ติดเชื้อโควิดยอดพุ่ง ศบค.เร่งออกมาตรการสกัด ยังไม่ล็อกดาวน์
Highlight :
ศบค.ชุดใหญ่ เคาะมาตรการควบคุม "โอมิครอน" ยังไม่ล็อกดาวน์ ยกระดับพื้นที่สีส้ม ทั่วประเทศ 69 จังหวัดจากเดิม 39 จังหวัด คงพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด อนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 21.00 น. ยังคงอนุญาตสถานศึกษาเปิดเรียน on site แต่เพิ่มวัน WFH อีก14 วัน เลื่อนเปิดสถานบันเทิงแต่อนุญาตปรับเป็นร้านอาหาร
การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 1/2565 ในวันนี้ (7 ม.ค.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน เพื่อพิจารณามาตรการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสายพันธุ์โอมิครอน ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัดหลังผ่านเทศกาลปีใหม่ พบว่าจุดเสี่ยงการระบาดคือร้านอาหารกึ่งผับ ที่ละเลยมาตรการป้องกันโรค
รายงานข่าวจากที่ประชุม ศบค. แจ้งว่า เบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ปรับระดับพื้นที่สี เป็นระดับสีส้ม หรือพื้นที่ควบคุมทั่วประเทศ 69 จังหวัด ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว หรือพื้นที่สีฟ้า 8 จังหวัด โดยอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 3 ทุ่ม มีผล 11 ม.ค.
โดย 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวประกอบด้วย
กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และ ภูเก็ต
สำหรับในส่วนของสถานศึกษา ศบค. ไม่ได้พิจารณาสั่งปิด แต่มีการพิจารณาเพิ่มวันทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) อีก 14 วัน ถึง 31 ม.ค. โดยไม่ได้มีการล็อกดาวน์แต่อย่างใด
เลื่อนเปิดสถานบันเทิงจากวันที่ 16 ม.ค. แต่ผ่อนผันให้ปรับเป็นร้านอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์ เปิดได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม
ด้าน ก.ท.ม. ปรับแผนรับมือ "โอมิครอน" สั่งโรงเรียน กทม. 109 แห่ง เรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ 7-16 ม.ค. 65 พร้อมเตรียมฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" เด็ก 5-11 ปี เดือน ก.พ.นี้
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น กทม.จึงปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด 109 โรงเรียน จากรูปแบบ ON-SITE เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ ONLINE ตั้งแต่วันที่ 7-16 ม.ค.65 หรือจนกว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น
โดยกำหนดแผนและแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน รวมถึงประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา กลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 16,391 คน ในเดือน ม.ค.65 และกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ในเดือน ก.พ.65 โดยให้สำนักอนามัยดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขยายขอบเขตข้อบ่งใช้ของวัคซีน สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี จากเดิมที่ให้มีการฉีดได้ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น
การฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่เด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อและลดปริมาณวัคซีนลงเหลือ 10 ไมโครกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนที่ฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะห่าง 21 วัน จากเข็มที่ 1 เพื่อฉีดเข็มที่ 2 สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครองต้องให้การยินยอมด้วย พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว