คนไทยมีความสุขน้อยที่สุดในรอบ 11 ปี
Highlight
เราเคยได้ยินข่าวมาบ้างว่าจากการสำรวจ ประเทศไทยมักจะติดอันดับประเทศที่มีความสุขเป็นลำดับต้นๆ แต่เราก็มักจะสงสัยว่า จริงเหรอ? เพราะหันมามองชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ ก็ไม่น่าจะมีความสุขมากขนาดนั้น แต่ก็เข้าใจได้เพราะแต่ละการสำรวจก็จะมีมาตรวัดที่แตกต่างกันไป ลองมาดูผลของอีกค่ายหนึ่งบ้างดีกว่า เพราะเขากำลังบอกเราว่าคนไทยมีความสุขน้อยที่สุดในรอบ 11 ปี
จากข้อมูลของรายงาน World Happiness Report (WHR) ที่ได้วัดคะแนนความสุข (Happiness score) และจัดอันดับในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,000 รายต่อประเทศต่อปี ว่ามีความสุขมากน้อยเพียงใด (Subjective well-being) ซึ่งคะแนนเต็ม 10 หมายถึงมีความสุขมากที่สุด และ 0 หมายถึงมีความสุขน้อยที่สุด และนำค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาเป็นตัวแทนคะแนนความสุขของแต่ละประเทศ ทั้งนี้หากใช้คะแนนความสุขเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังปี 2561-2563 ที่ผ่านมา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ในขณะที่อัฟกานิสถาน ซิมบับเว และรวันดาเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก โดยหากพิจารณาถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน (ยกเว้นบรูไนที่ไม่มีข้อมูล) พบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุด (อันดับที่ 32) ตามมาด้วยไทย (อันดับที่ 54) และฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 61) ในขณะที่กัมพูชา (อันดับที่ 114) และเมียนมา (อันดับที่ 127) เป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นอันดับและคะแนนที่จัดก่อนเกิดการรัฐประหารในเมียนมา
ถึงแม้ว่าอันดับที่ 54 จาก 149 ประเทศ ของไทยนั้นจะเป็นอันดับที่อยู่ในระดับกลาง ๆ แต่หากพิจารณาข้อมูลในอดีตจะพบว่าเป็นอันดับที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากอันดับที่ 32 จาก 155 ประเทศ ในปี 2559 มาอยู่ที่อันดับ 54 ในปี 2563 สอดคล้องกับคะแนนความสุขของไทยที่ลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี (2553-2563) โดยลดลงจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2552-2554 ที่ 6.12 คะแนน เหลือเพียง 5.97 ในช่วงปี 2561-2563 ขณะที่คะแนนความสุขเฉลี่ยของคนทั่วโลกพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.46 คะแนน (เฉลี่ยปี 2552-2554) เป็น 5.64 คะแนน (เฉลี่ยปี 2561-2563)
WHR ได้ทำการศึกษาและสรุปไว้ว่ามีปัจจัยหลัก 6 อย่าง ที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของคะแนนความสุขได้ดี ประกอบด้วย รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) การได้รับการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งหมายถึงการมีบุคคลที่สามารถพึ่งพาได้ในยามลำบาก โดยเฉพาะญาติหรือเพื่อนสนิท (Social support) อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ณ แรกเกิด (Healthy life expectancy at birth) เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต (Freedom to make life choices) ความเอื้ออารีในสังคม (Generosity) และการรับรู้ต่อการทุจริตในสังคม ซึ่งหมายถึงการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (Perceptions of corruption)
ในส่วนของไทย เมื่อพิจารณาสาเหตุที่กำหนดระดับความสุขจากทั้ง 6 ปัจจัยในช่วงปี 2552-2563 พบว่า
- อันดับรายได้ต่อประชากรและอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ณ แรกเกิดปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่อาจทำให้คนไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น
- อันดับความเอื้ออารีในสังคม การได้รับการสนับสนุนทางสังคม และเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต ปรับลดลงในช่วงหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อันดับความสุขของคนไทยในภาพรวมปรับลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้อันดับความเอื้ออารีในสังคมจะปรับลดลง แต่ก็ยังอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก สะท้อนลักษณะเด่นของสังคมไทยด้านความเอื้ออารีต่อกัน
- ในส่วนของการรับรู้ต่อการทุจริตในสังคม แม้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในลำดับรั้งท้ายของโลก และยังแย่กว่าในช่วงปี 2552-2554 สะท้อนว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นปัจจัยฉุดความสุขในภาพรวมของคนไทย
- นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยอื่น ๆ ที่ทำให้คะแนนและอันดับความสุขของคนไทยลดลง เช่น สภาพแวดล้อมทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม หนี้ครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เป็นต้น
ทั้งนี้คงจะดีไม่น้อยหากในประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลคะแนนความสุขของประชากรเป็นประจำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนในการทำความเข้าใจว่าประชาชนกลุ่มใดที่มีระดับความสุขเท่าใด ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพราะเหตุใด และสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
โดยสรุป ถึงแม้ว่าคะแนนความสุขเฉลี่ยของคนทั่วโลกจะสูงขึ้น แต่คะแนนความสุขของคนไทยได้มีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสุขของคนไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลกประกอบด้วย ความเอื้ออารีในสังคม การสนับสนุนทางสังคม และเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตที่ปรับลดลงในช่วงหลัง อีกทั้งอาจยังมีปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยที่ทำให้คะแนนความสุขของคนไทยลดลง เช่น สภาพแวดล้อมทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม หนี้ครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อมองไปข้างหน้า ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับความสุขของคนไทย ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซาจาก COVID-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตรอบที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่แย่ลง รวมถึงปัญหาคอร์รัปชันที่แพร่หลาย
ที่มา : SCB EIC