ผอ.ททบ.5 หลุดเก้าอี้ เซ่นสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ผอ.ททบ.5 หลุดเก้าอี้ เซ่นสงครามรัสเซีย-ยูเครน
Highlight

พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 ลาออกกระทันหัน เซ่นสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจาก ช่อง ททบ.5 ปล่อยข่าวชุดสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ในวันที่ 28 มี.ค. และถูกระงับการออกอากาศทันที เฟสบุ๊ก Wassana Nanuam ผู้สื่อข่าวสายทหารรายงานว่า รัฐบาลกังวลเรื่องความเป็นกลาง ในขณะที่ ททบ.5 มองว่าข่าวส่วนใหญ่ออกจากฝั่งนาโต และสหรัฐ ในขณะที่ข้อมูลอีกฝั่งมีน้อยมาก ส่วนความคืบหน้าสงคราม ยูเครน “จะยอมเป็นกลาง”


จากกรณีมีกระแสข่าวว่า พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานบอร์ดสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) มีคำสั่งให้ พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 พ้นจากหน้าที่ โดยให้ พล.ท.วิสันติ สระศรีดา เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ทำหน้าที่แทน ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน เป็นต้นไป เนื่องจากกรณีเข้าพบทูตรัสเซีย-ยูเครน

พล.อ.รังษี ยอมรับว่าตนทำหนังสืออนุมัติถึง ผบ.ทบ.ขอพ้นหน้าที่ ผอ.ททบ. ด้วยเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ซึ่ง ผบ.ทบ เซ็นอนุมัติพ้นหน้าที่ และไม่ขอพูดอะไร พูดไปก็ไม่มีประโยชน์

ไม่ใช่การปลด แต่ผมขออนุมัติพ้นจากหน้าที่เอง อย่าบอกว่าไม่ปลด ไม่แฟร์กับ ผบ.ทบ. ผมเพิ่งได้รับคำสั่งเมื่อเช้า ก่อน ผบ.ทบ.เดินทางไปลาว" พล.อ.รังษี กล่าว

ล่าสุด เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam ของ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ได้รายงานว่า ผบ.ทบ มีคำสั่งตั้ง “บิ๊กเหน่ง” พลโทวิสันติ สระศรีดา ขึ้นเป็น ผอ.ททบ.5 คนใหม่ แทน พล.อ.รังษี กิติญานทรัพย์ มีผลวันที่ 7 เมษายน

โดยวาสนา ระบุว่า พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานบอร์ด ททบ.5 มีคำสั่งให้ พลเอกรังษี กิติญานทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ททบ.5 พ้นจากหน้าที่ โดยให้ พลโท วิสันติ สระศรีดา อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ทำหน้าที่แทน ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ พลโทวิสันติเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 ของพลเอกณรงค์พันธ์ เช่นเดียวกับพลโทรังษี โดยพลโทวิสันติจะทำหน้าที่แค่ 6 เดือน และจะเกษียณตุลาคม 2565

พลเอก รังษี กล่าวว่าการที่ พลเอกณรงค์พันธ์ มีคำสั่งแต่งตั้ง ผอ.ททบ.5 คนใหม่ ไม่ใช่การปลด แต่เพราะตนเองได้ ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก เพื่อ ขอพ้นหน้าที่ ด้วยเหตุผลส่วนตัว

เมื่อถามว่าเป็นเพราะเรื่องถูกห้ามเสนอข่าวสงครามรัสเซียและยูเครน ใช่หรือไม่ พลเอก รังษี กล่าวว่าแล้วแต่สื่อจะวิเคราะห์

ส่วนการที่เมื่อวานนี้ ระบุว่าจะไม่ลาออกนั้นพลเอก รังษี ชี้แจงว่า เมื่อวานนี้ได้ส่งหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ขอพ้นหน้าที่ไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จึงไม่กล้าพูดว่าจะอนุมัติ ให้ลาออกหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พลเอก รังษี ยกทีมไปคุยกับ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมลงนามความร่วมมือในการเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซียกับยูเครน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อถ่วงดุล การเสนอข่าวของสื่อในประเทศไทย ที่มักจะเสนอข่าวตามสื่ออเมริกันและสื่อตะวันตก จนกลายเป็นเหยื่อสงครามข่าวสารและเกิดเฟคนิวส์ขึ้น

แต่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกข้าง และ ไม่เป็นกลาง สวนทางกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ประกาศต่อองค์การสหประชาชาติ ว่าจะเป็นกลาง

จนที่สุด พลเอกรังษี ต้องไปเจรจากับ เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย และทำความร่วมมือในการเสนอข่าวด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง ต่อทั้งรัสเซียและยูเครน

แต่ในระหว่างนั้น มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลไม่สบายใจกับการเสนอข่าวของ ททบ.5 สื่อของกองทัพบกซึ่งก็เป็นหน่วยงานของรัฐบาล จึงมีคำสั่งให้ ททบ.5 งดการเสนอข่าวสงครามรัสเซียและยูเครน

แต่ เมื่อ28 มีนาคม ที่ผ่านมาปรากฏว่าในการเสนอข่าวภาคเที่ยงของ ททบ.5 มีการเสนอข่าวสงครามรัสเซียและยูเครน จึงทำให้ ททบ.5 ตัดสัญญาณการออกอากาศทันที
จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา และมีกระแสข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทีมข่าว ใน ททบ.5 ทีมข่าวท็อปนิวส์ จะถอนตัวออก ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แบบกระทันหัน และตามมาด้วย การขอพ้นหน้าที่ผบ.ททบ. 5 ของพลเอกรังษี

สำหรับความคืบหน้าของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ล่าสุดในการเจรจาสันติภาพครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 29-30 มีนาคม 2565 ที่ประเทศตุรกี นั้น มีกระแสสออกมาในโทนของการที่ยูเครนยอมถอย โดยขอเป็นกลาง หลังเกิดความสูญเสียอย่างมากมายจากการสู้รบ แต่ยังมีเงื่อนไข ซึ่งรัสเซียจะรับข้อเสนอหรือไม่ต้องติดตาม 

20220329-a-01.jpg

ยูเครนยอมถอย “วางตัวเป็นกลาง” ไม่เป็นสมาชิกนาโต โจทย์สำคัญเจรจา สงครามส่อผ่อนคลาย

ThsiPBS รายงานว่า แนวโน้มในการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นจากผู้นำยูเครนที่ส่งสัญญาณพร้อมยอมรับสถานะเป็นกลาง แต่ข้อแตกต่างในนิยามของการวางตัวเป็นกลางในมุมมองของรัสเซียกับยูเครน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการเจรจา

ผู้นำยูเครนพร้อมหารือเรื่องหลักประกันความมั่นคงและการวางตัวเป็นกลาง รวมทั้งสถานะรัฐปลอดนิวเคลียร์ แต่จะไม่หารือเกี่ยวกับการปลดอาวุธและการกำจัดระบอบนาซี ขณะที่การบรรลุข้อตกลงใดๆ ก็ตามจะต้องผ่านการลงประชามติและได้รับหลักประกันจากประเทศที่ 3 เป็นอันดับแรก

การวางตัวเป็นกลางไม่ร่วมเป็นสมาชิกนาโต ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของรัสเซียในการถอนทหารออกจากยูเครน

สถานะเป็นกลางในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง “การไม่มีส่วนร่วมในการทำสงครามกับประเทศอื่น และไม่ลงนามเข้าร่วมในความตกลง เพื่อการจัดตั้งระบบพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ”

สถานะเป็นกลางอาจจะพิจารณาจากสนธิสัญญา ข้อตกลง รัฐธรรมนูญ หรือการดำเนินนโยบายของประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศในยุโรปที่เป็นกลางตามรัฐธรรมนูญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรียและมอลโดวา ทางตะวันตกของยูเครน

ผลจากนิยามนี้ หมายถึง ประเทศที่มีสถานะเป็นกลาง จะไม่มีฐานทัพของชาติอื่นตั้งอยู่ในดินแดนของตัวเอง แต่ประเทศที่เป็นกลางยังพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร เนื่องจากการป้องกันตนเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน 

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวชาวรัสเซียทางออนไลน์เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ว่า ยูเครนเตรียมหารือเรื่องการนำนโยบาย “สถานะเป็นกลาง” โดยไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มาใช้ในการเจรจาหยุดยิงกับรัสเซีย

ปธน.เซเลนสกีให้สัมภาษณ์เป็นภาษารัสเซียว่า ยูเครนยินดีที่จะไม่เข้าร่วมนาโตตามที่รัสเซียเรียกร้อง โดยยูเครนสามารถลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวกับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งรัสเซีย หากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ๆ สามารถรับประกันความปลอดภัยให้ยูเครนได้และหากข้อเสนอนี้ผ่านการลงประชามติแล้ว โดยการเจรจาดังกล่าวคาดว่าจะมีขึ้นที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในช่วงต้นสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ปธน.เซเลนสกียืนกรานว่ากองกำลังรัสเซียจำเป็นต้องถอนกำลังออกจากยูเครนก่อน โดยเขากล่าวว่า “การทำประชามติระดับชาติย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากยังมีกองกำลังทหารต่างชาติอยู่ในประเทศ”

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ถ้อยแถลงของปธน.เซเลนสกีมีขึ้นขณะที่รัสเซียบุกยูเครนเป็นเดือนที่ 2 แล้ว โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานเมื่อวานนี้ว่า ประชาชนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น และมีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 1,119 ราย

นอกจากนี้ กองกำลังรัสเซียยังบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และความพยายามในการบุกยึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้าอีกด้วย หลังเผชิญแรงต่อต้านอย่างดุเดือด

ทั้งนี้ ทางการรัสเซียสั่งห้ามสื่อในประเทศรายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าว

บีบีซีวิเคราะห์เจาะปัจจัยที่ช่วยให้ยูเครนเดินเกมรบได้มีประสิทธิภาพ

สำนักข่าว บีบีซี ทางฟากตะวันตก วิเคราะห์เจาะปัจจัยที่ช่วยให้ยูเครนเดินเกมรบได้มีประสิทธิภาพ แม้เป็นรองรัสเซียในทุกด้าน

20220329-a-03.jpg

หนึ่งเดือนหลังจากถูกรัสเซียยกทัพเข้ารุกราน ยูเครนซึ่งยืนหยัดต้านทานข้าศึกได้ดีกว่าที่คาด แม้ว่าจะเป็นรองในทุกด้าน ทั้งรถถัง กำลังพล และอากาศยาน แต่การผนึกกำลังจากอาสาสมัครฝ่ายพลเรือน ก็ทำให้ยูเครนสกัดกั้นการรุกคืบของกองฝ่ายรัสเซียได้ในหลายแนวรบ

แม้ยูเครนจะสูญเสียดินแดนบางส่วน โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศ บริเวณคาบสมุครไครเมีย ซึ่งถูกรัสเซียเข้ายึดครองในปี 2014 แต่จนถึงบัดนี้ รัฐบาลรัสเซียก็ยังไม่สามารถบรรลุแผนการดั้งเดิมที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้ายึดครองกรุงเคียฟ และเมืองใหญ่อื่น ๆ ได้โดยง่ายดายภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังอาจเผชิญสถานการณ์ที่พลิกผันได้ทุกเมื่อ จากการที่ขีปนาวุธต่อต้านรถถังและอากาศยานซึ่งชาติตะวันตกส่งไปช่วยสกัดการรุกคืบของกองทัพรัสเซียนั้น เริ่มร่อยหรออยู่ในระดับที่เป็นอันตราย

ขณะเดียวกัน ทหารที่มีประสบการณ์โชกโชน และชำนาญการรบมากที่สุดของยูเครนก็กำลังเสี่ยงจะถูกข้าศึกเข้าปิดล้อมและถูกบดขยี้ และการที่ประชากรราว 1 ใน 4 ต้องละทิ้งถิ่นฐานเพื่อหนีภัยการสู้รบ ก็ทำให้ประชาชนที่เหลืออยู่ต้องเสี่ยงที่เมืองของพวกเขาจะถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง จากการระดมยิงปืนใหญ่และจรวดของรัสเซีย

ถึงแม้จะเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา แต่กองทัพยูเครนกลับสามารถเดินเกมรบได้ดีกว่ารัสเซียในหลายระดับ จนนายจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมพวกเขาว่าปกป้องประเทศชาติได้ "อย่างชาญฉลาด และคล่องแคล่วมาก อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่ม" แล้วอะไรกันคือสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในตอนนี้

1. มีแรงจูงใจสูง

ทหารทั้งสองฝ่ายมีขวัญกำลังใจที่แตกต่างกันอย่างมากในการทำสงครามครั้งนี้ ฝ่ายยูเครนต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของตนในฐานะชาติเอกราช พวกเขาต่อสู้ด้วยความหวาดกลัวเมื่อได้ยินคำกล่าวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ระบุว่ายูเครนเป็นเพียงสิ่งที่รัสเซียสร้างขึ้น

การที่ประชาชนชาวยูเครนต่างให้การสนับสนุนรัฐบาลและประธานาธิบดีของพวกเขา ก็ทำให้พลเรือนจำนวนมากที่ไม่เคยมีประสบการณ์ฝึกทหารมาก่อนตัดสินใจจับอาวุธขึ้นปกป้องเมือง และบ้านเกิดของพวกเขา แม้ต้องเผชิญกับกองทัพรัสเซียที่มีขุมกำลังเหนือกว่า

2. บัญชาการและควบคุม

การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซียในช่วงต้นของสงครามที่มีเป้าหมายตัดความสามารถในการติดต่อสื่อสารของยูเครนไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ในทางกลับกัน ยูเครนยังสามารถคงการประสานงานและสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายแนวรบ
ส่วนรัฐบาลก็ปักหลักอยู่ในกรุงเคียฟให้ประชาชนได้เห็นอย่างเด่นชัด แม้แต่รองนายกรัฐมนตรีหญิงก็สวมเสื้อยืดสีกากีแบบทหาร ในขณะกล่าวปราศรัยต่อชาวยูเครน โดยมีตราสัญลักษณ์รัฐบาลเป็นฉากหลัง

แต่กองทัพรัสเซียกลับดูเหมือนจะไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่ผู้นำ และมีการประสานงานเพียงเล็กน้อยระหว่างแนวรบต่าง ๆ

นี่อาจส่งผลเชิงลบต่อขวัญกำลังใจของทหารรัสเซีย และมีรายงานว่ามีนายพลรัสเซียอย่างน้อย 5 นายถูกยูเครนปลิดชีพ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่พวกเขาต้องเข้าใกล้การสู้รบ เพื่อนำกำลังพลออกจากวงล้อมการโจมตีของยูเครน

20220329-a-02.jpg

3. กลยุทธ์อันชาญฉลาด

แม้กองทัพยูเครนจะเป็นรองในแง่ของกำลังพล แต่พวกเขากลับใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพกว่าฝ่ายรัสเซียมาก

ในขณะที่รัสเซียเน้นการเคลื่อนพลด้วยขบวนรถหุ้มเกราะเป็นกลุ่มใหญ่อย่างเชื่องช้า แต่ทหารยูเครนกลับประสบความสำเร็จในการรบแบบซุ่มโจมตี แล้วล่าถ่อยออกไปอย่างรวดเร็ว เช่น การซุ่มยิงรถถัง แล้วรีบหนีไปก่อนที่ฝ่ายรัสเซียจะยิงโต้กลับ

ก่อนการบุกของรัสเซีย องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และแคนาดาเข้าไปฝึกฝนทหารยูเครนเป็นเวลานาน เพื่อให้สามารถใช้อาวุธอันทันสมัยที่ส่งไปให้ใช้ป้องกันประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง "แจฟเวอลีน" ที่ผลิตในสหรัฐฯ หรือจรวดต่อสู้รถถังน้ำหนักเบา NLAW ที่ออกแบบโดยสวีเดน รวมทั้งขีปนาวุธสติงเกอร์

4. สงครามสารสนเทศ

นอกจากนี้ ยังมีสงครามสารสนเทศ ซึ่งยูเครนประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับประชาคมโลก ยกเว้นในรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลควบคุมการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ อย่างเข้มงวด

จัสติน ครัมป์ จากบริษัท Sibylline ชี้ว่า ยูเครนสามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเป็นการสื่อสารจากบนลงล่าง ซึ่งมาจากความช่ำชองด้านการใช้สื่อของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี

ดร.รูธ เดียร์มอนด์ ผู้บรรยายอาวุโสด้านความมั่นคงหลังยุคโซเวียต จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า "ชัดเจนว่ารัฐบาลยูเครนประสบความสำเร็จในการควบคุมการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ โดยเฉพาะการสื่อสารให้ประเทศอื่น ๆ ได้รับทราบเป็นวงกว้าง"

อย่างไรก็ตาม แม้ยูเครนจะยืนหยัดต้านทานการรุกรานของรัสเซียมาได้ 1 เดือนแล้ว แต่กำลังพลที่มากกว่าของรัสเซีย รวมถึงการที่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยูเครนได้รับจากชาติตะวันตกกำลังร่อยหรอลงทุกขณะ ก็ทำให้น่าคิดว่ายูเครนจะคงกำลังต้านทานข้าศึกอย่างแข็งแกร่งเช่นนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน

Walter Bloomberg ทวีตว่า  LAVROV รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่าการประชุมใดๆ ระหว่างปูตินและเซเลนสกี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในตอนนี้จะส่งผลตรงกันข้าม

อ้างอิง : 
https://www.bbc.com/thai/international-60869439
https://twitter.com/DeItaone/status/1508368507473440771
ไทยโพสต์,  มติชน, BBC, Wassana Nanuam, Thanong Fanclub 
ขอบคุณภาพจาก BBC , Reuters

ติดต่อโฆษณา!