5 เทคนิคแก้หนี้ ทำตามนี้ หนี้หมดไว
Highlight
หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง และน่าจะสูงต่อเนื่องไปอีกระยะ แม้สถาการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย เพราะหนี้ที่ก่อขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ คงต้องใช้เวลาในการจัดการ อย่างไรก็ดี ถ้าหากเป็นหนี้ แล้วอยากเคลียร์ให้จบภาระไวๆ ทันข่าว Today มีเทคนิคมาฝาก
1. ทำรายการหนี้ทั้งหมด
ก่อนคิดกลยุทธ์ว่าจะปลดหนี้ได้อย่างไร ก็ต้องเห็นจำนวนหนี้ทั้งหมดและรายละเอียดต่าง ๆ ของหนี้ เช่น จำนวนเงินที่ต้องชำระขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย รวมถึงจำนวนเงินที่ค้างชำระทั้งหมด ที่สำคัญต้องรวบรวมรายการหนี้ทั้งหมดเอาไว้เพื่อให้เห็นภาพรวม ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ ไปจนถึงหนี้ที่ยืมมาจากคนรอบข้างและหนี้นอกระบบ
2. จัดอันดับหนี้
เมื่อเห็นภาพรวมของหนี้ทั้งหมดแล้ว ถัดไปต้องจัดลำดับหนี้ที่ต้องชำระ โดยหลัก ๆ แล้ว มี 2 วิธี คือ ชำระหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนอื่นได้ และช่วยสร้างกำลังใจในการบริหารจัดการหนี้ก้อนต่อ ๆ ไป ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การชำระหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงที่สุด ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดเงินค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม การที่จะเลือกวิธีไหนนั้นก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
3. หาเงินเพื่อชำระหนี้
มาถึงตรงนี้ก็ต้องสำรวจว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ในแต่ละเดือนเพื่อนำไปชำระหนี้ ถ้าเงินเหลือไม่เพียงพอก็ต้องหาทางแก้ไข ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดและลงมือทำได้ทันที คือ การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ การขายทรัพย์สินที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร จากนั้นก็นำไปชำระหนี้ตามแผนที่วางเอาไว้
4. เน้นชำระหนี้อันดับแรก
หากมีหนี้ที่ต้องชำระหลาย ๆ รายการ ควรปลดหนี้อันดับแรกที่ได้จัดลำดับไว้ให้หมดเร็วที่สุดก่อน ส่วนหนี้ก้อนอื่น ๆ ให้ชำระขั้นต่ำ โดยวิธีการดังกล่าวให้เป็นการเน้นไปที่หนี้ทีละรายการซึ่งจะสามารถชำระหนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะทำให้ยอดเงินต้นลดลงอย่างรวดเร็วและดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงเร็วตามไปด้วย และเมื่อปลดหนี้ลำดับแรกเสร็จแล้วก็จัดการปลดหนี้ลำดับถัดมา และทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะปลดหนี้หมดทุกรายการ
5. เก็บออม
เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดแล้วก็ควรเน้นไปที่การเก็บออม โดยเมื่อมีรายรับเข้ามาก็ต้องหักเงินแยกในบัญชีเงินออมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีกครั้งในอนาคต โดยเงินออมก้อนแรกที่ควรมี คือ เงินออมเผื่อฉุกเฉิน
อีกทั้ง ควรจัดทำแผนการใช้เงินด้วยการแยกประเภทค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็นออกจากกัน และพยายามใช้เงินจากงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น ที่สำคัญเมื่อผ่านพ้นวิกฤติหนี้สินไปได้แล้วก็ควรเป็นหนี้เท่าที่ชำระไหว ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ และทุกครั้งควรคิดให้รอบคอบว่าหนี้ที่กำลังจะก่อนั้นเป็นหนี้ดีหรือไม่ รวมกับหนี้เดิมแล้วชำระไหวหรือไม่ เพื่อให้สามารถจัดการการเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย