เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับ 7% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี
Highlight
กระทรวงการคลังสหรัฐฯเปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2564 พุ่งแตะระดับที่ 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงที่สุดในรอบ 40 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2525 จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับธนาคารกลางส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำอีกนาน ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยง อย่างเช่น Bitcoin ปรับขึ้นทันที อย่างน้อย 4-5% ในขณะที่ตลาดรอติดตามการประชุมธนาคารกลางในรอบเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมายับยั้งการพุ่งของของอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติม จากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามที่ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงขึ้นยังไม่รวมถึงราคาอาหารและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น พุ่งขึ้น 5.5% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% จากระดับ 4.9% ในเดือน พ.ย. ซึ่งถือว่าปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี
และในไม่กี่นาทีหลังจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อถูกเผยแพร่ออกไป Bitcoin ซึ่งเป็นคริปโตเคอเรนซี่สกุลหลัก และสินทรัพย์ทางเลือก ราคาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44,000 ดอลลาร์ จาก 2-3 ก่อนหน้า ที่ราคาลดลงแตะที่ระดับ $40,000 ประกอบกับการที่นายเจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ คงต้องอยู่ในระดับต่ำอีกนาน ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยผ่อนคลายไปชั่วขณะ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อขอบสหรัฐฯ ที่ 7% เป็นการปรับสูงขึ้นในรอบ 40 ปี โดยทยอยเพิ่มขึ้นตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นหลายรายการ ตั้งแต่ราคารถยนต์ ค่าอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนค่าเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่การอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ กลับยิ่งกระตุ้นให้มีความต้องการสินค้าและข้าวของต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ไบรอัน ไพรซ์ หัวหน้าฝ่ายการจัดการลงทุนของ Commonwealth Financial Network ให้ความเห็นต่อเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า การเปิดเผยรายงาน CPI ประจำเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นถึง 7% ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนบางรายถึงกับตะลึง เนื่องจากยังไม่เห็นตัวเลขที่สูงขนาดนั้นในรอบเกือบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม หลายคนคาดหวังว่าอาจได้เห็นปฏิกิริยาดังกล่าวของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาที่เผชิญในสหรัฐเท่านั้น แต่ประเทศในกลุ่มยูโรโซน ต่างก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมเพิ่มสูงขึ้น 5% เช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเก็บบันทึกมา
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า ปัจจัยใหญ่สุดของภาวะเงินเฟ้อคือความไม่เท่ากันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ประกอบกับปัญหาซัพพลายเชนที่ประสบปัญหาคอขวดอย่างหนัก โดยมองว่าเงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ซึ่งช่วยให้ชาวอเมริกันกลับไปใช้สอยในภาคบริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างอุปสงค์อุปทานลงได้ ทั้งช่วยแก้ไขปัญหาซัพพลายเชนไปได้พร้อมกัน
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า ตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างมากในสหรัฐ จะเป็นแรงกดดันกับธนาคารกลาง หรือ เฟด ให้ต้องคิดต่อเรื่องการปรับดอกเบี้ยนโยบาย, การทำ Tapering หรือการลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ และการลดงบดุล โดยการดึงสภาพคล่องกลับ
หลังจากนี้ต้องจับตาการประชุมในเดือนมีนาคมนี้ หลังได้ดูข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์กันอีกสองรอบ แล้วมาตัดสินใจว่าจะต้องใช้ยาแรงขึ้นหรือไม่ โดยปรับดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งต่อปีตามที่เคยส่งสัญญาณไว้ครั้งที่แล้วหรือไม่