“เบตง สวรรค์บนดิน ที่สายการบินไม่ OK”
Highlight
สนามบินเบตง จังหวัดยะลา ก่อสร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 และเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะร่วมเดินทางไปเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่หลังนั้น สายการบินไม่สามารถให้บริการเพราะจำนวนผู้โดยสารน้อยมาก ไม่คุ้มทุน และ นกแอร์เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนหากต้องการให้บินตามปกติ
น่าเสียดายถ้าหากสนามบินเบตง จังหวัดยะลา จะต้องปิดตัวลง ทั้งที่เพิ่งจะเปิดเที่ยวบินรอบปฐมฤกษ์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะร่วมเดินทางไปเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยสายการบินนกแอร์ต้องระงับการบินชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อยจนไม่สามารถให้บริการได้ ไม่คุ้มทุน และยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินเพื่อแลกกับการกลับมาเปิดบิน
ข้อมูลปี 63-64 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า จำนวนผู้เดินทางไปยะลาในปี 63 อยู่ที่ 98,035 คน และลดลง 51% ในปี 64 เหลือ 48,470 คน ขณะที่ในปี 64 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลย ซึ่งหลังจากสายการบินนกแอร์เปิดขายตั๋วโดยสารไปเบตง ก็มีผู้เข้ามาจองที่นั่งเพียง 4 คน จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 86 คนด้วยเครื่องบินใบพัด Q400
ขณะที่ความช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐในช่วงที่ผ่านมา มีเพียงกรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินเบตง ลดค่า Landing Fee และ Parking Fee ราว 2,000 บาท/เที่ยวเท่านั้น แทบไม่ได้มีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายของสายการบินได้ เนื่องจากการบินไปเบตงคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเที่ยวละกว่า 500,000 บาท ไป-กลับ ก็จะเสียค่าใช้จ่ายกว่า 1 ล้านบาท
นอกเหนือจากนี้สนามบินเบตงก็ไม่มีสถานที่เติมน้ำมัน ทำให้ทางสายการบินที่จะบินไปต้องขนน้ำมันไปเติมเองด้วย ก็ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สายการบินก็ยังต้องลดจำนวนผู้โดยสารเพื่อให้น้ำหนักบรรทุกไม่มากเกินไป อีกทั้งสนามบินเบตงมีรันเวย์ค่อนข้างสั้นและที่ตั้งมีภูเขาล้อมรอบ
ทำให้ต้องบินอ้อมภูเขาก่อนนำเครื่องลง ส่งผลให้การบินจากกรุงเทพไปเบตงต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง ไป-กลับ 4 ชั่วโมง ฉะนั้น ค่าตั๋วโดยสารไปเบตงหากจะไม่ให้ขาดทุนก็ต้องเก็บอย่างน้อยที่นั่งละ 3,700 บาทกรณีที่ผู้โดยสารเต็มเครื่อง ซึ่งราคานี้ก็ยังไม่มีกำไร
ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์พยายามขอให้ภาครัฐสนับสนุนเส้นทางกรุงเทพ-เบตง ได้แก่ การขอยกเว้นค่าภาษีสนามบิน ค่าบริการควบคุมจราจรทางอากาศ ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสาร ค่าเช่าและผลตอบแทนพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน และการการันตีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) 75%
นอกจากนี้อยากให้เอเย่นต์ขายตั๋วในพื้นที่ช่วยด้านการตลาดด้วย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ ดังนั้น เชื่อว่าจากนี้คงยังไม่มีสายการบินใดสามารถทำการบินไปเบตงได้อีก เพราะบินไปก็ขาดทุน
ทั้งนี้ สายการบินนกแอร์กับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้หารือในวันที่ 21 มี.ค.ก็ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือที่จะสนับสนุนให้มีเที่ยวบินไปยังดินแดนที่รัฐบาลพยายามโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีศักยภาพการพัฒนาทั้งด้านเศรฐกิจ สังคม
เป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางด้านธุรกิจการค้า ประกอบกับประชาชนอยู่ร่วมกันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงามได้หรือไม่?
จากข้อมูลของเทศบาลเมืองเบตงระบุว่า ก่อนสถานการณ์โควิดระบาดอำเภอเบตง (ยะลา) มีนักท่องเที่ยวรวมราว 8 แสนคนต่อปี แต่สถานการณ์ปัจจุบันลดลงมาก
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย ที่ให้ข้อมูลว่า ข้อจำกัดในการทำการตลาดสำหรับสนามบินเบตงคือรันเวย์ที่สั้น รองรับได้เฉพาะเครื่องขนาดเล็ก ส่งผลให้ต้นทุนต่อหัวผู้โดยสารมีราคาที่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเส้นทางบินอื่น ๆ
ขณะที่ในด้านดีมานด์ภาพรวมของ เบตงในวันนี้ยังมีไม่มากนัก และยังเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเพิ่มขึ้น
“วันนี้เครื่องแอร์บัส A320 ของเราไม่สามารถทำการบินได้ ถ้าเขาลงทุนต่อรันเวย์ให้ยาวขึ้น และทำให้เครื่อง A320 ขึ้น-ลงได้ เราก็สนใจ เพราะเรามีเน็ตเวิร์กการบิน” นายสันติสุข กล่าว
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาเส้นทางการบิน พร้อมประเมินดีมานด์เช่นกัน แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะเปิดให้บริการหรือไม่ เพราะต้องประเมินถึงความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องศึกษาอย่างละเอียดว่าจะจัดเส้นทางการบินอย่างไรถึงจะเหมาะสม
ด้านนายธีรพล โชติชนาภิบาล ซีอีโอ สายการพาณิชย์ สายการบินนกแอร์ ยอมรับว่า ประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตงได้ คือเรื่องของ “ต้นทุน ที่ไม่สมดุลกับ รายได้”
และยอมรับว่า ขนาดของรันเวย์และทางขับของสนามบินเบตงรองรับได้เฉพาะเครื่องบินลำเล็ก ทำให้มีต้นทุนที่สูง จึงต้องกำหนดราคาบัตรโดยสารไป-กลับเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อคน
“ที่นกแอร์ต้องยกเลิกทำการบินชั่วคราว เนื่องจากดีมานด์ไม่พอ มีคนจองตั๋วโดยสารเข้ามาในระบบเพียงแค่ประมาณ 10 กว่าคนต่อเที่ยวบิน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มบริษัทนำเที่ยวนั้นยังคงชะลอการเดินทาง เนื่องจากผลกระทบโควิด เราจึงมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการออกไปแบบไม่มีกำหนด ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้” ธีรพลระบุ
นกแอร์บอกพร้อมมาก แต่ขอรัฐสนับสนุนต้นทุน 75%
พร้อมย้ำว่า “นกแอร์” มีความพร้อมสำหรับการให้บริการมาก เนื่องจากมีเครื่องบินและบุคลากรที่พร้อมอยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน (subsidize) จากภาครัฐ โดยรับประกันรายได้ให้นกแอร์อย่างต่ำ 75%
รวมถึงพิจารณาลดค่าบริการต่าง ๆ ของสนามบิน อาทิ ค่าหลุมจอด ค่าแลนดิ้ง ฯลฯ เพื่อให้สายการบินมีรายได้สมดุลกับต้นทุน และสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง ทั้งนี้นกแอร์จะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
ด้านนาย สกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง จังหวัดยะลา ย้ำว่า หากต้องการกระตุ้นการเดินทางผ่านสนามบินเบตง สายการบินควรตั้งราคาบัตรโดยสารไป-กลับไม่เกิน 5,000 บาท (ปัจจุบันเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6,400 บาท) เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวสามารถออกแพ็กเกจทัวร์ได้ หรือให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
ยันยังไม่ปิดสนามบิน แต่ไม่มีเครื่องลง
เมื่อ 24 มี.ค. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ยังคงมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคอื่นๆ ของประเทศไทยเดินทางมาเที่ยวชมท่าอากาศยานนานาชาติเบตงอย่างต่อเนื่อง พร้อมถ่ายรูปสถาปัตยกรรมของอาคารท่าอากาศยานนานาชาติเบตง และเช็กอินแลนด์มาร์กแห่งนี้ลงในโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ไม่ได้มีการปิดสนามบินตามที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์
โดยยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมได้ตามปกติ ทั้งภายนอก และภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินเบตง แม้ล่าสุด กรมท่าอากาศยานจะมีคำสั่งย้าย นางดวงพร สุวรรณมณี รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง ให้ไปช่วยปฏิบัติราชการที่กองควบคุมมาตรฐานสนามบิน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่รอใช้บริการแต่อย่างใด
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเบตงแห่งนี้ เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ ลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน ที่มีสโลแกนว่า “สวรรค์บนดิน สนามบินเบตง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
และทางสายการบินนกแอร์ได้ทำการบินเที่ยวบินพิเศษ "Amazing เบตง...ยิ่งกว่าโอเค" โดยเชิญผู้สื่อข่าว บล็อกเกอร์ และตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารร่วมเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านท่าอากาศยานเบตง เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของ อ.เบตง และเส้นทางการบินดอนเมือง-เบตง
สำหรับตารางบินที่ปรากฏในสื่อประชาสัมพันธ์ระบุว่า สายการบินนกแอร์ให้บริการเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ – เบตง (ยะลา) จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ปฏิบัติการบินในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ด้วยเครื่องบินบอมบาร์ดิเอร์ แดช8-คิว 400 ซึ่งสามารถจุผู้โดยสารได้ 86 คน
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานเบตง ก่อสร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของภาคใต้ เนื่องจากอำเภอเบตงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับจังหวัด รองจากอําเภอเมืองยะลา
แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ยังไม่สะดวกมากนัก ท่าอากาศยานจึงถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดความลำบากในการเดินทาง และส่งเสริมเศรษฐกิจในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมีแผนจะขยายเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานอื่น ๆ ในภาคใต้ และประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์
อ้างอิง : prachachart, MGR Online, Nok Air