กทม. เข้ม ร่วมงานสงกรานต์วิถีใหม่ ไม่เล่นสาดน้ำ! ตรวจ ATK เป็นลบ 72 ชม.
Highlight
กรุงเทพมหานคร (กทม.) คุมเข้าจัดงานมหาสงกรานต์ ปี 2565 ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน 2565 ณ ลานสแควร์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ ไม่ถึงขั้นยกเลิกจัดงาน แต่กฏเข้ม! ในปีนี้จะไม่ให้มีการเล่นสาดน้ำในบริเวณพื้นที่จัดงาน โชว์ผล ATK เป็นลบ 72 ชม.ก่อนร่วมงาน สงกรานต์วิถีใหม่..ท่ามกลางการระบาดโควิดโอมิครอนอย่างหนักหน่วง
นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ 2565 โดยมี ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมเตรียมความพร้อม
ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรมศิลปากร เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ สมาคมศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และผู้เกี่ยวข้อง
ทุกส่วนงานเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 27 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และผ่านระบบออนไลน์ โดยที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2565
อาทิ กำหนดการจัดงานฯ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานฯ ร่างแผนผังการใช้พื้นที่จัดงาน มาตรการด้านการสาธารณสุข รูปแบบและรายละเอียดการจัดงานฯ การขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย และการมอบหมายภารกิจแก่หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 12 - 14 เม.ย. 65 ณ ลานสแควร์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ เพื่อเป็นการบำรุงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในวันสำคัญทางประเพณีให้คงอยู่สืบไป
ตลอดจนเพื่อเป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยจะมีการแถลงข่าวการจัดงานฯ ในวันที่ 7 เม.ย. 65 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
สำหรับรูปแบบการจัดงานฯ จะจัดขึ้นภายใต้รูปแบบการจัดงานวิถีใหม่ (New Normal) และกำหนดแนวทางปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ได้แก่ การกั้นพื้นที่โดยรอบบริเวณการจัดงาน เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณผู้เข้าร่วมงาน โดยกำหนดจุดเข้า-ออก และจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด การจัดให้มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าร่วมงาน
มีจุดตรวจสอบหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ อย่างน้อย 3 เข็ม และผลตรวจการติดเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) เป็นลบ ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนร่วมงาน
หากไม่มีหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ หรือมีประวัติเสี่ยง ให้ตรวจการติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK และจะต้องมีผลเป็นลบจึงอนุญาตให้เข้าร่วมงานได้
การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับแยกผู้มีประวัติเสี่ยงหรือมีไข้ และประสานสถานบริการสาธารณสุขเพื่อเข้าสู่ระบบส่งตัวอย่างปลอดภัย โดยห้ามผู้มีอาการป่วยเข้างานโดยเด็ดขาด การจัดให้มีจุดลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ โดยใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”
การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 800 คน ถ้ามีผู้เข้าร่วมงานเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมงานนั่งจุดพักคอยที่จัดเตรียมไว้ และรอเรียกตามลำดับคิว โดยมีการจัดที่นั่งให้เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร
การกำหนดให้เจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมงานทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การจัดจุดบริการแอลกอฮอล์เจลสำหรับให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง และการจัดทำสัญลักษณ์การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสระหว่างอุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกัน ทุก 1 - 2 ชั่วโมง เช่น เก้าอี้นั่งชมการแสดง ขันสรงน้ำ เป็นต้น ทำความสะอาดห้องสุขาโดยเน้นจุดเสี่ยงที่มีผู้สัมผัสมาก เช่น กลอนประตู ที่จับสายชำระ โถปัสสาวะ ก๊อกน้ำ ฯลฯ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
กำหนดจุดวางถังขยะแบบมีฝาปิดและคัดแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน โดยแยกขยะหน้ากากอนามัยจากขยะทั่วไป และรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน มีการจัดที่นั่งสำหรับชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมอื่น ๆ โดยเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร และเว้นระยะห่างระหว่างเวทีและที่นั่งของผู้ชมอย่างน้อย 2 เมตร
พร้อมมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแล การกำหนดให้ใช้ระยะเวลาในการจัดพิธีหรือกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานให้กระชับและสั้นที่สุด ในส่วนของการขายสินค้า ให้จัดทำแผงกั้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า
จัดโซนสำหรับจำหน่ายอาหาร โดยให้ผู้ปรุงอาหารหรือจำหน่ายอาหารทุกคนสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย และให้ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหารหรือตักอาหาร รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบเป็นระยะ มีการจัดพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับประชาชน โดยเว้นระยะห่าง ไม่แออัด และมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะอาหาร
สำหรับการจัดงานฯ ในปีนี้ จะไม่ให้มีการเล่นสาดน้ำในบริเวณพื้นที่จัดงาน และจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และแนะนำแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ทั้งก่อนจัดงานและภายในงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน เจ้าหน้าที่ ผู้จัดงาน ผู้ค้า และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด
สำหรับผู้เข้าร่วมงาน เมื่อกลับถึงบ้านหรือที่พักต้องทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และเฝ้าระวังอาการตนเองอย่างน้อย 10 วันหลังเข้าร่วมงาน หากพบว่ามีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว
ที่มา : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19, ศูนย์ข้อมูลCOVID19