14 พฤศจิกายน 2564
1,887
ตอบปัญหาประกันชีวิต แบ่งเงินมาซื้อเท่าไหร่ถึงพอดี?
Highlight
ในยุคนี้ คนไทยเปิดใจรับกับประกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งโควิด ก็น่าจะเป็นเครื่องตอกย้ำว่าถ้าเรามีประกันคุ้มครอง ก็ช่วยลดทอนความเสี่ยงไปได้ แต่หลายคน คงมีคำถามว่า แล้วเราควรแบ่งเงินมาทำประกันมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันในรูปแบบเงินออม เพราะแน่นอนว่า ถ้าทำประกันมากเกินไป ก็เป็นผลเสีย เพราะประกันเน้นที่การคุ้มครอง แต่ให้ผลตอบแทนน้อย หรือบางกรมธรรม์ ก็ไม่ได้เลย แล้วเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าพอดี ทันข่าว Today มีคำตอบมาฝาก
ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตสักฉบับ เราควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ทั้งเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความเสี่ยงด้านการทำงาน หรือรูปแบบประกันและความคุ้มครองที่เหมาะสม นอกจากนี้สิ่งที่ลืมไม่ได้ก่อนตัดสินใจซื้อประกัน คือ การแบ่งเงินมาซื้อประกันให้เหมาะสมกับรายได้ อย่าลืมว่าเมื่อซื้อประกันแล้วจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาว ถ้าไม่วางแผนตั้งแต่ต้นอาจเกิดปัญหาทางการเงินได้
คำถามที่ตามมาคือ ควรจะทำทุนประกันเท่าไรจึงจะพอเหมาะพอดี และเบี้ยที่จ่ายควรจะจ่ายปีละเท่าไร หลักการเลือกทุนประกันที่ทำแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัว คือ ทำแบบพอดี ไม่ใช่ทำด้วยทุนประกันสูง ๆ แล้วต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันปีละมาก ๆ จนต้องล้มเลิกกลางคัน ดังนั้น การชำระเบี้ยประกันที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ
การแบ่งสัดส่วนรายได้เพื่อนำมาซื้อประกันอย่างเหมาะสมจะทำให้สามารถชำระเบี้ยประกันได้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญา โดยการจัดสรรเงินเพื่อทำประกันในเบื้องต้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการได้มาของรายได้ คือ ผู้ที่มีรายได้หลักจากเงินเดือนและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ในแต่ละเดือนไม่แน่นอน หรือฟรีแลนซ์
หากแบ่งประเภทตามลักษณะการได้มาของรายได้ พบว่าผู้ที่มีรายได้สม่ำเสมอและแน่นอนจากเงินเดือนสามารถวางแผนด้วยการแบ่งเงินมาทำประกันได้ง่าย โดยใช้หลักการง่าย ๆ คือ ควรแบ่งเงินประมาณ 10% ของรายได้ในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี มาทำประกัน อย่างไรก็ตาม หากมีภาระความจำเป็นไม่มาก ค่าใช้จ่ายน้อย ก็สามารถแบ่งเงินมาทำประกันมากขึ้นได้ เช่น 15% หรือ 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน (ที่มา : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย)
เช่น เริ่มทำงานได้เงินเดือนละ 15,000 บาท แบ่งเงินมา 10% ของรายได้ต่อเดือนเพื่อทำประกัน (1,500 บาทต่อเดือน) และเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น หากยังคงรักษาสัดส่วนแบ่งเงินมาทำประกันเอาไว้ในระดับเดิม (เช่น 10% ของรายได้ต่อเดือน) ก็สามารถมีเงินเก็บและมีความคุ้มครองทางประกันที่มากขึ้นในอนาคต เช่น เงินเดือน 50,000 บาท ขณะที่สัดส่วนการทำประกันยังคงไว้ที่ 10% ของรายได้ต่อเดือน (5,000 บาทต่อเดือน) ดังนั้น ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้สัดส่วนการทำประกันยังคงที่แต่เบี้ยประกันที่จ่ายมากขึ้น ก็จะทำให้ได้รับความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับการแบ่งเงินมาซื้อประกันของผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมีข้อจำกัดด้านรายได้ สามารถเริ่มคำนวณจากรายได้ที่คาดว่าจะหาได้ในปีนั้น ๆ และเนื่องจากมีรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น การแบ่งเงินมาซื้อจึงขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน และเพื่อลดปัญหาการไม่มีเงินจ่ายเบี้ยประกัน ควรเลือกทำประกันที่จ่ายเบี้ยประกันครั้งเดียวต่อปี
เมื่อเอ่ยถึงการทำประกันชีวิต หลายคนอาจเข้าใจว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสูง ๆ ทำให้ไม่คิดจะทำประกัน ข้อเท็จจริง คือ ประกันชีวิตมีหลายแบบ มีค่าเบี้ยประกันต่างกัน และมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะพิจารณาถึงการแบ่งเงินมาซื้อที่เหมาะสมแล้ว ควรเปรียบเทียบความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันแต่ละแบบด้วย
แต่อย่างไรก็ดี เราควรใช้ประกัน ในด้านของการป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก ส่วนถ้าต้องการแสวงหาผลตอบแทน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น กองทุนรวม จะตอบโจทย์มากกว่า