ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดิ่งครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เหตุโควิดระบาด ราคาน้ำมันพุ่ง ทำต้นทุนสูง
Highlight
การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 86.7 จากระดับ 88.0 ในเดือนม.ค. 65 โดยด่าดัชนีฯ ดิ่งลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ปัจจัยกดดันจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดเพิ่ม สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำน้ำมันพุ่ง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เสนอรัฐคุมราคาพลังงาน ยกเลิก Test&Go
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 86.7 จากระดับ 88.0 ในเดือนม.ค. 65 โดยด่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกรายการทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
โดยมีปัจจัยกดดัน ประกอบด้วย
1. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2. ภาครัฐยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่งประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว
3. ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานตามทิศทางราคาตลาดโลก รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)
4. ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กระทบราคาสินค้านำเข้า
5. ปัญหา Supply Disruption ยังไม่คลี่คลาย
6. ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอน
ขณะที่ปัจจัยหนุนมีเพียง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 4 และการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.1 จากระดับ 96.4 ในเดือนม.ค. เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า กิจกรรทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้
ภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัว ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบาย Test&Go ช่วยเอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ประเด็น ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาทิ การสำรองยาให้เพียงพอ บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต สนับสนุนยาและสิ่งของจำเป็นในการกักตัว Home Isolation เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย และการแจกชุดตรวจ ATK ให้กับกลุ่มเสี่ยง
ยกเลิกมาตรการ Test&Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย
ออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน อาทิ การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซ และการคงค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
ขอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อให้ภาคเอกชนนำไปวางแผนการค้าหรือแสวงหาโอกาสทางค้าในตลาดที่มีศักยภาพ
นายสุพันธุ์ ยังเสนอด้วยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อไทยนั้น จะเห็นได้ว่ามีทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นจึงต้องดูว่าจะสามารถสร้างโอกาสในวิกฤตินี้ได้อย่างไร
ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การดึงคนยุโรปให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งจะทำให้คนยุโรปสามารถบรรเทาการใช้พลังงานในประเทศที่มีราคาสูงอยู่ในขณะนี้ลงได้
“เป็นโอกาสที่เราจะดึงนักท่องเที่ยวยุโรปเข้ามา เราจึงพยายามขอให้ยกเลิกมาตรการ Test&Go ถ้ายกเลิกได้ กิจกรรมต่างๆ จะดำเนินไปด้วยดี…เราตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ไว้ที่ 5-6 ล้านคน ถ้ายกเลิก Test&Go เป้านี้จะถึงแน่นอน หรือดีไม่ดีอาจจะมากกว่านี้
เท่ากับว่าจะมีคนมาใช้จ่ายในประเทศเราเพิ่มอีก 6-7 ล้านคน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพด้วย เพราะวิกฤตแบบนี้ คนที่เดินทางมาได้ ล้วนแต่เป็นคนที่มีศักยภาพ ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นโอกาสของเรา” ประธาน ส.อ.ท.ระบุ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาสอีกเรื่อง คือ ดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศให้มากขึ้น เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้มีหลายประเทศมีการย้ายฐานการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาคก็จะง่ายขึ้น รวมถึงการใช้โอกาสจากการค้าชายแดนที่กำลังขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะลาว เวียดนาม และจีน
“ตอนนี้อุปสงค์ยังมี เราต้องพยายามเชื่อมโยงให้มากขึ้น ทำให้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งระบบโลจิสติกส์ ระบบ custom กฎระเบียบ กลไกต่างๆ ต้องผลักดันให้เติบโตมากขึ้น รวมถึงการทำ FTA กับ EU ก็เป็นโอกาสที่จะทำสินค้าจากไทยเข้าไปทดแทน หรือขยายตลาดได้มากขึ้น เหล่านี้เป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศ ท่ามกลางหลายสถานการณ์ลบที่มีอยู่ตอนนี้ เราก็ต้องหาทางบวกช่วยเสริม” นายสุพันธุ์ ระบุ
ส.อ.ท. ประเมินปีนี้ 25 อุตสาหกรรมกลับมาเติบโต หลังโควิดคลี่คลาย-อุปสงค์ฟื้นตัว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยการบริหารจัดการการแพร่ระบาดฯ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ และปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รวมถึงภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่มีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น
ภาคการส่งออกสินค้าที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้
โดยผ่านมาตรการ Test & Go
อีกทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี และงบรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้ในระยะต่อไป
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้ มีทั้งหมด 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, เทคโนโลยีชีวภาพ, ดิจิทัล, น้ำตาล, ปูนซีเมนต์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม, ยา, ยานยนต์, เยื่อและกระดาษ, รองเท้า, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, สมุนไพร, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, หัตถกรรมสร้างสรรค์, เหล็ก, และอาหาร
โดยมีปัจจัยสนับสนุน มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น, การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น, การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ, การส่งออกที่ยังเติบโตได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า, การทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ, ความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม, นโยบายการเงินที่ยังมีทิศทางผ่อนคลาย และการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้า FTA
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ โอกาสที่จะเกิดการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่, ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง, อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่, ความผันผวนของตลาดการเงินโลก, ราคาพลังงานราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัว มีทั้งหมด 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ก๊าซ, การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, แกรนิตและหินอ่อน, แก้วและกระจก, เคมี, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องสำอาง, เซรามิก, น้ำมันปาล์ม, ปิโตรเคมี, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลาสติก, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, สิ่งทอ, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, อลูมิเนียม, อัญมณีและเครื่องประดับ
ปัจจัยสนับสนุนสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว โดยเป็นไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงและความกังวลทั้งโอกาสการกลับมาระบาดซ้ำจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่, ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง, อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น, เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง, ความผันผวนของตลาดการเงินโลก, ราคาพลังงานราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น, ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นปัจจัยที่ยังกดดันให้หลายกลุ่มอุตสากรรมยังมีทิศทางทรงตัว
นายเกรียงไกร เชื่อมั่นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีทิศทางที่สามารถเติบโตต่อไปได้ แม้ในปีที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้เร่งปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน พร้อมกับรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal
อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างทัดเทียมและเติบโตต่อไป