพยาบาล และการมีคนดูแลประจำสำหรับผู้สูงอายุ เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นสอดคล้องกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศ

  • ปี 2563 มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุทั้งสิ้น 385 ราย รวมมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,063.47 ล้านบาท โดยแนวโน้มของผู้ที่สนใจจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา

  • สัมภาษณ์กรณีศึกษา “โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม” ที่เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 12 ปี มี 2 สาขา มีเทคนิคการดำเนินกิจการเนอร์สซิ่งโฮมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จและสร้างความมั่นคงกับกิจการ


แนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเกิดขึ้นหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป
 
“ทันข่าว Today” คอลัมน์ “ SME Talk” สัปดาห์นี้ขอนำเสนอธุรกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุ “โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม” บริหารโดย พญ.ประยงค์ บุญสิทธิ ซึ่งทาง คอลัมน์ “ SME Talk” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณบุญชู จูระมงคล ผู้อำนวยการ บริษัท โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม จำกัด  ปัจจุบันมีกิจการทั้งหมด 2 สาขา ประกอบด้วยสาขาที่แจ้งวัฒนะและปิ่นเกล้า เปิดดำเนินการมากว่า 12 ปี และได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่ รัศมีใกล้เคียง โดยรายละเอียดการสัมภาษณ์สะท้อนถึงแนวคิดในการบริหารเนอร์สซิ่งโฮม ให้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ

20211009-a-05.jpg

จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการตั้งกิจการ 

“โกลเด้นไลฟ์เนอร์สซิ่งโฮม” เริ่มต้นดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2552 ในขณะนั้นกิจการ เนอร์สซิ่งโฮมในประเทศไทยยังมีไม่มาก ได้เคยเห็นกิจการเนอร์สซิ่งโฮมที่ต่างประเทศ จึงมีแนวคิดที่จะเปิดกิจการในลักษณะนี้ ในช่วงแรก คนไทยส่วนใหญ่จะมีแนวคิดที่ว่าการนำญาติมาอยู่ที่ศูนย์ดูแลเป็นการนำมาทอดทิ้ง เราต้องค่อยๆ ให้ความรู้และความเข้าใจว่าการอยู่ที่ศูนย์ดูแลจะมีระบบและกระบวนการในการดูแลที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักการพยาบาล จะทำให้การดูแลและคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อมาเมื่อตลาดเริ่มรับรู้และผ่านการบอกต่อถึงคุณภาพในการบริการจึงมีลูกค้าที่เข้าใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ

ในระยะแรกๆ มีอุปสรรคที่สำคัญคือการให้ความรู้เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้บริการเนอร์สซิ่งโฮม เพราะภาพที่คนทั่วไปรู้จักคือบ้านพักคนชราบางแค ซึ่งอยู่ในสภาพเหมือนนำพ่อแม่มาทิ้ง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ความรู้ว่าบริการของ เนอร์สซิ่งโฮม จะคล้ายๆ กับกึ่งโรงพยาบาล สำหรับคนที่มีสติสัมปชัญญะเขาจะได้รับการดูแลจากคนที่ไว้ใจ มีความรู้ มีสังคม มีกิจกรรมให้ทำ ดีกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งมักจะเกิดปัญหาซึมเศร้าที่เกิดจากความเหงา เนื่องจากลูก ๆ ไปทำงานกันหมด นอกจากนี้สำหรับผู้ติดเตียงก็จะมีพยาบาลวิชาชีพเข้ามาดูแลอย่างถูกหลักวิชาการพยาบาล มีมาตรฐานมากกว่าการหาคนมาดูแลที่บ้าน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ในปัจจุบันเมื่อลูกค้าได้รับการ educate มากขึ้น จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจและขยายตัวกว้างมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เกิดศูนย์ดูแลที่เปิดใหม่ขึ้นมากมาย ทำให้เกิดการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง

20211009-a-06.jpg

ถ้าต้องการเปิดกิจการใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ และต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร

เมื่อ 12 ปีที่แล้วใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท แต่สำหรับปัจจุบันคงจะมากกว่านี้อย่างน้อย 2-3 เท่าตัว เพราะจะต้องเตรียมความพร้อมให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาควบคุม เริ่มตั้งแต่การเตรียมการด้านอาคารสถานที่ ห้องน้ำ ทางลาดต่างๆ ไม่นับรวมเรื่องการเตรียมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญต่างๆ ให้พร้อม เพื่อไปขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีข้อกฎหมายเหล่านี้ทำให้กิจการสามารถดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป นำเงินหมุนเวียนจากลูกค้ารายใหม่มาขยายกิจการได้ แต่ปัจจุบันทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งข้อจำกัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงกีดกันรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก

“โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม” มองโอกาสทางการตลาดอย่างไร 

อย่างที่ได้เรียนข้างต้นว่า ศูนย์ดูแลเป็นธุรกิจที่ต้องมีความเชื่อถือในคุณภาพ และกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลต้องมีความรักและเอาใจใส่กับผู้เข้ารับบริการอย่างมาก ในแง่การตลาดเราชูจุดขายที่ว่า “ให้การดูแลเสมือนหนึ่งเป็นญาติของเรา” ซึ่งตรงกับความต้องการของญาติผู้เข้ารับบริการ

20211009-a-07.jpg

กลุ่มเป้าหมายของ “โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม” ระดับราคาและการให้บริการ

กลุ่มเป้าหมายที่เราสื่อสารคือญาติของผู้เข้ารับบริการ อาจจะเป็นลูก หลาน หรือญาติ (ในกรณีผู้สูงอายุ) หรือผู้เข้ารับบริการโดยตรงกรณีผู้ที่ต้องการเข้าพักฟื้น ระดับราคา เริ่มต้นที่เดือนละ 17,000 บาท จะรวมที่พัก อาหาร 3 มื้อ ของว่าง การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีพยาบาลวิชาชีพ และนักกายภาพประเมินและวางแผนการดูแลและการทำกายภาพประจำวัน ลักษณะที่พักจะเป็นบ้านเดี่ยวมีบริเวณเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมบำบัดได้ให้บริการ ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยทั้งที่ช่วยเหลือตัวเองได้ และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

จุดเด่นของการให้บริการตลอดจนแผนในอนาคต

เป้าหมายในการให้บริการคือ “ให้การดูแลเสมือนหนึ่งเป็นญาติของเรา” ด้วยรูปแบบการดูแลที่มีมาตราฐาน มีการสื่อสารกับญาติที่สม่ำเสมอและชัดเจน เพื่อสร้างความไว้วางใจกับญาติและคุณภาพในการให้บริการที่ดี

ส่วนแผนในอนาคต เนื่องจากภาวะโควิดที่เกิดขึ้น เราได้ทำตามามาตราการป้องกันอย่างเต็มที่ จึงค่อนข้างเคร่งครัดในการรับผู้เข้าใช้บริการใหม่ เช่นต้องมีผลตรวจโควิดจากทางโรงพยาบาลไม่เกิน 7 วัน เมื่อแรกเข้าพักจะทำการแยกห้องพัก 14 วัน มีการ SWAP Test ในทุกวันที่ 7 และ 14 ของเดือน จึงค่อนข้างเป็นอุปสรรคกับการขยายตัว แต่หากพ้นช่วงการระบาดของโควิดก็จะพิจารณากันต่อไป

20211009-a-02.jpeg

กิจการมีหลายสาขาหรือไม่ แต่ละสาขาเจาะกลุ่มเป้าหมายเดียวกันหรือเปล่า

โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม มี 2 สาขา คือที่แจ้งวัฒนะและปิ่นเกล้า ซึ่งทั้งสองที่ทางศูนย์จับกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือลูกค้าส่วนใหญ่มีแนวโน้มต้องการศูนย์ดูแลที่อยู่ใกล้บ้านและเดินทางสะดวก

กุญแจความสำเร็จของการดำเนินกิจการ 

โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม มีจุดยืนในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

  • ดูแลลูกค้าเหมือนดูแลญาติสนิท 
  • สร้างมาตรฐานในการบริการที่ดี 
  • มีการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการอย่างสม่ำเสมอ
  • มีการสื่อสารกับญาติอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และชัดเจน
  • มีกิจกรรม CSR ตอบแทนสังคมอย่างสม่ำเสมอ

20211009-a-01.jpeg

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีแนวโน้มผู้สนใจจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2562 ที่มีการขยายตัวของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีนิติบุคคลประกอบกิจการอยู่ทั้งสิ้น 385 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,063.67 ล้านบาท ในส่วนของผลประกอบการของธุรกิจ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2561 ธุรกิจมีรายได้และผลกำไรเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลาง (M) ที่สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสัดส่วนการเปิดกิจการมากกว่าขนาดอื่นอยู่ที่ 55% มีขีดความสามารถการทำรายได้เฉลี่ยรายละ 70 ล้านบาทต่อปี รองลงมาเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มีสัดส่วนการเปิดกิจการอยู่ที่ 45% ทำรายได้เฉลี่ยรายละ 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยลักษณะของธุรกิจประเภทนี้ขนาดของกิจการที่เหมาะสมควรเป็นธุรกิจขนาดกลาง โดยมีอัตราการทำกำไรค่าเฉลี่ยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของทั้งตลาดอยู่ที่ 7% ในขณะที่ขนาดอื่นโอกาสการทำกำไรยังติดลบ

20211009-a-03.jpeg

แม้ว่าธุรกิจนี้จะเปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ (Low Barriers to entry) แต่ธุรกิจที่มีขนาดเหมาะสมจะสามารถกระจายค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์ของการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแล 1 ชุด (กลางวัน 3 คน กลางคืน 2 คน) สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ 6 คน หากต้องการรับผู้สูงอายุคนที่ 7 จะต้องจ้างผู้ดูแลเพิ่มอีก 1 ชุด ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กอาจประสบปัญหาด้านต้นทุนได้

จากแนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น อัตราการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่เร่งการเปลี่ยนรูปแบบจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ความต้องการต่อธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบค้างคืนและไป-กลับ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการนำเสนอบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่และบริหารต้นทุนที่เหมาะสมต่อขนาดธุรกิจ

ติดต่อโฆษณา!