เปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ ผู้ประกอบการขอวัคซีนครบโดสให้ประชาชน พร้อมรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
Highlight
- ปัญหาที่หนักที่สุดคือนโยบายการเปิด ๆ ปิด ๆ ทำให้ผู้ประกอบการหมดทุน วางแผนไม่ถูก และได้รับผลกระทบทั้งรายเล็กและรายใหญ่
- ความต้องการของผู้ประกอบการคือ ต้องการการกระจายวัคซีน ความสำเร็จของการเปิดประเทศนั้น วัคซีนต้องเต็มแขน เพื่อให้เกิดการป้องกันหมู่
- อยากเห็นความร่วมมือจากผู้ประกอบการช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ให้ความร่วมมือในการสวมสร้อยรัดข้อมือว่าฉีดวัคซีนแล้ว หรือสถานให้บริการหากฉีดวัคซีนครบแล้วก็ทำป้ายประกาศหน้าร้านว่าฉีดครบแล้ว
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต่างเตรียมพร้อมรับมือการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรียกร้องวัคซีนเต็ม 100 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวนำร่อง ด้านผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ห้ามการ์ดตก
รัฐบาลได้ประกาศเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ซบเซามานานกว่า 2 ปี "ทันข่าว Today" คอลัมน์ Exclusive Interview ได้สัมภาษณ์คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความพร้อม ปัญหา อุปสรรคของผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกภาคส่วน
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันหารือกับสมาชิกเพื่อเตรียมตัวกับการเปิดประเทศอย่างไร
โดยปกติทางสภาฯ มีการแชร์ข้อมูลระหว่างสมาชิก เพื่อเป็น one voice information กันอยู่เสมอ เพื่อให้เข้าใจร่วมกันว่าเราจะเดินต่ออย่างไรในทุกสาขาอาชีพ เพราะในแต่ละสาขาไม่เหมือนกัน โดยเริ่มต้นเราจะเน้นพื้นที่นำร่องก่อน เช่น กระบี่ พังงา สมุย ภูเก็ต เพื่อถามถึงความต้องการเพื่อนำมารวบรวมสะท้อนให้กับผู้บริหารระดับสูงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ปัญหาส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาฯคืออะไร
ปัญหาที่หนักที่สุดคือนโยบายการเปิด ๆ ปิด ๆ ทำให้ผู้ประกอบการหมดทุน วางแผนด้านบุคลากรไม่ถูก เวลาเรียกบุคลากรเข้ามาทุกครั้งก็จะมีค่าใช้จ่าย ยิ่งช่วงที่วัคซีนไม่พอ ยิ่งทำให้ขาดความชัดเจน ส่งผลให้ได้รับผลกระทบทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ทางสภาฯก็ได้ถามว่าผู้ประกอบการต้องการอะไร ทุกคนต่างบอกว่า
1) ต้องการการกระจายวัคซีน ความสำเร็จของการเปิดประเทศนั้น วัคซีนต้องเต็มแขน (ครบ 2 โดส) ของประชาชนอย่างน้อย 70% เพื่อให้เกิดการป้องกันหมู่
2) การควบคุมการระบาด เป็นการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้
3) เงินทุนของผู้ประกอบการหมดแล้ว หลายคนพูดว่าถ้ามีเงินทุนก้อนเล็ก ๆ ที่สามารถนำมา restart ธุรกิจก็จะทำให้ทุกองคาพยพของการท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมานานแล้ว การขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเป็นเรื่องยากมาก
4) อยากเห็นแคมเปญกระตุ้น แล้วไม่มีแคมเปญหลักช่วยกระตุ้น ก็จะทำให้การฟื้นตัวช้า นอกจากนี้บางสถานประกอบการก็อาจเจ๊งได้ เพราะถ้าหากเปิดกิจการมาแล้วมีคนมารับบริการเพียง 5 คน 10 คน ก็ไปไม่รอด หลายคนจึงอยากเห็น One Information One Voice One Thailand One standard เพราะ SOP แต่ละสถานที่ก็ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น พัทยา มูฟออน, ชาร์มมิ่ง-เชียงใหม่, ชะอำ-ซันไชด์, หัวหิน-รีชาร์ท, สมุย พลัส , ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ผู้ประกอบการก็อยากให้เป็นชื่อเดียวกัน คนจะได้ไม่สับสน นักท่องเที่ยวก็ไม่สับสน ช่วยให้สื่อสารง่าย
5) การขอ COE เข้าเมืองขอให้ขอผ่านบริษัทท่องเที่ยวด้วยได้ไหม เพราะที่ผ่านมาทัวร์อินบาวน์ทำได้ดีเหมือนกัน สามารถควบคุมการระบาดได้ดี เขามีระบบซีลนักท่องเที่ยวตั้งแต่สนามบินจนถึงสถานที่พักโรงแรมได้เป็นอย่างดี เพราะนักท่องเที่ยวประเภทนี้มาเป็นกลุ่มเฉพาะของเขา ขอรายชื่อประวัติล่วงหน้ายังได้เลย เมื่อก่อนการขอ CV ต้องอาศัยที่โรงแรมครบ 14 วัน แล้วต้อง Swab ซึ่งแรก ๆ ต้องจ่ายถึง 8,000 บาท ทางสภาฯจึงได้ขอไปว่าขอให้ลดค่าสวอปได้ไหม และการขอ CV เพิ่ม ไม่เพียงเฉพาะโรงแรม แต่สามารถให้บริษัทการท่องเที่ยวต่างชาติขอด้วยได้ไหม เพื่อเพิ่มยอดของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะอยากเห็นค่าใช้จ่ายการทำ Swab ด้วย RT-PCR Test จาก 8,000 บาท ต่อคนให้เหลือลงมาประมาณ 2,000 กว่า เพราะปกตินักท่องเที่ยวก็มากันหลายคนอยู่แล้ว หากยังอยู่ที่ 8,000 บาทก็นับว่าสูง นอกจากนี้ให้ปรับการตรวจเฉพาะ RT-PCR Test ตอนก่อนเข้าประเทศและเข้าสู่ประเทศ ส่วนระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในประเทศให้เหลือเพียงแค่ Rapid Antigen Test ได้ไหม
ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขมากน้อยเพียงใด
ทันทีที่ท่านนายกฯประกาศว่าจะมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนศกนี้ ท่านก็ทยอยออกมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ ออกมา ตั้งแต่การกักตัวมาเป็น 7+7 คือให้การกักตัวในโรงแรมเพียง 7 วัน การผ่อนปรนทำ Swab Test ให้ทำ RT-PCR Test เฉพาะตอนเข้าประเทศใหม่ ๆ เท่านั้น แล้วส่งเสริมการทำ Rapid Antigen Test เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า
มาตรการที่ทางเสนอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การเปิดประเทศไม่สะดุดมีอะไรบ้าง
สิ่งที่เราเสนอมาตั้งแต่แรกคือการกระจายการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่ต้องการเปิดประเทศก่อน ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการกำหนดพื้นที่การท่องเที่ยวเป้าหมายเพื่อการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แต่ปรากฏว่าในหลายพื้นที่ผู้ประกอบการและบุคลากรของสถานประกอบการยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกหรือหรือบางรายก็ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ บางพื้นที่ไม่สามารถทำมาตรการป้องกันหมู่ โดยฉีดให้ได้ 70% ของพื้นที่ได้ เช่นที่กระบี่จะเปิดประเทศ วัคซีนได้แต่เกาะ ในเมืองก็ยังไม่ได้ บางพื้นที่ยังมีการระบาดอยู่ แต่ก็ยอมรับว่าหลังจากได้ปักหมุดว่าจะเปิดประเทศแล้ว มีปริมาณวัคซีนเข้าสู่พื้นที่มากขึ้น จนสามารถทำให้วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ในพื้นที่ที่เป็นการท่องเที่ยวมากกว่าก่อนหน้านี้
ในหมู่สมาชิกของสภาเองมีการประสานงานระหว่างกันหรือไม่ เพื่อส่งเสริมมาตรการการเปิดประเทศ
เราได้มีการตกลงกันว่า 1 พฤศจิกายนที่จะเปิดนี้ เราต้องเตรียมการดังต่อไปนี้
1) การ์ดของเราอย่าตก มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรการ DMHCP ต้องเคร่งครัด
2) อยากเห็นความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ให้ความร่วมมือในการสวมสร้อยรัดข้อมือว่าฉีดวัคซีนแล้ว หรือหน้าร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรมหรือสถานให้บริการนักท่องเที่ยวหากฉีดวัคซีนครบแล้วก็ทำป้ายประกาศหน้าร้านว่าฉีดครบแล้ว วันนี้การท่องเที่ยวจะเดินหน้าได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ไม่ใช่เปิดเมืองวันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว แขกจะมาตูมตาม ๆ นักท่องเที่ยวเองก็ยังมองประเทศไทยอยู่เหมือนกัน การติดเชื้อยังอยู่ในหลักหมื่น เพราะฉะนั้นวันนี้ภาคเอกชนต้องช่วยสร้างความเชื่อมั่น เริ่มที่องค์กรตนเองดำเนินการรับผิดชอบอยู่ จังหวัดตัวเอง ถ้าทุกคนร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้เห็น ผมเชื่อมั่นว่าก็จะมีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเริ่มมาท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ยังต้องประกอบด้วย One SOP มาตรฐานเข้าเมืองที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การปล่อยอำนาจให้ผู้ว่าแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาสร้างมาตรฐานทำให้นักท่องเที่ยวสับสน
มาตรการที่ควบคุมนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศต้องเป็นมาตรการเดียวกันหรือไม่
ไม่สามารถปฏิบัติเป็นมาตรการเดียวกันทั้งหมด ต้องยอมรับว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาเราไม่แน่ใจว่านำเชื้อกลายพันธุ์มาหรือไม่ เพราะฉะนั้นมาตรการที่ทางรัฐทำดีอยู่แล้ว ก่อนมาตรวจ RT-PCR Test 1 ครั้ง พอมาถึงสนามบินก็ตรวจอีกครั้ง อันนี้ก็ดี เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างพวกเรา หลังจากนั้นเว้นเวลาสักระยะหนึ่งก็ทำ Rapid Antigen Test อีก 1 ครั้ง เพราะมาตรการนี้จากที่ตรวจสอบจากภูเก็ตแซนบ๊อกปรากฎว่าไม่มีนักท่องเที่ยวนำเชื้อโควิดมาระบาดให้กับคนท้องถิ่นกว่า 45,000 คนแล้ว และไม่มีคนท้องถิ่นนำเชื้อไปติดนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน เพราะในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างเรียนรู้ว่าจะอยู่กับโรคระบาดได้อย่างไร ทุกคนต่างปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
ส่วนเรื่องในประเทศคงต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มหรือตรวจ RT-PCR Test แล้วไม่ติดก็สามารถท่องเที่ยวได้ ทางผู้ประกอบการก็ต้องเข้มข้นเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
ท่านคิดว่าการเปิดประเทศในครั้งนี้มีปัญหาอะไรบ้าง และควรมีแนวทางป้องกันอย่างไร
มาตรการการเปิดประเทศในครั้งนี้เน้นเฉพาะที่มาทางเครื่องบิน และด้วยสถานการณ์วันนี้คงไม่มาแบบตูมตามแน่นอน พวกเราต้องสร้างความเชื่อมั่นก่อน ต้องค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเปิดประเทศแล้วต้องดูสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ถ้าเกิดระบาดเราก็ต้องชะลอ ต้องอยู่กับโควิดให้เหมือนกับโรคประจำถิ่น พร้อมกับต้องรีบเติมวัคซีนให้กับเมืองที่พร้อมเปิดโดยเร็ว เพราะการเปิดเมืองต่างชาติเข้ามา ไม่ได้เข้ามาทุกจังหวัด ซึ่งมั่นใจว่าไม่เกิน 10 จังหวัด เพราะฉะนั้นเมืองท่องเที่ยวหลักอยากเห็นวัคซีนเต็มแขนทั้งจังหวัด จะส่งผลให้สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงลดลง ถ้าเมืองที่เปิดแล้วได้วัคซีนไม่ครบก็ต้องมีอุปสรรคอยู่บ้าง
ส่วนปัญหาที่หากมีการติดหรือระบาดขึ้นมาแล้วก็อยากให้มาตรการแก้ไขคือปิดเฉพาะพื้นที่ระบาด ไม่ใช่ทำแบบเหมาเข่ง เราต้องหาข้อมูลหรือสาเหตุที่แท้จริงมาวิเคราะห์ ต้องศึกษาว่าคลัสเตอร์ไหนติดก็ปิดตรงนั้น เช่น ติดหรือระบาดในโรงแรมนี้ก็ปิดโรงแรมนี้ 14 วัน เป็นต้น
เนื่องจากวิกฤตการระบาดของโควิดที่ผ่านมามีระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบให้ห่วงโซ่ผู้ประกอบการวงการท่องเที่ยวทั้งกว้างและลึก โดยเฉพาะ SME ที่สายป่านสั้น ทุนรอนหมด ท่านคิดว่าจะช่วยกันหาทางออกอย่างไร
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะหามาตรการมาช่วยเหลือพวกเราเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เน้นให้ความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงิน แต่ระบบนี้ทางสถาบันการเงินก็ต้องดูความสามารถการจ่ายเงินคืนด้วย โดยส่วนใหญ่กิจการขนาดใหญ่ที่มีหลักฐานชัดเจน รัฐให้ความช่วยเหลือได้ไม่ยาก แต่เอสเอ็มอีตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากกว่ารายใหญ่ เพราะผู้ประกอบการในลักษณะนี้ไม่ค่อยได้ทำบัญชีอย่างเป็นระบบ แต่ตรงนี้ทางสภาฯก็ร่วมกันคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีกองทุนเปิดเมืองสักหนึ่งกองทุน มาช่วยเขาเหล่านั้นโดยไม่ผ่านระบบสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มรถตู้ รถบัส เรือ พวกนี้จ่ายเงินไปก้อนหนึ่งเพื่อให้เขานำไปเพื่อการฟื้นตัว เริ่มทำงาน
นอกจากนี้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ประสบความสำเร็จ เรานำโมเดลนั้นมาปรับใช้กับแหล่งการท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ความช่วยเหลือหนี้ NPL ที่มีสาเหตุมาจากโควิด โดยเราทำกันเป็นเครือข่ายใน 10 จังหวัดที่ต้องการเปิดนำร่อง โดยสนับสนุนทางการเงินให้ทุกหน่วยสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าได้ ช่วยกันเติมนักท่องเที่ยวให้เขา ซึ่งช่วงนี้นับเป็นโอกาสอันดี เพราะเรามี 3 แคมเปญใหญ่ ประกอบด้วย เที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย และแคมเปญที่ 3 ของทีเซป "ไทยประชุมไทยปลอดภัยกว่า" เป็นต้น ทางการมีงบประมาณสนับสนุนกว่า 10,000 ล้านบาท สามารถส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศได้ดีทีเดียว
ภาพรวมการท่องเที่ยวหลังจากเปิดประเทศจะเป็นอย่างไร
การท่องเที่ยวของไทยจะค่อย ๆ ทะยานขึ้น เหมือนเครื่องบินจะขึ้น ไม่มีทางที่จะเปิดแล้วนักท่องเที่ยวมาตูมตามได้ ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป พร้อมกับการจัดสรรวัคซีน ส่วนผู้ประกอบการใครมั่นใจก่อน พร้อมก่อนก็เปิดก่อน ส่วนตัวเลขก็เป็นไปตามคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังจะก้าวสู่การฟื้นตัวในรูปแบบตัว V โดยคาดการณ์ว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1 ล้านคน ต่อจากนั้นก็ตั้งเป้าในปี 2565 ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50% ของปี 2562 และเพิ่มเป็น 2.4 ล้านล้านบาทในปี 2566 หรือประมาณ 80% ของปี 2562 และปี 2567 จะมีรายได้ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือกลับไปเท่ากับรายได้ของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด
ดังนั้นภาพรวมของการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ คาดว่าจะเป็นการเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องมีมาตรการการป้องกันการระบาดที่เข้มงวด หากพื้นที่ใดเกิดติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ก็ให้ปิดพื้นที่นั้นเป็นกรณี ๆ ไป ส่วนผู้ประกอบการใครพร้อมก่อนเข้าก่อน สิ่งที่ทางสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลคือการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงในพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยวก่อน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนนอกเหนือจากสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าหากทุกคนสามารถปรับตัวให้อยู่กับโรคโควิดได้ โลกฟื้นตัว การท่องเที่ยวของไทยจะกลับไปสู่มูลค่าเท่ากับก่อนการระบาดโควิดในปี 2567