15 พฤศจิกายน 2564
1,569

คปภ. ห้ามบริษัทประกันภัย “ยกเลิก”หรือ “เปลี่ยน”กรมธรรม์ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ยกเว้นเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกัน

คปภ. ห้ามบริษัทประกันภัย “ยกเลิก”หรือ “เปลี่ยน”กรมธรรม์ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ยกเว้นเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกัน
Highlight

ยอดเคลมโควิด-19 พุ่งพรวดทะลุ 3 หมื่นล้านบาทในช่วง 10 เดือนของปีนี้ และมีแนวโน้มแตะ 4 หมื่นล้านบาทในช่วงสิ้นปี ส่งผลให้อย่างน้อย 16 บริษัทประกันภัยประสบปัญหาจ่ายล่าช้า หรือขาดสภาพคล่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท เดอะวัน ประกันภัย ได้ส่ง SMS และจดหมายถึงลูกค้าผู้เอาประกันขอยกเลิกกรมธรรม์หรือเปลี่ยนไปใช้ประกันในรูปแบบอื่นแทนโดยให้ตอบภายใน 7 วัน  ในขณะที่สมาคมประกันวินาศภัยก็ส่งหนังสือถึง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เพื่อให้ คปภ.พิจารณา “ยกเลิก” หรือ “เปลี่ยน” กรมธรรม์ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาลุกลามทั้งระบบได้ แต่ในที่สุด คปภ.ไม่เห็นด้วย และห้ามบังคับประชาชนให้ ยกเลิก หรือ เปลี่ยน


เรื่องดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับประชาชน ผู้ซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว และได้ร้องเรียนต่อ คปภ. ซึ่งต่อมา คปภ.ได้นัดหมายกับสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อประชุมหารือและหาทางช่วยเหลือบริษัทประกันภัยในวันนี้ (15 พ.ย.) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ตามที่สมาคมประกันภัยวินาศภัยไทย มีหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ถึงประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อขอให้พิจารณาทบทวน Macroprudential Supervision สำหรับการรับประกันภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) พิจารณาทบทวนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564

ต่อมานายกสมาคมประกันวินาศภัยมีหนังสือลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ขอเข้าพบเพื่อรายงานสถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัย โควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ รวมทั้งนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่อง ข้อกำหนดห้ามไม่ให้บริษัทรับประกันเพื่อวินาศภัยอันเดียวกันเกินกว่า 10% ของเงินกองทุนตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากหากเกิดความเสียหายขนาดใหญ่ขึ้นแล้วการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อฐานะความมั่นคงทางการเงินของบริษัทได้ นายสุทธิพล กล่าว 

นายสุทธิพลกล่าวว่า กรณีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย โควิด-19 ถือเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ และได้ส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยเกินกว่า 10% ไปเป็นจํานวนมากนั้น นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยและกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาและประมาณการค่าสินไหมทดแทนประกันภัย โควิด-19 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายประกันภัย โควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ จะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะส่งผลให้บริษัทมีปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน เนื่องจากมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าในอนาคตจะสูงขึ้นอีก จึงมีความจำเป็นที่ต้องขอ “ยกเลิก” คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัย โควิด-19 ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันให้ยึดถือประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญในการแก้ไขปัญหา

โดยสำนักงาน คปภ.ยินดีที่จะรับฟังข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมของรายบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายประกันภัย โควิด-19 แบบเจอจ่ายจบเพื่อพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบให้ตรงกับปัญหาของแต่ละบริษัท และส่งเสริมการทำทางเลือกให้ผู้เอาประกันภัยเลือกเปลี่ยนความคุ้มครองหรือประเภทกรมธรรม์ประกันภัยหรือทางเลือกอื่นๆ ด้วยความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย จึงเห็นว่าบริษัทที่ประสบปัญหาสามารถใช้แนวทางนี้ในการบรรเทาผลกระทบไปก่อนได้

ส่วนประเด็นที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่อง การขอยกเลิกเงื่อนไข การใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เพราะสำนักงาน คปภ.เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกัยภัยโดยภาพรวมด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ.จะได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งที่ประชุมมีมติดังนี้

1. การดำเนินการในแก้ปัญหา สำนักงาน คปภ.จะยึดถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ

2. คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ยังมีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ บริษัทต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกัน จะได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรการ ที่เหมาะสมต่อไป

3. สำนักงาน คปภ.ได้รับทราบความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และยินดีให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นวิกฤต โดยที่ผ่านมา คปภ.ได้ผ่อนคลายกฎกติกาให้ไปแล้วหลายเรื่อง แต่มาตรการการช่วยเหลือบริษัทที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด จะต้องขึ้นอยู่กับสถิติ ตัวเลขข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้อง แม่นยำและผลกระทบต่างๆ ในทุกมิติ ซึ่งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน และต้องไม่เป็นการรอนสิทธิของประชาชนผู้เอาประกันภัย

4. จะเร่งเชิญบริษัทประกันวินาศภัยที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ มาสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการจัดทำ Stress Test เพื่อประเมินความทนทานของรายบริษัท และระบบประกันภัยภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลองสำหรับการแพร่ระบาดของ โควิด-19

5.บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย โควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ อาจพิจารณา เข้าร่วมโครงการผ่อนผันเพิ่มเติม เพื่อเสริมมาตรการเยียวยาให้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย โควิด-19 ให้กับผู้เอาประกันภัยได้มากขึ้น

6. หากสมาคมฯ ต้องการเสนอมาตรการผ่อนผันเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบ ให้เร่งนำเสนอ เพื่อสำนักงาน คปภ.จะได้กลั่นกรองและเร่งนำเสนอต่อบอร์ด คปภ.โดยเร็ว

7.ในระหว่างที่มีการดำเนินการข้างต้น หากบริษัทประกันวินาศภัยใดที่ประสบปัญหาต้องการดำเนินการเพื่อมิให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องลุกลามบานปลาย การเสนอแนวทางปรับปรุงเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 โดยเสนอทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทเดิม หรือปรับเปลี่ยนไปให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นที่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยมากขึ้น สามารถกระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นเรื่อง ความสมัครใจของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น บริษัทไม่สามารถไปบังคับผู้เอาประกันภัยให้ยอมรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย หรือยอมรับเงื่อนไขความคุ้มครองใหม่ของบริษัท 

ดังนั้นการเปลี่ยนสิทธิหน้าที่หรือความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยจะสามารถกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้มีการแสดงเจตนา หรือให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งในการตอบรับข้อเสนอของบริษัทเท่านั้น

นอกจากนี้ ในกรณีของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ผู้บริหารของบริษัทชี้แจงและได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้รับการยืนยันว่า การดำเนินการของบริษัทเป็นการเสนอทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัย โดยเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย จะไม่มีการบังคับผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด โดยเป็นวิธีการที่บริษัทพยายามหาแนวทางบริหารความเสี่ยงเพื่อลดปัญหาการขาดสภาพคล่องเพื่อให้อยู่รอดได้ และยืนยันจะปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน โดยสำนักงาน คปภ.ได้กำชับให้บริษัทดำเนินการดังกล่าว ด้วยความสมัครใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับทางเลือกที่เป็นข้อเสนอของบริษัท สัญญาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยก็ยังมีผลบังคับต่อไปเหมือนเดิมทุกประการ

“ขอให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่า สำนักงาน คปภ.จะดำเนินการอย่างเต็มที่ และจะติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย แต่อย่างไรก็ตาม ก็พร้อมที่จะรับฟังและหามาตรการเยียวยาปัญหาให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย COVID-19 ด้วย เพราะการประกอบธุรกิจประกันภัยต้องอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของประชาชน” นายสุทธิพลกล่าว

ที่มา : คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ติดต่อโฆษณา!