แชร์ลูกโซ่ ภัยร้ายที่พุ่งสูงเมื่อเศรษฐกิจตกสะเก็ด
Highlight
“ลงทุนในคริปโต มอบผลตอบแทนเดือนละ 8% สนใจคลิก” “เทรด Forex สร้างผลตอบแทนสูง” ข้อความเหล่านี้ กำลังเข้ามาในชีวิตเรามากขึ้น ทั้งในรูปแบบโทรมาชักชวน sms อีเมล ผ่านแอพลิเคชั่นแชทต่างๆ หรือที่หนักที่สัด คือคนรู้จักหรือเพื่อน โทรมาชักชวนกันเอง เพราะบอกว่าเคยได้รับผลตอบแทนสูงมาแล้วจริงๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามไปเพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่หลงกล เพราะต้องการผลตอบแทนสูง หรือบางคนที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็อยากลองเสี่ยง เพราะคิดว่าตัวเองจะหนีทันก่อนวงแชร์ลูกโซ่นี้จะล้ม
ขบวนการแชร์ลูกโซ่ถือว่า อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยจะมีการระบาดหนักในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ ประชาชนตกงาน และขาดรายได้ ยิ่งเมื่อบวกกับ ความทันสมัยที่มากขึ้นของเทคโนโลยี ระบบแชร์ลูกโซ่ที่เคยทำกันในลักษณะปากต่อปากในอดีตก็ปรับเปลี่ยนและทำให้มีการแพร่หลายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
วราทิพย์ อากาหยี่ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยว่า ขบวนการแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมานานและยังคงอยู่ในสังคมไทย แม้ว่า การประชาสัมพันธ์หรือการให้ความรู้แก่ประชาชนจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเห็นปรากฎการณ์ลงทุนในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำ ประชาชนตกงานและขาดรายได้ ยิ่งเป็นช่องทางที่ขบวนการมิจฉาชีพจะได้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้
ทั้งนี้ จากการสอบถามหรือสัมภาษณ์กลุ่มคนที่มาร้องเรียนว่าถูกขบวนการแชร์ลูกโซ่หลอกลวงนั้น จะพบว่า ส่วนใหญ่จะทราบดีว่า การลงทุนจากการชักชวนของขบวนการแชร์ลูกโซ่นั้น เป็นการลงทุนนอกระบบ ไม่มีหน่วยงานใดมากำกับดูแล แต่สาเหตุที่ลงทุนเป็นเพราะต้องการผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น
ผลตอบแทนสูง จุดเริ่มต้นถูกหลอก
วราทิพย์เล่าว่า ขบวนการแชร์ลูกโซ่จะหลอกล่อให้ประชาชนลงทุนด้วยผลตอบแทนสูง หรือ อาจจะสูงเกิน 100% ของวงเงินลงทุน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กับ ผู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูง หรือ เรียกว่า โลภ ได้กระโดดเข้ามาลงทุน ซึ่งการได้ผลตอบแทนในระดับสูงในระยะแรก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความละโมบและลงทุนต่อ และ ยังชักชวนให้ผู้อื่นลงทุนอีกด้วย
“ข้อสังเกตหลักว่า นี่เป็นขบวนการหลอกลวงที่เรียกว่า แชร์ลูกโซ่ คือ การชักชวนให้ลงทุนในลักษณะที่เป็นเครือข่ายโดยให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นหรือภายในไม่กี่วัน เช่น อาจจะลงทุนด้วยเงิน 100 บาท จากนั้น ภายใน 2-3 วัน จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินกลับมา 100 บาท เมื่อผู้ลงทุนเห็นว่า ได้ผลตอบแทนดี ก็นำเงินไปลงทุนเพิ่ม บางรายลงทุนเป็นหลักล้านบาทเลยทีเดียว แต่เมื่อลงทุนไปมากๆแล้ว กลับไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเหมือนระยะแรก”
กลโกงเปลี่ยนตามเทคโนโลยี
สำหรับรูปแบบของแชร์ลูกโซ่นั้น จะเปลี่ยนไปตามการปรับเปลี่ยนของสถานการณ์เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ในอดีตอาจให้มีการลงทุนในราคาสินค้าเกษตร ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยน แต่ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่กระทำผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านแอพลิเคชันต่างๆ เช่น ผ่านการเล่นเกมส์ ซึ่งกลุ่มคนที่จะถูกหลอกส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น หรือกลุ่มที่มีความรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย โดยเฉพาะการเขียนรีวิวผ่านระบบออนไลน์เพื่อสร้างฉากของผลตอบแทนของพวกหน้าม้า ยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
ลักษณะของแชร์ลูกโซ่ผ่านการเล่นเกมส์นั้น วราทิพย์เล่าว่า จะมีลักษณะการชักชวนให้ลงทุน โดยต้องใส่ค่าสมัครเล่นเกมส์ในอัตราสูง และ สัญญาจะให้ผลตอบแทนที่สูง เมื่อเข้าไปเล่นเกมส์ภายในระยะเวลาที่กำหนด และ ทำการชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาเล่นเกมส์เพิ่ม เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งผู้ลงทุนจะไม่ได้ผลตอบแทน เท่ากับเป็นการถูกหลอกให้ลงทุน โดยบริษัทที่หลอกให้ลงทุนและผู้ลงทุนโดยการชักชวนบุคคลอื่นเข้าร่วม จะถือว่า เป็นการกระทำความผิด
ระบาดหนักช่วงโควิด
ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ถือเป็นช่วงนาทีทองของขบวนการแชร์ลูกโซ่ ซึ่งวราทิพย์บอกว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทาง สศค.ได้รับการประสานงานจากตำรวจในการเข้าไปร่วมให้ข้อมูลหรือตรวจสอบผู้กระทำความผิดจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะสอบถามสถานการณ์การเงินในปัจจุบัน เช่น อัตราดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงิน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการเล่นแชร์ลูกโซ่
“ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินจะอยู่ที่ไม่เกิน 3.5% เท่านั้น ฉะนั้น หากมีใครมาบอกว่า ถ้าเข้าร่วมลงทุนแล้วจะให้ผลตอบแทนเกิน 5% ให้ถือว่า เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และ อาจเข้าข่ายการลงทุนนอกระบบ”
แนะตรวจสอบให้ดีก่อนลงทุน
เพื่อให้แน่ใจว่า การลงทุนนี้ จะไม่เป็นการหลอกลวง เราขอแนะนำให้ผู้ลงทุนทำการตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กรณีถูกชักชวนให้ลงทุนในราคาหุ้นหรือทองคำ ก็ให้เช็คจากตลากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีชักชวนให้ลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนก็สามารถเช็คได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
“เราต้องสามารถเช็คให้ได้ก่อนว่า ผู้ประกอบธุรกิจเป็นใคร มีตัวตนหรือไม่ มีผลประกอบการอย่างไร ถ้าเป็นขบวนการมิจฉาชีพจะตรวจสอบตัวตนไม่พบจากหน่วยงานที่กำกับดูแล ฉะนั้น ก็สรุปได้เลยว่า พวกนี้ คือ มิจฉาชีพ”
ถูกหลอกแล้วทำอย่างไร
เมื่อผู้ลงทุนถูกหลอกให้ลงทุนโดยไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่สัญญากันไว้ สามารถเข้าร้องเรียนหรือแจ้งความไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้ เช่น ตำรวจ หรือ กระทรวงการคลัง เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวช่วยติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม ในแง่เงินคืนนั้น อาจไม่ได้เต็มจำนวน เพราะผู้กระทำผิดอาจจะไม่มีเงินมาคืนให้ เนื่องจาก มีผู้เสียหายจำนวนมาก และกว่าที่คดีจะสิ้นสุดหรือทำการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดได้ ก็อาจจะใช้เวลานาน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ได้เปิดสายด่วน 1359 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงทางการเงินต่างๆ ด้วย