10 พฤศจิกายน 2564
1,738

น้ำมันแพง อาหารแพง ฉุดคนไทย รัดเข็มขัดช่วงปลายปี

น้ำมันแพง อาหารแพง ฉุดคนไทย รัดเข็มขัดช่วงปลายปี
Highlight
จากที่เคยเติมน้ำมันเต็มถังแค่ราวๆ 1000 บาท มาในวันนี้ เงิน 1000 บาท อาจเติมได้แค่ครึ่งถังเศษ เช่นเดียวกับที่การไปตลาดซื้อผัก ซื้ออาหาร เราแทบจะต้องขยี้ตา ดูป้ายราคาใหม่ ว่าใช่หรือเปล่า ภาวะข้าวของที่แพงขึ้นในช่วงนี้ กำลังส่งผลให้คนไทยต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น และอาจกระทบกับการท่องเที่ยวช่วงปลายปี เพราะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนเลือกจะตัดทิ้งหากต้องประหยัด

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในเดือนต.ค. 64 ครัวเรือนมีกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนต.ค. 64 และอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 34.9 และ 36.7 จากในเดือนก.ย.64 ที่ 36.6 และ 38.4 แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเริ่มทรงตัว สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการทยอยผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือและการจัดการของครัวเรือนต่อราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นพบว่า ครัวเรือน 41.0% จะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ ขณะที่อีก 39.4% ระบุว่าจะใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในปริมาณที่น้อยลงต่อครั้งเพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น ซึ่งวิธีการรับมือต่าง ๆ ของภาคครัวเรือนจะเห็นว่าเป็นการลดทอนแรงหนุนจากการบริโภคครัวเรือนที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ในระยะข้างหน้า การเริ่มเปิดประเทศ (1 พ.ย. 64) และการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดต่าง ๆ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อการปรับขึ้นของราคาพืชผักอาจมีแนวโน้มผ่อนคลายลงได้บ้าง หลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลงและเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว แต่สถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูงอาจต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณการผลิตจึงอาจยังเห็นราคาพลังงานที่สูงกดดันต้นทุนค่าขนส่งและอาจส่งผลกระทบมายังต้นทุนสินค้าและบริการอื่น ๆ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจึงยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์พลังงานที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในส่วนของการบริโภคยังมีความจำเป็นต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินการเปิดประเทศด้วยมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ชัดเจน 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
ติดต่อโฆษณา!