13 พฤศจิกายน 2564
9,801

Food Truck ธุรกิจการบริการอาหารเคลื่อนที่ โอกาสสดใส ทดแทน Food Delivery Win Win ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย

Food Truck ธุรกิจการบริการอาหารเคลื่อนที่ โอกาสสดใส ทดแทน Food Delivery Win Win ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย
Highlight

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าจากการสำรวจแรงจูงใจผู้สั่งอาหารออนไลน์กว่า 80% ไม่อยากเดินทางไปที่ร้านอาหาร 58% สั่งตรงจากทางร้านที่เจาะจง และ 47% สั่งผ่านออนไลน์เนื่องจากแรงจูงใจด้านการตลาดและโปรโมชั่น

  • การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นการให้บริการจัดส่ง (Delivery) มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ถึง 30% ส่งผลให้ราคาขายเพิ่มขึ้นซึ่งท้ายที่สุดจะตกเป็นภาระของผู้บริโภค ดังนั้นร้านอาหารต่าง ๆ จึงเริ่มให้บริการในรูปแบบ ฟู้ดทรัค (Food truck) มากขึ้น
  • การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากร้านอาหาร และร้านแผงลอยสู่รูปแบบบริการด้านอาหารเคลื่อนที่ (Food truck) จะขยายโอกาสในการแข่งขันให้ธุรกิจรายย่อยได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง


อาหารปรุงสุก สดใหม่ เห็นกระบวนการปรุง สัมผัสถึงกลิ่นและหน้าตาของอาหาร ตลอดจนความสะดวกในรูปแบบของ Food Truck น่าจะเป็นทางเลือกที่ยกระดับความพึงพอใจลูกค้า ทดแทนการสั่งอาหารทางออนไลน์ได้ และมีโอกาสที่สดใสในอนาคต
 
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รายงานว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย คนไม่อยากออกจากบ้าน เช่น ปัญหาจราจร ปัญหามลพิษ ทำให้ค่านิยมการบริโภคสินค้าและบริการของคนเปลี่ยนไปทีละน้อย จากเดิมคนไปหาสินค้า เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นนำสินค้าเข้ามาหาคน จนกลายเป็น new normal ในการดำเนินชีวิต
 
แต่การให้บริการแบบจัดส่ง (Delivery) มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ถึง 30% ส่งผลให้ราคาขายเพิ่มขึ้นซึ่งท้ายที่สุดจะตกเป็นภาระของผู้บริโภค ดังนั้นร้านอาหารต่าง ๆ จึงเริ่มให้บริการในรูปแบบ ฟู้ดทรัค (Food truck) เนื่องจากปัจจัยหลักในการให้บริการ คือ รถที่ใช้ประกอบอาหาร ยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในระยะยาว นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความชื่นชอบในสินค้าของร้านอาหารนั้น ๆ ได้ รวมทั้งการปรับรูปแบบเป็น Food truck ยังสามารถใช้ต้นทุนเดิมได้  ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการทำอาหารและบุคลากรเดิมได้ด้วย

2021113-a-01.jpeg
 
จุดเด่นของการขายอาหารผ่านทาง Food truck แตกต่างจากการขายทางออนไลน์ผ่านระบบการให้บริการจัดส่ง (Delivery) คือการมองเห็นวัตถุดิบและเห็นการปรุงอาหาร เป็นอีกทางหนึ่งในการนำส่งคุณค่าความพอใจในระดับที่สูงขึ้น (Functional quality) ให้แก่ผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ Food Truck จึงน่าจะกลายเป็นทางเลือกของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ได้รับความนิยมมากในอนาคต
 
การเข้าสู่ธุรกิจ Food Truck สามารถทำได้ไม่ยาก เนื่องจาก ใช้ทุนในการเริ่มไม่มาก ทักษะที่ไม่ซับซ้อน และธุรกิจรายใหญ่บางธุรกิจอาจไม่ง่ายในการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินธุรกิจเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ จึงถือเป็นโอกาสของทั้งร้านอาหาร ตลอดจนร้านค้าแผงลอยและบุคคลธรรมดาที่มีความสนใจให้เข้าสู่ตลาดได้โดยง่าย อีกทั้งการเป็น Food Truck ทำให้ไม่มีรายจ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าภาษีโรงเรือน ค่าภาษีป้าย ฯลฯ รายจ่ายประจำที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นค่าผ่อนรายเดือนรถยนต์ที่เป็น Food Truck ซึ่งไม่ได้เป็นการจ่ายทิ้งเหมือนค่าเช่า เนื่องจากจะได้กรรมสิทธิ์รถยนต์ที่ใช้ในที่สุด
 
คุณปณิดา สารพานิช หรือคุณเจ เจ้าของกิจการร้าน Food truck ชื่อ “เช็ค อิท” หรือ “SHAKE It” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจการขายอาหาร  Food Truck ที่ประสบความสำเร็จ ดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 5 ปี จนสร้างความมั่นคงสามารถยึดเป็นอาชีพ มีอนาคต และมีแผนที่จะขยายเป็นแฟรนไชส์ต่อไป เล่าให้ "ทันข่าว Today" คอลัมน์ “SME Talk” ฟังถึงการฟันฝ่าอุปสรรค จนสามารถเป็นร้าน SHAKE It ในปัจจุบัน

2021113-a-02.jpeg
 
จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการขายอาหารบนฟู้ดทรัค

ตนเองเป็นคนที่ไม่ชอบไปทำงานตามบริษัท แต่ชอบค้าขาย เป็นนายตัวเอง จึงได้เริ่มหาสินค้ามาขาย โดยเริ่มต้นขายอาหารจำพวกทอด ๆ ทั้งนี้เนื่องจากส่วนหนึ่งตนเองก็เป็นคนชอบอาหารจำพวกนี้ โดยแรก ๆ เมนูอาหารที่ทอดก็เหมือนกับที่ท้องตลาดขาย แต่เห็นว่าหากขายตามที่ท้องตลาดขายก็จะไม่มีเอกลักษณ์และรสชาติอร่อยไม่เป็นสูตรของตัวเอง ต่อมาจึงได้พัฒนาสูตรที่เป็นของตนเอง วิธีการทอดเรียนถูกเรียนผิด จนได้วิธีการทอดที่กรอบได้นาน ในที่สุดทั้งสูตรการปรุงและวิธีการทอดก็นิ่งเป็นกรรมวิธีที่เป็นเอกลักษณ์ของ “SHAKE It”
 
สาเหตุที่มาขายด้วย Food truck เพราะเหตุผลใด

ในระยะแรก ๆ เป็นการตั้งร้านคีออสขายตามหน้าโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือตามตลาดนัด ซึ่งเริ่มต้นด้วยเงินทุนไม่มากนัก โดยมีเงินหมุนเวียนเพื่อหาสินค้ามาขายประมาณ 2,000 บาทต่อวัน ปรากฎว่าขายดี นอกจากขายตามตลาดนัดแล้ว ก็ยังได้รับการแนะนำจาก organizer ที่จัดงานอีเว้นท์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานคอนเสิร์ตจะขายดีมาก ยอดขายดีกว่าตลาดนัดหลายสิบเท่าตัว ประสบการณ์ขายเป็นเวลากว่า 2 ปีที่หมุนเวียนขายถือว่าอยู่รอดและพึ่งพาตัวเองได้ แต่มีปัญหาเวลาเข้าสู่ฤดูฝน จะต้องขนของหนีฝน จึงตัดสินใจซื้อ Food truck โดยซื้อซูซูกิ แครี่ มือหนึ่งรวมค่าตกแต่งแล้วใช้งบประมาณราว 600,000 บาท สิ่งสำคัญของการทำ Food truck ประการหนึ่งคือการตกแต่งร้านให้ดูเด่นเป็นที่น่าสนใจ เมื่อเวลาไปจอดรถที่ไหนก็จะเตะตาลูกค้า ตัวเองได้ตั้งชื่อร้าน Food truck นี้ว่า SHAKE It และสาเหตุที่ซื้อรถมาขายของเพราะต้องการสะดวกเวลาไปตั้งขายตามที่ต่าง ๆ ไม่ต้องตั้งหน้าร้าน จอดรถก็สามารถขายได้เลย

2021113-a-03.jpeg
 
คิดว่าการใช้ Food truck ขายอาหารตามที่ต่าง ๆ ประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร

เคล็ดลับการขาย Food truck ควรต้องตระเวนขายตามที่ต่าง ๆ การขายซ้ำ ๆ อยู่ที่เดิม ลูกค้าจะเบื่อ และทำให้ยอดขายไม่ค่อยกระเตื้อง การขับขายตามสถานที่ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จะได้ยอดดีกว่าหลายเท่าตัว  และถ้าหากไปกันเป็นกลุ่ม Food truck ร่วมทางกันประมาณ 6-7 คัน มีอาหารที่หลากหลาย เช่น รถขายน้ำ ขายก๋วยเตี๋ยว อาหารจำพวกผัด พิซซ่า เบเกอร์รี่ ลูกค้ามาก็มีให้เลือกได้หลากหลาย ยิ่งการตกแต่งรถให้ดูโดดเด่น ยิ่งดึงดูดให้ลูกค้าแวะเวียนเข้ามา อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อให้สามารถวิ่งไปขายตามงานมหกรรมใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดได้ เช่น โซนด่านการท่องเที่ยว ระยอง พัทยา หรือการจัดอีเว้นท์เช่น เพชรบูรณ์ เป็นต้น
 
ยอดขายเป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างกันหรือไม่ระหว่างตั้งขายแบบร้านตามตลาดนัด กับการตั้งเป็น Food truck ขาย

ยอดขายระหว่างการตั้งร้านขายตามตลาดนัด และการจอดFood truck เป็นกลุ่ม ๆ ขายแตกต่างกันมาก ถ้าหากตั้งเป็นแผงขายยอดขายแต่ละวันจะเป็นหลัก 2,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็น Food truck ขับเป็นขบวนไปจอดขายในทำเลที่ดี ๆ ยอดขายจะมากกว่า 10,000 บาทขึ้นไป ยิ่งหากไปจอดขายตามงานมหกรรม งานอีเว้นท์ คอนเสิร์ตใหญ่ ๆ มียอดขายแต่ละวันได้มากกว่าวันละ 50,000 บาท ขึ้นไป
 
กำไรจากการขายเป็นอย่างไร และจุดคุ้มทุนเป็นอย่างไร

กำไรจากการขายจะตกอยู่ประมาณ 70% ของยอดขาย หากวางแผงขายในลักษณะของคีออส ถ้าหากเป็นทำเลดี ๆ สามารถคุ้มทุนค่าซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ภายใน 6 เดือน แต่ถ้าหากเป็นFood truck ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีก็จะคุ้มทุนจากการซื้อรถคันใหม่พอปีที่ 2 เป็นต้นไปก็ทำกำไรเนื้อ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องหักทุนสำหรับจ่ายค่าซื้อหรือผ่อนรถแล้ว ส่วนค่าเช่าที่ขายขึ้นอยู่กับทำเล ถ้าหากทำเลธรรมดาตกวันละ 100-200 บาท ถ้าหากเป็นทำเลดี ๆ ตกประมาณวันละ 500-2,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ ค่าทำเลก็จะประมาณ 5,000 บาท

2021113-a-04.jpeg
 
กลุ่มเป้าหมาย ระดับราคาและสินค้าของท่านมีอะไรบ้าง

กลุ่มลูกค้าของเราหลัก ๆ ก็จะมีนักเรียน นักศึกษา สถานที่ทำงานคนมาก ๆ เพราะอาหารของเราเป็นอาหารว่าง แต่ถ้าหากเป็นงานอีเว้นท์ งานคอนเสิร์ตก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา จากการขายตามแผงมาเป็นเวลา 2 ปี และขายโดยอาศัยFood truck มาเป็นเวลา 5 ปี ร้าน SHAKE It ถือว่าอยู่ตัวแล้ว ร้านของเราจะมี organizer เจ้าประจำคอยป้อนงานมาให้อย่างสม่ำเสมอ และถ้าหากไม่มีงานก็จะมีทำเลประจำที่ทางผู้จัดการตลาดนัดใหญ่ ๆ ได้ตกลงกันแล้ว เช่นตามคอนโด หมู่บ้านขนาดใหญ่ หรือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ส่วนระดับราคาขายของทอดอยู่ในระดับราคาที่ซื้อง่ายขายคล่องคือ 49-59 บาท

ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจคืออะไร ตลอดจนโอกาสทางการตลาดในอนาคต

ในระยะแรก ๆ ปัญหาที่สำคัญคือต้องชนะใจตัวเอง ต้องอดทน ไม่ท้อ เพราะตอนเปิดตัวใหม่ ๆ ยอดขายอาจจะยังไม่นิ่ง ไม่เป็นที่พอใจของเรา ต้องทดลองขายจนสามารถได้ทำเลที่ดี ลูกค้าเริ่มติด เวลาลูกค้าติดก็ไม่ควรไปขายทุกวัน เพราะสินค้าจะช้ำ ลูกค้าไม่ได้ซื้อกับเราทุกวัน ความถี่ในการวนกลับไปขายที่ทำเลเดิมประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังต้องพยายามรักษาคุณภาพของรสชาติ ความสะอาดให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเราขายดี ในท้องตลาดก็มีคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม หากเรารักษาคุณภาพของเราอย่างสม่ำเสมอ ลูกค้าก็จะเชื่อมั่น ติดใจ และกลับมาซื้อซ้ำ
 
ส่วนโอกาสมีอย่างแน่นอน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดที่มีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่น ล้วนมีลูกค้าที่ต้องการบริโภคอาหารในลักษณะนี้ ขอให้ได้ทำเล หรืองานอีเว้นท์ที่ดี ๆ

2021113-a-05.jpeg
 
มีแนวคิดจะขยายแฟรนไชส์หรือไม่ เงื่อนไขเป็นอย่างไรบ้าง

จากประสบการณ์ที่ทาง ร้าน SHAKE It ขายมาแล้ว 7 ปี ร้าน SHAKE It คิดว่าประสบการณ์ตลอดจนสูตรต่าง ๆ นิ่งพอที่จะสามารถเปิดขายแฟรนไชส์ได้แล้ว โดยทาง ร้าน SHAKE It มีโมเดลในการขายแฟรนไชส์ออกเป็น 2 รูปแบบคือ

1. ขายแบบคีออส เงินลงทุนเริ่มต้น 59,000 บาท ราคานี้ประกอบด้วยอุปกรณ์การขายตั้งแต่หม้อทอด ตลอดจนอุปกรณ์ประกอบร้านอื่น ๆ และวัตถุดิบมูลค่า 10,000 บาท  ซึ่งทางร้าน SHAKE It จะช่วยวางแผนเรื่องทำเล จุดขายต่าง ๆ ประจำแต่ละสัปดาห์ ตลอดจนงานอีเว้นท์ต่าง ๆ

2. ขายโดยใช้ Food truck ค่าแฟรนไชส์ 139,000 บาท รวมค่าการจัดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่ไม่รวมค่าซื้อรถและค่าตกแต่ง เช่นเดียวกับเงื่อนไขแรกทางร้าน SHAKE It จะช่วยวางแผนเรื่องทำเล จุดขายต่าง ๆ ประจำแต่ละสัปดาห์ ตลอดจนงานอีเว้นท์ต่าง ๆ พร้อมกันนี้ได้จัดหาคนช่วยขายบนรถอีก 2 คน และร่วมกับเพื่อน ๆ จัดหาขบวนรถไปขายร่วมกัน เพราะการขายของบนFood truck จะขายได้ดี ต้องขายกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างน้อยต้อง 4-7 คัน เวลาจอดขายแล้วจะเป็นจุดสนใจของลูกค้า ในระยะแรกตั้งใจจะขยายแฟรนไชส์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 7-8 จุด ส่วนในระยะยาวคิดว่าจะขยายไปอย่างน้อยจังหวัดละ 1 จุด การันตีหากอยู่ในทำเลที่ดี หรืออยู่ในงานอีเว้นท์จะได้ยอดขายประมาณ 50,000 บาทต่อวัน

2021113-a-06.jpeg
 
ด้านความช่วยเหลือทางร้าน SHAKE It จะป้อนวัตถุดิบให้ขาย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีการส่งอีเว้นท์งานตลอดจนทำเลต่าง ๆ ให้สามารถไปจอดขายได้ นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาตลอดในทุก ๆ เรื่อง เสมือนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงให้สามารถยืนหยัดเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดได้
 
จากการประเมินของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า กลุ่มธุรกิจบริการด้านอาหารเคลื่อนที่ หรือ Food Truck ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากในการเป็นทางเลือกของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อเข้าถึงสินค้าและบริการ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคอาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่อยากเดินทางไปที่ร้านอาหารและมีการเลือกสั่งตรงจากทางร้าน ไม่ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพของธุรกิจบริการด้านอาหารเคลื่อนที่ หรือ Food Truck

ติดต่อโฆษณา!