ไทยปลื้ม! ติดอันดับ 8 ของโลก ปลอดภัยด้านท่องเที่ยว อันดับ 3 ของเอเชีย อันดับ 1 อาเซียน
Highlight
การท่องเที่ยวยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในการฉุดเศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาได้ หลังจากที่ซบเซาไปถึง 2 ปีกว่าจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผลสำรวจความปลอดภัยในการเดินทางโดยชาวอเมริกัน ปรากฎว่า ไทยติดอันดับโลก นับว่าเป็นข่าวดีที่มาถูกจังหวะ สอดคล้องกับการปลดล็อค Test&Go ที่เริ่มต้นเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นส่วนเสริมให้การท่องเที่ยวไทยน่าจะไปได้ไกลกว่าคาดไว้ในปีนี้
Berkshire Hathaway Travel Protection) เปิดเผยผลสำรวจรายงานสถานะการประกันภัยการเดินทาง (State of Travel Insurance Report) พบว่า ประเทศไทย ติดอันดับที่ 8 ของโลก เป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ให้คะแนนด้านความปลอดภัยในการเดินทางมากที่สุด โดยถือเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนในภูมิภาคอาเซียน ถือว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน มองว่ามีความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความยินดี หลังจากที่ผลสำรวจดังกล่าวออกมาซึ่ง ช่วยเสริมสร้างคงามมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เดินทางมานังประเทศไทยด้วยความอุ่นใจมากขึ้น
ผลสำรวจยังพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก สำหรับจุดหมายปลายทางที่มีความปลอดภัยด้วย ที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้พัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ผลสำรวจล่าสุดของเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ทราเวล โพรเทกชั่น จะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยในภาพรวม โดยเฉพาะขณะนี้ที่รัฐบาลกำลังจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พ.ค.นี้
วิจัยกรุงศรี กล่าวว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่เดินทางมาไทยมีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับ 5 รองจากรัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.5 ล้านคน เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปียังเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน
1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวรัสเซีย และการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไทยของนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง
2. นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดหลัก ยังมีแนวโน้มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด และ
3. การแข่งขันที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกใต้
คมนาคมพอใจผลเปิดประเทศ ปลดล็อก Test&Go
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีปัญหาความแออัดก่อนหน้านี้ ขณะนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความพร้อมต้อนรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ สามารถบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว แม้เป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนซึ่งมีผู้โดยสารจำนวนมาก โดยใช้เวลาในการตรวจเช็คเอกสาร Thailand Pass เพียงแค่ 30 วินาที/ คน สามารถระบายความแออัดของผู้โดยสาร 322 คน ในเวลาไม่ถึง 20 นาที รวมจุดบริการทั้งสิ้น 15 ช่องทาง
ทั้งนี้ส่วนบริเวณจุดตรวจคนเข้าเมืองนั้นมีความสะดวกรวดเร็วเช่นกันด้วยระยะเวลาไม่ถึง 15 นาที ต่อผู้โดยสาร 322 คน เช่นเดียวกับจุดรับกระเป๋ามีแนวทางบริหารจัดการได้มีระเบียบเช่นกัน มั่นใจว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นแน่นอนหลังจากผ่อนคลายมาตรการ Test&Go
โดยคาดว่าการเดินทางจะกลับมาคึกคักเต็มที่ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ ประเมินว่าปริมาณผู้โดยสารชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะกลับมาอยู่ที่ราว 100,000 คน/วัน อีกครั้งในช่วงปี 2567 หรือคิดเป็น 36.5 ล้านคน/ปี ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ตามคาดการณ์ของ IATA (ไออาต้า)
อย่างไรก็ตาม ทอท. ไม่กังวลกับผู้โดยสารต่างชาติที่ยังไม่ฉีดวัคซีน เนื่องจากมีปริมาณน้อยจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้โดยสารต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยโดยยังไม่ฉีดวัคซีนเพียง 11 คน จากทั้งหมด 17,000 คน ซึ่งทาง ทอท.ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงแรมเพื่อเตรียมพร้อมอำนวยสะดวกนักท่องเที่ยวเอาไว้แล้ว
“ขอให้ ทอท.รักษามาตรฐานบริหารจัดการผู้โดยสารแบบนี้ไว้ เพื่อสื่อสารด้านความพร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนซึ่งมีผู้โดยสารเข้ามาจำนวนมากบนช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้พัฒนาจัดระเบียบพื้นที่แก้ปัญหาความแออัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” นายชยธรรม์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการยกเลิกมาตรการ Test & Go และเปลี่ยนเป็นใช้แค่การตรวจด้วย ATK โดยมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การเข้าประเทศดังนี้
1. ผู้เข้าประเทศจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass ก่อนเข้าประเทศ โดยผู้ฉีดวัคซีนต้องแสดงหลักฐานการฉีดครบโดสและประกันภัย ขณะที่ผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบโดสต้องแสดงหลักฐานการจองที่พักแบบ AQ และประกันภัย
2. ต้องมีประกันภัยที่ครอบคลุมการรักษาโควิดขั้นต่ำจำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
3. ผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ยกเลิกการตรวจเมื่อมาถึง และแนะนำให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากพบเชื้อให้เข้ารับการรักษาตามกระบวนการ
4. ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด แสดงผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางถึงประเทศในระบบ Thailand Pass ไม่จำเป็นต้องกักตัว หรือกักตัวตามระบบ AQ โดยตรวจ RT-PCR วันที่ 4-5 แนะนำให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากติดเชื้อให้เข้ารักษาตามระบบ และ5.กรณีเป็นผู้เสี่ยงสูงแนะนำให้กักตัว 5 วันและสังเกตอาการ 5 วัน ตรวจ ATK วันที่ 5 และ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, วิจัยกรุงศรี, Thaipost