วันแรงงาน ลูกจ้างขอขึ้นค่าแรงเป็น 492 บาท ไหวไหม?
Highlight
สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาร่วม 2 ปี ผลกระทบจากการระบาดของโควิด ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หนึ่งในฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจหยุดชะงักไป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังหลายธุรกิจ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างบอบช้ำไปตามๆกัน มาปีนี้เจอสงครามยูเครน-รัสเซียมาซ้ำเติม ทำให้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของภาคการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงและค่าครองชีพสูงตามไปด้วย ข้อเรียกร้องลูกจ้างในการเพิ่มค่าแรงเป็น 492 บาท นายจ้างไม่เห็นด้วย
1 พ.ค. นี้ นายกฯ เตรียมเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2565 พร้อมรับข้อเรียกร้องขึ้นค่าแรง ด้านสภาองค์การนายจ้างไม่เห็นด้วยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ ชี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ สถานการณ์ข้างหน้าไม่เคลียร์ทั้ง สงครามที่ทำให้ต้นทุนน้ำมันปรับขึ้นมามาก และการระบาดโควิด-19 ในขณะที่ลูกจ้างบ่นอุบค่าครองชีพสูง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยวันนี้ (29 เม.ย. 2565) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ในวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะกล่าวรายงานสรุปความคืบหน้าของภารกิจตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ
จากนั้น นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ. 2565 จะนำเสนอข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ และยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้รับข้อเรียกร้อง กล่าวสุนทรพจน์ และเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน
ทางด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อ 28 เม.ย. 2565 ว่า นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ นำตัวแทนคณะสภาองค์การนายจ้างฯ เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเป็นจริงและเหมาะสม และไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงจาก 331 บาทเป็น 492 บาททั่วประเทศ
นายสุชาติ กล่าวว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันจะมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว
สำหรับปี 2565 บอร์ดค่าจ้างกำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร จัดประชุมพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2565 ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป จากนั้นบอร์ดค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2565
ขณะที่ นายทวีเกียรติ กล่าวว่า สภาองค์การนายจ้างฯ มีมติยังไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น
กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนยังไม่นิ่ง กรณีที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนด เนื่องจากสภาองค์การนายจ้างฯ และสมาคมนายจ้าง ยังไม่เห็นสมควรขึ้นในช่วงนี้ และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ.
ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของ 15 สภาองค์การลูกจ้างประกอบด้วย
1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
2. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ....ฉบับแก้ไขเข้าสู่รัฐสภาเร่งด่วน
3. ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
4. ให้รัฐบาลเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อาทิ หามาตรการให้สถานประกอบการที่รับเหมาช่วงปฎิบัติตามกฏหมาย
5. ปฎิรูปแก้ไขประกันสังคม อาทิ ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปีเป็น 15-70 ปี
6. เร่งออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ
7. จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการภาคราชการ
8. ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง