ธุรกิจครอบครัว Gen 3 อยู่รอดเพียง 12% ทำอย่างไร ให้รอดถึงรุ่น 4
Highlight
80% ของกิจการในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัว การบริหารจัดการมักเป็นคนในตระกูลเดียวกันทั้งสิ้น สืบทอดความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งสำคัญที่ทายาทผู้สานต่อธุรกิจต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ เพื่อให้กิจการอยู่รอดและประสบความสำเร็จอย่างมีระบบ พร้อมส่งต่อให้รุ่นๆ ต่อไป โดยไม่หยุดเพียงแค่รุ่น 3 ซึ่งสถิติพบว่าเหลือสืบทอดเพียง 12% เปิดแนวคิดบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพเพื่อไปให้ถึงรุ่น 4
ธุรกิจครอบครัว (Family Business) คืออะไร? องค์กรธุรกิจที่อาจอยู่ในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน โดยมีบุคคลในครอบครัวเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ (51 - 100%) โดย 80% ของกิจการในประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัว
สำหรับรูปแบบบริษัทของธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยได้มีการพัฒนาหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ที่มีการเติบโตได้ในปัจจุบันมักจะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบุคคลในตระกูลหรือครอบครัวเดียวกันทั้งสิ้น
ธุรกิจครอบครัวมีทางเลือกหลากหลายทางในการสืบทอดธุรกิจของตระกูล ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวก็คือการรักษาและถ่ายทอดความมั่งคั่ง รวมถึงชื่อเสียงที่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวได้สั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากนี้ เมื่อมองลึกลงไปในเป้าหมายของการรักษาและถ่ายทอดความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ทางเลือกต่างๆ ของธุรกิจครอบครัวก็มีตั้งแต่การผลักดันให้ลูกหลานก้าวขึ้นมารับช่วงสืบทอดกิจการ หรือการหามืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงาน ไปจนถึงการขายกิจการครอบครัวซึ่งถือเป็นวิธีแปลงความมั่งคั่งในรูปของธุรกิจไปอยู่ในรูปของตัวเงินแทน โดยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก
- รุ่นที่ 1 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว 100%
- รุ่นที่ 2 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว 30%
- รุ่นที่ 3 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว 12%
- รุ่นที่ 4 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว 3%
(ที่มา : The Family Firm Institute)
ในปี 2564 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 64% มาจากธุรกิจครอบครัว ทั้งยังพบว่าอัตราการจ้างงานในสหรัฐอเมริกา 62% มาจากธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น การจัดอันดับของนิตยสาร Fortune ประกาศรายชื่อบริษัทใหญ่ที่สุด 500 อันดับแรกของโลก ประจำปี 2021 เป็นบริษัทที่บริหารโดยครอบครัวถึงประมาณ 35% จึงเห็นได้ชัดว่าธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก
วัฏจักรของธุรกิจครอบครัว กับแนวคิด 3 ชั่วอายุคน
1. ยุคปู่ มีหลักบริหารเน้นการลงทุนมากกว่าได้กำไร
เป็นช่วงที่ธุรกิจอยู่ในความควบคุมการบริหารงานของผู้ก่อตั้งหรือเจ้าของคนเดียว ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจของรุ่นพ่อแม่ที่มีอายุประมาณ 25 - 35 ปี อายุของลูกประมาณ 0 - 10 ปี และจะมีอายุของธุรกิจประมาณ 0 - 5 ปี ช่วงนี้ธุรกิจจะเติบโตเร็ว เนื่องจากต้องทุ่มเทและใช้เวลามาก เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ในช่วงนี้องค์กรจะมีขนาดเล็กและคล่องตัว ผู้ก่อตั้งมีอำนาจการตัดสินใจเพียงผู้เดียว มีหลักการบริหารเน้นการลงทุนมากกว่าได้กำไร มีระบบการใช้จ่ายเงินเท่าที่ต้องการเพื่อมุ่งให้ธุรกิจอยู่รอด และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือธุรกิจประสบความสำเร็จ
2. ยุคลูก เน้นการตัดสินใจร่วมกับพี่น้อง
เป็นช่วงที่ธุรกิจครอบครัวอยู่ในการบริหารงานร่วมกันของพี่น้องในฐานะหุ้นส่วน ซึ่งธุรกิจอยู่ในช่วงเติบโตและพัฒนา โดยจะมีอายุของรุ่นพี่น้องประมาณ 45 - 50 ปี อายุของลูกประมาณ 15 - 25 ปี และจะมีอายุของธุรกิจประมาณ 10 - 20 ปี ช่วงนี้ธุรกิจเริ่มเข้าที่ เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น เน้นการตัดสินใจร่วมกับพี่น้อง รวมถึงการศึกษามุ่งเน้นเป้าหมายการนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจ และการพัฒนารุ่นลูกเพื่อบ่มเพาะทายาทธุรกิจ ที่จะเข้ามาสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อแม่
3. ยุคหลาน แสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น
ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ผู้บริหารรุ่นใหม่ เจเนอเรชันนี้เป็นยุคที่รวมระหว่างคนรุ่นเก่าที่มีความซื่อสัตย์และภักดี กับคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจครอบครัวเติบโตและอยู่ตัว และต้องการปรับกลยุทธ์ใหม่ ลงทุนใหม่ เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวและธุรกิจเพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจจึงใช้แบบเสียงข้างมาก เน้นการจัดสรรทรัพยากร ดูแล และการลงทุน ตลอดจนมีกลยุทธ์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจคือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การวางตัวผู้สืบทอดธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์กับญาติผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจครอบครัว การประเมินการลงทุน การแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น และการใช้จ่ายในสาธารณกุศลเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร โดยเป้าหมายสูงสุดคือ ครอบครัวและทุกคนในธุรกิจครอบครัวมีความสามัคคีกัน
ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจครอบครัว
สิ่งที่ท้าทายของทายาทซึ่งไม่ว่าจะเป็นเจเนอเรชันไหนก็คือ ทุกบริษัทต้องการความยั่งยืน ต้องการยอดขายที่เติบโต ดังนั้น ต้องมีการปรับโหมดการทำงาน และความรับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย โดยทางออกที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจครอบครัวคือ การจัดตั้งสภาครอบครัว พร้อมกับการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นใช้ภายในครอบครัว ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ บทบาทและความรับผิดชอบในธุรกิจ การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในครอบครัว รวมถึงแนวทางการสืบทอดการบริหารธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น
จะเห็นได้ว่าทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จล้วนมีเป้าหมายในการทำธุรกิจที่ชัดเจน แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า แนวคิดของผู้นำรุ่นใหม่หลายๆ เรื่องนั้นแตกต่างจากผู้นำรุ่นปัจจุบันอยู่พอสมควร ดังนั้น การสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้นำรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัว โดยผู้นำรุ่นปัจจุบันที่เตรียมจะส่งไม้ต่อ ก็ต้องเปิดใจ รับฟัง และเห็นแก่ประโยชน์ขององค์กรในระยะยาว เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล
ควรบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างไร? เพื่อไปให้ถึงรุ่น 4
ตัวอย่างธุรกิจครอบครัวที่บริหารอย่างมืออาชีพ บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด ที่ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและส่งออกยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มจากธรรมชาติ และสารสกัดจากสมุนไพร ที่ยืนหยัดด้วยคุณภาพ และพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง
ทำให้แบรนด์อยู่ได้อย่างยาวนานเกือบศตวรรษ มุ่งมั่นนำองค์กรสู่ 100 ปี พร้อมก้าวสู่รุ่นที่ 4 ด้วยแนวคิดการบริหารที่น่าสนใจด้วยการเชื่อว่า ผู้นำองค์กรต้องยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม ไม่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งนี้จะนำพาธุรกิจให้อยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ‘ขาวละออเภสัช’ ยังเชื่อว่า การสร้างธุรกิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งคือพ่อแม่ทำให้ลูกหลานเห็น อีกทั้งการทำทุกอย่างบนความถูกต้อง และบริหารอย่างโปร่งใสในทุกๆ ด้าน เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงาน ส่งผลให้องค์กรเติบโตต่อไป
‘วัฏจักรธุรกิจครอบครัว’ คือสิ่งสำคัญที่ทายาทผู้สานต่อธุรกิจเรียนรู้ทำความเข้าใจ เพื่อการบริหารกิจการอยู่รอดและประสบความสำเร็จอย่างมีระบบ พร้อมส่งต่อให้รุ่นๆ ต่อไป โดยไม่หยุดเพียงแค่รุ่น 3
อ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, ศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, The Family Firm Institute, ธนาคารกรุงเทพ