รู้จัก Lazada ผู้นำแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ รายได้โตกระฉูดสวนกระแสโควิด เผยแผนธุรกิจอีก 5 ปี ข้างหน้ายังครองอันดับ 1
Highlight
- ตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-commerce ในไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาท เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีก
- ค้าปลีกออนไลน์ไทยเปลี่ยนเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ E-marketplace มากขึ้น คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาด E-commerce รวมของไทย โดยเป็นการแข่งขันระหว่างสองแพลตฟอร์มข้ามชาติหลัก ได้แก่ Shopee และ Lazada ทิ้งห่างแพลตฟอร์มรายอื่น
- สำหรับ Lazada แล้ว ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า Mission นอกเหนือจากผู้ขายรายย่อยที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็จะให้ความสำคัญกับตลาดของ LazMall มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีแบรนด์ดัง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ กว่า 9,000 แบรนด์ได้ค้าขายบนแพลตฟอร์มของ Lazada แล้ว
Lazada ประกาศเป็นยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า เน้นลงทุนสร้าง Ecosystem ที่เป็นมิตรกับนักช็อปทั้งระบบ เพย์เมนท์ โลจิสติกส์ ตลอดจนกิจกรรมการตลาดและเคมเปญโปรโมชั่นที่เข้มข้นตลอดทั้งปี
ทุกวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านการขายสินค้าบนออนไลน์ต่างออกแคมเปญใหญ่เพื่อลดราคาสินค้าครั้งยิ่งใหญ่ประจำปีให้กับลูกค้า Lazada ในฐานะผู้บุกเบิกการจัดแคมเปญมหกรรมช็อปแห่งปี ซึ่งในปีนี้ภายใต้แคมเปญ “Lazada 11.11 Our Biggest One-Day Sale ถูกที่สุดในรอบปี วันนี้วันเดียว” พร้อมดีลสุดยิ่งใหญ่ที่จะช่วยผู้บริโภคชาวไทยในการปรับตัวสู่วิถีชีวิตแบบ ‘นิวนอร์มอล’
ในโอกาสเดียวกันทาง "ทันข่าว Today" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษคุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เพื่อทราบถึงทิศทางการเติบโตของตลาด E-commerce ตลอดจนเป้าหมาย แผนและนโยบายการทำธุรกิจของ Lazadaในรอบ 3-5 ปีข้างหน้านี้
แพลตฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์แบบเดียวกันกับท่านทั้งตลาดมีขนาดของมูลค่าตลาดเท่าไหร่ และมีอัตราการเติบโตเท่าไหร่
ขออาศัยข้อมูลจากรายงานของ KKP Research ประเมินว่าตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-commerce ในไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาท เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม โดยประเมินตลาด E-commerce ไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย แต่ในแง่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนระยะเริ่มต้นของการเติบโต
ในระยะต่อไป ตลาด E-commerce ไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เฉลี่ยราว 80% ของประชากร 2.การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยกลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนบัญชี Facebook ต่อประชากรสูงที่สุดในโลกและเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ และ 3.บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking) และการชำระเงินผ่านมือถือ (mobile payments) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก โดยมีบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ
นอกจากนี้แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเริ่มให้ความไว้วางใจ และสนใจที่จะช็อปสินค้าในกลุ่มแบรนด์เนมบน E-marketplace มากขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า
แพลตฟอร์มการขายออนไลน์ของท่านอยู่ในสถานะที่เท่าไหร่ของตลาดการขายออนไลน์ มีมูลค่าการขายโดยประมาณเท่าไหร่ต่อปี ตลอดจนมีการเติบโตปีละเท่าไหร่
จาก KKP Research ที่ระบุว่า รูปแบบค้าปลีกออนไลน์ในไทยเปลี่ยนไปเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ E-marketplace มากขึ้น ลาซาด้าคือผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่ปี 2555 และครองความเป็นผู้นำวงการอีคอมเมิร์ซไทยมาโดยตลอด
โดยผลการดำเนินงานของลาซาด้าในครึ่งปีแรกนี้ ลาซาด้าเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า มากกว่า 50% ทั้งจำนวนผู้ซื้อ ยอดคำสั่งซื้อ และจำนวนผู้ขายใหม่ เรามียอดขายที่โตเพิ่มขึ้น 1.6 เท่าอย่างต่อเนื่องในสองปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ซื้อโตขึ้นในอัตรา 1.5 เท่า จากปี 2563 และจำนวนคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน หนึ่งในมหกรรมแคมเปญที่สำคัญประจำปีคือ “Lazada 11.11 Our Biggest One-Day Sale” ซึ่งเป็นแคมเปญสุดยิ่งใหญ่แห่งปีของลาซาด้า ซึ่งสำหรับแคมเปญ 11.11 ในปีที่แล้ว สามารถทำสถิติยอดขาย 1 พันล้านบาทภายใน 2 ชั่วโมงแรกของแคมเปญ จากดีลเด็ด Crazy Brand Mega Offer และเราก็มั่นใจว่าจะได้เห็นการทุบสถิติในแคมเปญ 11.11 ปีนี้อย่างแน่นอน
ท่านคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า โฉมหน้าการขายสินค้าบนออนไลน์ลักษณะแพลตฟอร์มเช่นท่านเป็นอย่างไร
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา กลุ่มคอนซูเมอร์กู๊ดส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ตลอดจนกลุ่มสินค้าด้านสุขภาพ นับเป็นตลาดหลักของการซื้อขายบนแพลตฟอร์มของ Lazada แต่หลังจากที่มีการคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระบบการทำงานตามปรกติ ปรากฏว่ายอดขายของกลุ่มการแต่งตัว เครื่องสำอาง โดยเฉพาะกลุ่มสตรีกลับมียอดขายที่โดดเด่นมากขึ้น
เทรนด์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มของสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น และกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในอนาคต จนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สินค้ากลุ่มนี้ขายดีทั้งผู้ค้าที่เป็น SME และร้านค้า official store ที่แบรนด์เปิดหน้าร้านขายตรงให้กับผู้บริโภค แนวโน้มที่สำคัญในประการต่อมาคือ ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่พร้อมจ่ายในราคาที่มากกว่าเล็กน้อย เพื่อให้ได้สินค้าที่เชื่อมั่นว่าเป็นของแท้ 100% ซึ่งทำให้สินค้าในหมวด LazMall กว่า 9,000 แบรนด์ เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
ส่วนแนวโน้มในระยะอันใกล้นี้จะมีกลุ่มผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมอ่อนไหวด้านราคา ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ที่ลดลง ทำให้ใช้เวลาในการเลือกสินค้ามากขึ้น ยอดการสั่งซื้อน้อยลง แต่ซื้อถี่ขึ้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากเศรษฐกิจดีขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลง
สำหรับ Lazada แล้ว ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า Mission ของเรานอกเหนือจากสนับสนุนผู้ขายรายย่อยและผู้ประกอบการไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ให้ประสบความสำเร็จ ก็จะให้ความสำคัญกับตลาดของ LazMall มากขึ้น ซึ่งขณะนี้แบรนด์ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 9,000 แบรนด์ ได้ค้าขายบนแพลตฟอร์มของ Lazada แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
นอกจากนี้ Mission ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยจะจับมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ให้ขยายขีดความสามารถการจัดส่งให้เติบโตได้เท่าทันกับการเติบโตของยอดขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีแคมเปญ ยอดการสั่งซื้อเข้ามามาก การจัดส่งในวันต่อไปต้องมีประสิทธิภาพ ส่งเร็ว ถูกต้อง สินค้าไม่เสียหายเป็นสิ่งสำคัญ
ปัจจุบันนี้กลุ่มเป้าหมายของท่านเป็นใคร และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าโฉมหน้าของกลุ่มเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
Lazada มีสินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มที่ทาง Lazada ต้องการพัฒนาเพื่อให้เป็นลูกค้าในอนาคตคือกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี หรือกลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกิจกรรมต่าง ๆ บนมือถือที่มากกว่าคน Gen อื่น ซึ่งก็สอดคล้องกับตลาดการค้าออนไลน์ทั้งระบบ และจะเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเช่นกัน
ปัจจุบันนี้การขายในลักษณะ Social Commerce กำลังเข้าสู่เทรนด์ของผู้บริโภค ท่านคิดว่า Lazada เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์นี้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะปรับตัวอย่างไร
ทาง Lazada มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างผสมผสานเพื่อตอบโจทย์กับเทรนด์ของ Social Commerce ซึ่งยังเชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์มของทาง Lazada ยังมีบริการที่ครบเครื่องมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบ One Stop Service ให้บริการกระบวนการช็อปปิ้งอย่างครบวงจร จบในที่เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Payment ที่หลากหลายช่องทางตามความสะดวกของลูกค้า การให้บริการจัดส่งที่จบในที่เดียว ปัจจุบันนี้ทาง Lazada ยังเดินหน้ายกระดับประสบการณ์บนแพลตฟอร์มผ่านฟีทเจอร์และโซลูชัน ภายใต้กลยุทธ์ Shoppertainment ที่มีการสร้างกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เกม ตลอดจนแคมเปญโปรโมชั่นที่เร้าใจทุกวัน ให้ผู้บริโภคได้เพลิดเพลินในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทาง Lazada ให้ความสำคัญ
ในอนาคต ท่านมีการวางแผนที่จะปรับปรุงนิเวศน์วิทยา (Ecosystem) ของ Lazada ให้สอดคล้องกับผู้ใช้อย่างไร
สิ่งที่ Lazada จะพัฒนาในระบบ Ecosystem ของเราคือการพัฒนาระบบ Payment ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้จับมือกับทางธุรกิจออนไลน์เพย์เมนท์และดิจิทัลเพยเมนท์ของบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินที่มากขึ้นให้กับลูกค้าของทาง Lazada และการพัฒนาด้านช่องทาง Payment จะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ให้เท่าทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาพร้อมกับความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในด้านระบบการจ่ายเงินและข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้ทางบริษัทยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ การลงทุนด้านคลังสินค้า การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มให้การช็อปปิ้งที่สนุกสนาน ง่าย สะดวก ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด การพัฒนาการสื่อสารและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อให้มากขึ้น ส่งเสริมเรื่องการพัฒนา Content ให้สามารถแข่งขันได้กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นต้น
ท่านมีแผนที่จะนำหมวดของสินค้าใหม่ ๆ เข้าสู่แพลตฟอร์มหรือไม่
ปัจจุบันนี้ Lazada มีสินค้าที่ครอบคลุมทุกประเภทอยู่แล้ว แต่ทางบริษัทก็ยังไม่หยุดพัฒนา โดยในอนาคตจะต่อยอดเสริมสินค้าในหมวดของเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มของดิจิทัลให้มากขึ้น พัฒนาให้แพลตฟอร์มเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการด้านการจองตั๋วในรูปแบบต่าง ๆ เช่น งานคอนเสิร์ต ตั๋วหนัง โรงแรม การจองรถยนต์บางรุ่นที่หายาก เช่น Audi การจองคอนโด หรือแม้กระทั่งการบริการเครื่องดื่มกาแฟแบรนด์สตาร์บัค เป็นต้น ซึ่งจุดแข็งของ Lazada คือ Big Data และการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สามารถจัดสรรบริการและสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทิศทางการทำธุรกิจในปีหน้าของท่านจะเป็นอย่างไร ในปีหน้าท่านมีโครงการใหม่ ๆ หรือไม่ อย่างไร
ในปีหน้า Lazada ยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้นมากขึ้น มีการสร้างสรรค์แคมเปญที่เร้าใจผู้บริโภค ตลอดจนสร้างความบันเทิงให้กับลูกค้ามากขึ้น มีความร่วมมือกับร้านค้าในการสร้างแคมเปญต่าง ๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทาง Lazada จะเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนส่วนลดด้านโลจิสติกส์ร่วมกับทางร้านค้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการขายให้กับร้านค้า รวมถึงช่วยลูกค้าประหยัดค่าขนส่งอย่างต่อเนื่อง
ในมุมของการลงทุน จะมุ่งสร้าง Ecosystem ในทุก ๆ จุดให้เข้มแข็ง เช่น ระบบการ Payment การขนส่งสินค้า การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการสร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความทันสมัยในการช็อปปิ้ง สร้างประสิทธิภาพรองรับแคมเปญใหญ่ ๆ เช่น 11.11 เป็นต้น
เมกะแคมเปญใหญ่ 11.11 ในปีนี้ ทาง Lazada มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาอย่างไร
สำหรับปีนี้ เนื่องจากผู้คนยังคงซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น Lazada จึงตั้งเป้าที่จะเติบโตกว่าปีที่แล้ว 60% พร้อมทั้งคาดว่าจะได้เห็นการทุบสถิติอีกครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะในสินค้าหมวดแฟชั่นและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังต่อยอดความช่วยเหลือผ่านโครงการ “LazadaCARES ไปต่อ อย่าท้อนะ” ที่ริเริ่มขึ้นในช่วงแคมเปญ 9.9 ซึ่งประสบความสำเร็จจากน้ำใจของเหล่านักช็อป การสนับสนุนจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่มาร่วมบริจาคผลิตภัณฑ์ และความช่วยเหลือของมูลนิธิที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับทาง Lazada ในการช่วยเหลือคนไทยให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และกลับมาใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ได้อย่างมั่นใจ
ไฮไลต์สำคัญของ “Lazada 11.11 Our Biggest One-Day Sale” ถูกที่สุดในรอบปี วันนี้วันเดียว
แคมเปญ “Lazada 11.11 Our Biggest One-Day Sale ถูกที่สุดในรอบปี วันนี้วันเดียว” รวบรวมสินค้ามากมายจากทุกหมวดหมู่ในราคาที่ถูกที่สุดแห่งปี พร้อมด้วยส่วนลดมากมายที่จะช่วยให้เหล่านักช้อปประหยัดได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- ส่วนลดสูงสุด 90% สำหรับสินค้าทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม
- คูปองส่วนลดพิเศษจากลาซาด้าและผู้ขาย ที่มอบส่วนลดสูงสุด 1,111 บาท
- ลาซาด้าโบนัส สะสมง่ายๆ และรับโบนัสทันที 50 บาท เมื่อช้อปครบทุกๆ 500 บาท สูงสุด 4,000 บาทต่อคน เริ่มสะสมได้ตั้งแต่วันที่ 6-11 พฤศจิกายน และใช้ช้อปสินค้าที่ร่วมรายการได้ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น
- คูปองส่งฟรีทั่วไทย
- Crazy Brand Mega Offer ดีลลดราคาสุดคุ้มอันเป็นเอกลักษณ์จาก LazMall ที่จะมอบส่วนลดสูงสุดถึง 90% เฉพาะเที่ยงคืนถึงตี 2 ของวันที่ 11 พฤศจิกายน
- Daily Cashback มอบเงินคืน 10% เมื่อซื้อสินค้า โดยสามารถใช้เครดิตเงินคืนได้โดยไม่มีการจำกัดระยะเวลาในการใช้ส่วนลด และยังสามารถใช้ร่วมกับคูปองและโค้ดส่วนลดอื่นๆ ได้อีกด้วย
เมื่อตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-Commerce ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าถึง 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจคลังสินค้า ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงโฆษณาออนไลน์ เป็นธุรกิจที่จะขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของ E-Commerce ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมที่อาศัยหน้าร้าน การขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ และกิจการร้านอาหารขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องปรับรูปแบบไปเป็นออนไลน์มากขึ้น