มาตรการคว่ำบาตร ทำรัสเซียลำบาก แบรนด์ดังหยุดทำธุรกิจอื้อ!
Highlight
มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ตอบโต้การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะการตัดธนาคารกลางรัสเซียจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT ส่งผลให้แบรนด์ดังระดับโลกเกือบทุกภาคธุรกิจปิดการทำธุรกิจในรัสเซีย ส่งผลค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ อาจทำให้รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ได้
หลายแบรนด์ดังประกาศปิดสาขาในรัสเซียชั่วคราว หลังเกิดข้อจำกัดทางการค้า และปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงัก ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติต่อรัสเซียที่เข้ารุกรานยูเครน
มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ตอบโต้การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะการตัดธนาคารกลางรัสเซียจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT ที่ทำให้ภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆ ไม่สามารถทำธุรกรรมข้ามประเทศได้แบบเรียลไทม์ รวมไปถึงการควบคุมการส่งออกและการปิดพื้นที่ทางอากาศ
มาตรการโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินโลก ตัดบริการ SWIFT
ตัดการเชื่อมต่อของธนาคารรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจากเครือข่ายการโอนเงิน การชำระเงินข้ามประเทศ หรือที่เรียกกันว่า สวิฟต์ (SWIFT) เพื่อให้รัสเซียโดดเดี่ยวจากระบบการเงินโลก
สวิฟต์ (SWIFT) ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคาร” ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2516 โดยธนาคารของยุโรปและสหรัฐหลายแห่งที่ไม่ต้องการให้สถาบันแห่งใดแห่งหนึ่งพัฒนาระบบของตัวเองขึ้นมาและผูกขาด
ทั้งนี้ สวิฟต์เป็นระบบการสื่อสารที่ทำให้มีการโอนเงิน การชำระเงินข้ามประเทศ ที่มีความรวดเร็วและราบรื่น โดยมีการเชื่อมต่อธนาคารและสถาบันต่างๆ 11,000 แห่ง ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีการส่งข้อความมากกว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน มูลค่าธุรกรรมคิดเป็นจำนวนหน่วยกว่าล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีการคาดว่าจำนวนข้อความประมาณ 1% จากจำนวนทั้งหมดมาจากชาวรัสเซีย
ปัจจุบันเครือข่ายสวิฟต์มีธนาคารและสถาบันการเงินเป็นเจ้าของร่วมกันมากกว่า 2,000 แห่ง โดยธนาคารแห่งชาติของเบลเยียมได้ร่วมมือกับธนาคารกลางที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอังกฤษ
ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้
ทำให้ธนาคารกลางรัสเซีย ต้องตอบโต้ด้วยคำสั่งให้ภาคเอกชนในรัสเซีย ขายสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วน 80% ของรายได้ที่ได้จากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ เเละสั่งห้ามโบรกเกอร์ที่ขายหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ทำธุรกรรมทุกประเภทอย่างไม่มีกำหนด พร้อมประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียวสู่ระดับ 20% จากเดิม 9.5% เป็นกรณีฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 10 มี.ค 65 สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียยังคงดิ่งลงเรื่อยๆ ท่ามกลางการคว่ำบาตรของนานาชาติ ส่วนรัสเซียเองห้ามไม่ให้ชาวรัสเซียซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจโลกต้องก้าวถอยหลัง ในวันนี้ 1 รูเบิลรัสเซียนั้นมีมูลค่าเพียง 0.0073 เซ็นต์
ย้อนไปเมื่อเกิดวิกฤติการเงินโลก เมื่อปี พ.ศ 2551 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้พยายามโปรโมตเงินสกุลรูเบิลรัสเซียให้เป็นหนึ่งในทางเลือกแทนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และอ้างว่ารัสเซียจะเป็นหนึ่งในหนึ่งในห้าเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากนั้นรัสเซียได้ยึดครองจอร์เจียและไครเมีย แต่การรุกรานยูเครนครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ความพยายามผลักดันเศรษฐกิจของรัสเซียต้องหยุดชะงัก
ในช่วงต้นปี 2551 เงินมูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถซื้อเงินรูเบิลรัสเซียได้ 25 รูเบิล ก่อนที่ค่าเงินรูเบิลได้อ่อนค่าลงหลังจากนั้น และการรุกรานยูเครนครั้งล่าสุดนี้ส่งผลกระทบให้มูลค่าเงินรูเบิลเข้าขั้นวิกฤติ ล่าสุดเงินมูลค่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถซื้อเงินรูบิลรัสเซียได้ 117 รูเบิล นับว่ามูลค่าตกลง 10 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ธนาคารกลางรัสเซียไม่อนุญาตให้ชาวรัสเซียซื้อเงินสกุลดอลลาร์ พร้อมทั้งสั่งให้ธนาคารจำกัดการถอนเงินสกุลต่างชาติไว้ที่ 10,000 ดอลลาร์ หรือราว 330,000 บาท ไปอีก 6 เดือน
ตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกที่ถอนตัวจากรัสเซียชั่วคราว
IKEA, NIKE, Mango
IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดังระบุว่า บริษัทจะปิดร้านค้าในรัสเซียและชาติพันธมิตรอย่างเบลารุส ซึ่งจะส่ง ผลกระทบต่อพนักงานกว่า 15,000 ราย เเต่ IKEA ชี้เเจงว่าการปิดร้านค้าครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาทางการเมือง
“สงครามได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงัก รวมถึงข้อจำกัดทางการค้าอื่นๆ ทำให้เราต้องตัดสินใจระงับการทำธุรกิจในรัสเซียชั่วคราว”
Nike เเบรนด์กีฬาอย่าง NIKE กำลังประสบปัญหาอย่างมากจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เเละอธิบายถึงการปิดร้านค้าชั่วคราวครั้งนี้ว่า “ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจของเรา Nike จะหยุดดำเนินการในรัสเซีย”
Mango เเบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นจากสเปน ได้ปิดร้านค้าและเว็บไซต์ขายออนไลน์ในรัสเซียชั่วคราวเเล้ว พร้อมด้วย Intel และ Cisco ที่ระงับการขายในรัสเซีย ขณะที่ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ก็กำลังยุติธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งมีพนักงานเกือบ 2,300 คน
ทำให้บริษัทระดับโลกหลายสิบเเบรนด์ ต้องหยุดดำเนินการในรัสเซีย อย่างผู้ผลิตวอดก้ารายใหญ่ Diageo เเละผู้ผลิตรถยนต์ Toyota เเละก่อนหน้านี้เเบรนด์ใหญ่อย่าง Apple, Google , Ford และ Shell ก็ได้ร่วมประณามการโจมตีของรัสเซียด้วย
“โตโยต้า-ฮอนด้า-วอลโว่-ฟอร์ด
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า บริษัทจะระงับการดำเนินงานที่โรงงานในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (4 มี.ค.) เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียในการบุกโจมตียูเครน
ขณะเดียวกัน ฮอนด้า มอเตอร์ คอร์ป ได้ระงับการจัดส่งยานยนต์และรถจักรยานยนต์ให้รัสเซีย ส่วนมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป วางแผนที่จะหยุดการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังโรงงานในรัสเซียเช่นกัน ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับปัญหาทางการเงิน อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตร
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า โรงงานของโตโยต้าในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งมีกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี ผลิตรถอเนกประสงค์รุ่น RAV4 และรถรุ่นคัมรี
โตโยต้าระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทจะยุติการดำเนินงานที่โรงงานในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม พร้อมเสริมว่า การผลิตและการขายของบริษัทในภูมิภาคอื่น ๆ ของยุโรปจะไม่ได้รับผลกระทบ
โตโยต้าเริ่มการผลิตในรัสเซียเมื่อปี 2550 ขณะที่ในปีที่ผ่านมา บริษัทผลิตรถยนต์ในรัสเซียประมาณ 80,000 คัน โดยโตโยต้ามีฐานการขายในกรุงมอสโก
ทั้งนี้ การตัดสินใจของฮอนด้าในการยุติการจัดส่งแก่รัสเซียมีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รายนี้วางแผนมานานแล้วว่าจะยุติการส่งออกไปยังรัสเซียในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. เนื่องจากยอดขายที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
ด้าน Volvo Car AB ผู้ผลิตรถบรรทุกยังประกาศด้วยว่าพวกเขาจะหยุดการขายและการผลิตในรัสเซีย เช่นเดียว Harley-Davidson Inc. กล่าวในแถลงการณ์ว่าได้ระงับธุรกิจในรัสเซียแล้ว ส่วนบริษัท General Motors กล่าวว่ากำลังระงับการจัดส่งรถยนต์ไปยังรัสเซีย โดยอ้างถึง “ปัจจัยภายนอกหลายประการ รวมถึงปัญหาด้านซัพพลายเชนและเรื่องอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท” จากข้อมูลพบว่าจีเอ็มส่งออกรถยนต์ประมาณ 3,000 คันต่อปีจากสหรัฐอเมริกาไปยังรัสเซีย
ฟอร์ด บริษัทรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ประกาศว่ากำลังระงับการดำเนินงานในรัสเซีย ฟอร์ดกล่าวเมื่อวันอังคารว่า “กังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน” แต่ก็ยังไม่ได้หยุดดำเนินการในโรงงานทั้งสามเมืองของรัสเซียได้แก่ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เอลาบูกา และนาเบเรจเนีย เชลนี่
บริษัทพลังงาน การเงิน ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย
รอยเตอร์สรายงานเมื่อต้นเดือนมีนาคม ว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ลุกลามบานปลายในขณะนี้ ส่งผลให้บรรดาบริษัทเอกชนรายใหญ่จากตะวันตกจำนวนมาก แสดงความประสงค์ถอนตัวจากการลงทุนในรัสเซียเพิ่มมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา
บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สองแห่งคือ BP ประกาศถอนหุ้นจำนวน 19.75% ที่ถืออยู่ในบริษัทน้ำมัน Rosneft คิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่ง BP ถือเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ทั้งยังมีประวัติร่วมลงทุนทางด้านพลังงานมานานกว่า 30 ปี โดยบริษัท Rosneft ก็มีความสำคัญกับ BP เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองของ BP เกือบ 1 ใน 3
ไม่เพียงแค่ BP เท่านั้น บริษัทน้ำมัน Shell ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งระบุในคำแถลงการณ์ของบริษัทประฌามการรุกรานอย่างไร้เหตุผลของรัสเซีย อีกทั้งประกาศว่าจะยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทพลังงาน Gazprom รัฐวิสาหกิจรัสเซีย ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวรวมถึงโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาตเหลว Sakhalin-II ที่จะถูกส่งผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ซึ่งเยอรมนีปิดกั้นไปเมื่อเดือนที่แล้ว
Equinor ASA รัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของนอร์เวย์ เป็นอีกหนึ่งนักลงทุนที่ประกาศว่าเตรียมถอนตัวจากการลงทุนในรัสเซีย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขณะนี้เหลือบริษัทพลังงานจากตะวันตกเพียง 2 รายคือ Exxon ที่ดูแลแท่นขุดเจาะ Sakhalin-1 ร่วมกับบริษัท Rosneft
ขณะที่ TotalEnergies ของฝรั่งเศส ที่ยังคงถือหุ้นอยู่ใน Novatek PJSC เอกชนผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครน ซีอีโอของ TotalEnergies กล่าวว่า บริษัทมีจุดยืนอย่างชัดเจนไม่เห็นด้วยต่อการรุกรานอธิปไตยยูเครนของรัสเซีย ทั้งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเช่นกัน
อีกทั้งยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเนื่องระยะยาวต่อความมั่นคงด้านพลังงานทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กรณีของ TotalEnergies นักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์เชื่อว่า บริษัทอาจมีแรงกดดันที่ต่างออกไปจากบริษัทน้ำมัน BP ของอังกฤษ เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลรัสเซียมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ต่างจากสหราชอาณาจักร
ไม่เพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น ภาคการธนาคาร สายการบิน ผู้ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ตัดสินใจยุติการให้บริการ หรือสายพานการผลิตในรัสเซียเช่นกัน ขณะที่บางส่วนกล่าวว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา Warner Bros. ยักษ์ใหญ่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด กล่าวว่า ยกเลิกการฉายภาพยนตร์ “The Batman” จากโรงภาพยนตร์ในสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับ Walt Disney Co เป็นบริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์อีกรายประกาศระงับการให้บริการสตรีมมิ่งในรัสเซียชั่วคราว ส่วน Mastercard กล่าวว่าได้ปิดกั้นสถาบันการเงินหลายแห่งจากเครือข่ายการชำระเงินอันเป็นผลมาจากการคว่ำบาตร
ท่ามกลางกระแสการแห่ถอนการลงทุนและบอยคอตการให้บริการในรัสเซีย แรงกดดันยังมีต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ร่วมทุนกับรัสเซีย โดย Daimler Truck Holding AG หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่าจะหยุดกิจกรรมทางธุรกิจในรัสเซียจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม และอาจทบทวนความสัมพันธ์กับ Kamaz PJSC ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนในท้องถิ่น จากผลกระทบของสงครามยูเครน
โบอิ้ง และแอร์บัส กล่าวว่าจะระงับการสนับสนุนสายการบินรัสเซีย หยุดให้บริการอะไหล่ การบำรุงรักษา และการสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับสายการบินรัสเซีย และยังระงับการดำเนินงานหลักในมอสโกและปิดสำนักงานในเคียฟชั่วคราว
บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อบันเทิง ร่วมแบน
แอปเปิ้ล หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรัสเซีย และจำกัดการเข้าถึงบริการดิจิทัล เช่น แอปเปิ้ลเพย์ ในรัสเซีย และจำกัดความพร้อมใช้งานของแอพพลิเคชันสื่อของรัฐของรัสเซียนอกประเทศ
เฟซบุ๊ก บล็อกการเข้าถึงสำนักข่าวรัสเซีย ทั่วทั้งสหภาพยุโรป และยังกล่าวอีกว่าได้ใช้การจำกัดอัลกอริธึมกับสื่อของรัฐรัสเซีย ที่ควรป้องกันไม่ให้ปรากฏเด่นชัดในฟีดของผู้ใช้
ทวิตเตอร์ ได้ประกาศแผนการที่จะ “ลดการมองเห็นและการขยาย” ของเนื้อหาสื่อของรัฐรัสเซียในทำนองเดียวกัน
เน็ตฟลิกซ์ ปฏิเสธที่จะออกอากาศในประเทศรัฐรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่สตรีมเมอร์จะต้องทำตามกฎหมายของรัสเซียในสัปดาห์นี้
สปอติฟาย ปิดสำนักงานในรัสเซีย “อย่างไม่มีกำหนด” และจำกัดการแสดงที่ “เป็นเจ้าของและดำเนินการโดยสื่อในเครือของรัฐรัสเซีย” ลบเนื้อหาทั้งหมดออกจากบริการสตรีมมิ่งในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ
โรกู บริษัทที่ขายฮาร์ดแวร์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สตรีมเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตได้สั่งห้าม RT ทั่วโลก
ยูทูป ซึ่งเป็นเจ้าของโดยกูเกิ้ล ได้บล็อกสื่อของรัฐรัสเซียในยูเครนรวมถึง RT แพลตฟอร์มวิดีโอยังกล่าวด้วยว่าจะเป็น “การจำกัดการแนะนำช่องเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญ” กูเกิ้ลและยูทูปยังได้กล่าวว่าพวกเขาจะไม่อนุญาตให้สื่อของรัฐรัสเซียแสดงโฆษณาหรือสร้างรายได้จากเนื้อหาของพวกเขาอีกต่อไป