บริษัทประกันภัยฟ้องเลขาธิการ คปภ. ต่อศาลปกครอง อ้างทำธุรกิจขาดทุนหนักหลังห้ามยกเลิกกรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ
Highlight
โควิด-19 เล่นงานไปทั่ว อย่างน้อยบริษัทประกันภัย 2 แห่งที่ต้องปิดกิจการไป เนื่องจากการจ่ายประกัน เจอ จ่าย จบ ปัจจุบันการระบาดระลอกที่ 5 โควิดสายพันธุ์โอมิครอน ยิ่งทำให้หลายบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง หรืออาจต้องปิดกิจการเพิ่ม บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไทยประกัน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต่อศาลปกครองเรื่องกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ ออกคำสั่งห้ามบริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 ประเภท เจอ จ่าย จบ จนทำให้บริษัทประกันภัยเสียหายอย่างหนัก
ล่าสุด เมื่อ 10 มกราคม ที่ผ่านมา บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด(มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีและบริษัทไทยประกัน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 44/2565 โดยได้ยื่นฟ้องนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรื่องกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยคำฟ้อง ได้ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ใน 2 ประเด็นดังนี้
1. พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง
2. ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ด้านนายสุทธิพล ให้สัมภาษณ์หลังให้การกับศาลปกครองเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 65 ว่า ประเด็นหลักที่ศาลฯได้สอบถามคือ การฟ้องคดีอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยตามกฎหมายจะต้องฟ้องภายใน 90 วัน หลังจากที่ คปภ.มีคำสั่งนายทะเบียนออกมา
เพราะถ้าการฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลจะไม่รับคำฟ้อง ยกเว้นแต่เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน
“ข้ออ้างของผู้ฟ้องว่า คปภ.ไม่มีการส่งคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้บริษัทรับทราบ โดย คปภ.ได้ชี้แจงว่า คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เป็นคำสั่งทั่วไป ซึ่งปกติไม่มีกฎข้อบังคับให้ต้องส่งไปที่บริษัทประกัน ในทางปฏิบัติ คปภ.จะลงบนเว็บไซต์สำนักงาน คปภ.และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนให้ความสำคัญ สื่อหลายสำนักทั้งหนังสือพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์, ออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข่าวในวงกว้าง”
ตามกฎหมายต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน
เลขาธิการ คปภ.ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งไม่ได้ โดยได้มีการประกาศคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 64 ขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 บริษัทก็ออกมายืนยันหลังจากออกคำสั่งนายทะเบียนว่า เขายืนยันที่จะคุ้มครองผู้เอาประกันภัยโควิดทุกประเภทจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครอง ซึ่งการยืนยันตรงนี้ถือเป็นผลของคำสั่งนายทะเบียน
นอกจากนี้ในคำฟ้องก็ระบุชัดว่า จากข่าวที่ลงไปในหนังสือพิมพ์วันที่ 17 ก.ค. 64 ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพราะกลัวจะถูกดำเนินการฐานประวิงคดีหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ดังนั้นข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏว่าไม่ทราบคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ไม่เป็นความจริง เพราะจริง ๆ ต้องทราบตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 64 ซึ่งนับถึงวันที่ยื่นฟ้องเกินระยะเวลากำหนด เพราะต้องยื่นฟ้องภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรจะรู้
ผู้ฟ้องได้อ้างต่อว่า คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 คปภ.ต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะมีผลตามกฎหมาย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีการลงประกาศในราชกิจจาฯเมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ดังนั้นเมื่อนับถึงปัจจุบันจึงยังไม่ครบ 90 วัน โดย คปภ.ได้ชี้แจงศาลฯว่า ในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งตัวคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ที่เป็นคำสั่งทางปกครองไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การที่ส่งไปลงราชกิจจาฯเนื่องจากต้องให้ประชาชนได้รับรู้
มีผู้ถือกรมธรรม์กว่า 10 ล้านคนอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม
เลขาธิการ คปภ.กล่าวอีกว่า หากศาลฯรับคดีไว้พิจารณา มี 2 ประเด็นที่ศาลจะต้องไต่สวนของผู้ฟ้องคือ 1.ขอให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และ 2. ขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว เพราะฉะนั้นถ้าศาลฯรับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิดทั้งหมดกว่า 10 ล้านคนถูกลอยแพแน่นอน เพราะระหว่างนี้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถที่จะบอกเลิกกรมธรรม์ฯได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ต่อพี่น้องประชาชน โดยศาลฯระบุว่า เนื่องจากเกี่ยวกับประชาชนจำนวนมากจะพิจารณาโดยเร็ว
การบอกเลิกกรมธรรม์ เกรงกระทบความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัยโดยรวม
นายสุทธิพลกล่าวอีกว่า ไม่มีใครจะใหญ่เหนือกฎหมาย แม้กฎหมายจะระบุไว้ในกรมธรรม์ว่าสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ลูกค้าได้ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อมีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงในระดับสูงแล้วจะบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่ง ต้องพิจารณาแต่ละรายไป มีหลักฐานยืนยันและสอดคล้องกับกฎหมายสากล เพราะความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นจะวุ่นวายมาก ถ้าให้ยกเลิกเหมาเข่ง ต่อไปคนจะไม่ทำประกัน
“การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ คือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยมอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยง ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ในช่วงวิกฤต ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกัน จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง” นายสุทธิพลกล่าว
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จนถึงต้นปี 2565 ยอดเคลมประกันภัยโควิดน่าจะทะลุเกิน 4 หมื่นล้านบาทแล้ว เนื่องจากการติดเชื้อระลอกใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 7,000-8,000 ต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า จากยอดเดือน ธ.ค. 64
ทั้งนี้กรมธรรม์ประเภท เจอ จ่าย จบ จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 65 จึงต้องรอประเมินอีกครั้ง ซึ่งเหลือกรมธรรม์ในช่วงดังกล่าวอีกราว 8 ล้านฉบับ
“ถ้าถึงเดือนมิถุนายน มีการติดเชื้อเพิ่มอีกราว 10 ล้านคน ต้องจ่ายเคลมรวม ๆ กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันส่วนใหญ่ก็ไม่มีการทำประกันภัยต่อ ฉะนั้นความเสียหายอาจจะรุนแรงยิ่งกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554”นายอานนท์กล่าว
ด้านนายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยโควิดล่าสุดจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2564 พบว่ามีกรมธรรม์ทั้งหมด 41.63 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,930 ล้านบาท ขณะที่ยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงกว่า 37,800 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้จำนวนกรมธรรม์และเบี้ยประกันค่อนข้างนิ่งแล้ว แต่ยอดจ่ายเคลมประกันยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบในระบบที่ยังเหลืออายุความคุ้มครองอยู่อีกกว่า 7 ล้านฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่กว่าจะหมดอายุประมาณเดือน เม.ย.-มิ.ย. 65
นอกจากนี้ยังส่งผลให้กองทุนประกันวินาศภัยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชี (เยียวยาความเสียหายให้กับผู้เอาประกัน) ในกรณีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตอาจมีเงินไม่พอจ่ายผู้เอาประกัน จากเงินกองทุนที่มี 5,600 ล้านบาท เพราะหนี้ความเสียหายจากยอดเคลมประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบของ 2 บริษัท คือเอเชียประกัน และ เดอะวันฯที่ถูกปิดไปแล้ว รวมกันสูงกว่า 7,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการกองทุนประกันฯก็มีการหารือถึงแนวทางที่จะต้องกู้เงินมาใส่ในกองทุน
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอน อาจมีบริษัทประกันกันถูกปิดเพิ่ม
บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงไตรมาส 3/64 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3,662.39 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 160.21 ล้านบาท และผลประกอบการ 9 เดือนแรกขาดทุนสุทธิ 3,845.58 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากมูลค่ายอดจ่ายเคลมสินไหมเจอจ่ายจบในไตรมาส 3/64 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ผลประกอบการไตรมาส 4/2564 ยังไม่ได้ออก ก็ต้องจับตาดูว่าจะออกมาอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง จากการถูกเคลมประกันแบบ เจอ จ่าย จบ ดังนั้นจึงต้องติดตามการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะออกมาเป็นเช่นไร
ล่าสุดเมื่อค่ำวานนี้ (16 ม.ค.) นายสุทธิพล ได้รายงานว่ารู้สึกเป็นไข้ ไอ และไม่สบายตัวได้ทำการตรวจการติดเชื้อโควิด และยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 โดยได้แจ้งไทม์ไลน์อย่างละเอียดรวมทั้งช่วงเวลาที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ศาลปกครองในวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยตลอดเวลาในที่สาธารณะสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น ไม่ได้เดินทางไปห้างสรรพสินค้า และได้ฉีดวัคซีนครบ 4 เข็ม มีอาการไข้เพียงเล็กน้อย