26 พฤศจิกายน 2564
2,093

คลังทุ่มงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดันเศรษฐกิจปี 65 เติบโต 4%

คลังทุ่มงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ดันเศรษฐกิจปี 65 เติบโต 4%
Highlight

การลงทุนของรัฐบาลยังมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยการลงทุนดังกล่าวมาจากโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) โครงการกู้เงินเพื่อการพัฒนา (Development Project) โดยครงการลงทุนที่จะพิจารณาลงทุนต่อเนื่องเช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินการลงทุน รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม อาทิ โครงการสนับสนุนการจ้างงานของผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “Thailand Post COVID-19: Rain or Sunshine?” จัดโดยสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และธนาคารกสิกรไทยและหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลเตรียมงบลงทุนในปี 2565 มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตตามเป้าหมาย 4%

โดยการลงทุนดังกล่าวมาจากโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงการลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) โครงการกู้เงินเพื่อการพัฒนา (Development Project Loan) รวมถึงแหล่งเงินกู้ยามฉุกเฉิน

สำหรับการลงทุนของรัฐบาลยังมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure) อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม อาทิ โครงการสนับสนุนการจ้างงานของผู้สูงอายุ ภายหลังประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีแผนสนับสนุนด้านภาษีสำหรับบริษัทที่จ้างงานกลุ่มคนวัยเกษียณอายุ เช่น กลุ่มคนอายุระหว่าง 60-70 ปี

นอกจากโครงการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแตะระดับ 4% จะต้องเป็นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ซึ่งรัฐบาลจะยังคงใช้จ่ายเงินเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนระดับฐานรากเพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น

ส่วนประเด็นเพดานหนี้ต่อจีดีพีที่ปรับขึ้นแตะระดับ 70% นั้น นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้กังวลต่อระดับเพดานดังกล่าว เพราะให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระคืนหนี้มากกว่า ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (DSR) ของประเทศปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่มีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 ประเทศไทยมีงบประมาณสำหรับดำเนินนโยบายการเงินราว 6 พันล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงที่ 280 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 ล้านล้านบาท) ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยังมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายทางการคลัง

สำหรับแนวโน้มนโยบายการคลังในระยะข้างหน้าเพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมตามกระแสโลกนั้น รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5 ซึ่งเป็นมลภาวะที่เกิดจากมนุษย์ ทั้งในรูปแบบการรับมือและการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และ PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจากภาคการขนส่ง ซึ่งในส่วนของนโยบายทางการคลัง ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตผ่านนโยบายทางภาษี

ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 โดยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% ค่ากลาง 4% 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน (2) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ (3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า 

(4) การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ (5) ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่างๆ มีดังนี้

1. การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

(1.1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.3% เร่งขึ้นจาก 1.2% ในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงและสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องตามมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพิ่มเติม

(1.2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัว 0.3% ชะลอลงจาก 2.3% ในปี 2564 โดยเป็นผลจากการลดลงของกรอบรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 แต่ยังมีแรงสนับสนุนให้การใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

2. การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัว 4.3% เทียบกับ 4.4% ในปี 2564 โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 4.2% เทียบกับ 4.3% ในปี 2564 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.6% ต่อเนื่องจาก 4.8% ในปี 2564 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 624,340 ล้านบาท และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2565 วงเงิน 468,833 ล้านบาท (รวมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน)

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.9% เทียบกับ 16.8% ในปี 2564 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้น 4.4% และราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วง 0.0-1.0% ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการดำเนินมาตรการเปิดประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท เทียบกับ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 238% ส่งผลให้โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9% เทียบกับ 10% ในปี 2564

ข้อเสนอแนะถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ 6 แนวทางต่อไปนี้คือ 

1. การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค 

2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และการประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า พร้อมทั้งดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และการดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

4. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยต้องขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

6. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

7. การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ที่มา : Bangkokbiz, สศช.

ติดต่อโฆษณา!