เงินเฟ้อไทยเดือนพ.ค.พุ่ง 7.1% สูงสุดรอบ 13 ปี ผลจากราคาพลังงานและอาหารสูงขึ้น

เงินเฟ้อไทยเดือนพ.ค.พุ่ง 7.1% สูงสุดรอบ 13 ปี ผลจากราคาพลังงานและอาหารสูงขึ้น
Highlight

เงินเฟ้อไทยพุ่งสูงถึง 7.1% ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมัน พลังงาน และราคาอาหารสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ 44.7 ส่วนแนวโน้มเดือนมิ.ย. มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกเนื่องราคาเชื้อเพลิงยังอยู่ในะดับสูงอีกทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพบางอย่างสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. เช่น การขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร


กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 7.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยสาเหตุหลักยังคงมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 37.24% และราคาอาหารปรับสูงขึ้น 6.18% ตามลำดับ 

รวมถึงการยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้เร่งตัวขึ้น 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 สูงขึ้น 1.40%  จากการสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน ผลไม้สด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5.19%

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจาก ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ 

ขณะที่ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาทิ สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา โดยต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นหลายรายการ เช่น ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

“อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกรณีที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐในบางโครงการได้สิ้นสุดลง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม โดยเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. สูงสุดในรอบ 13 ปี” นายรณรงค์ กล่าว

นายรณรงค์ กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป 

อัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร นายรณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  

ในเดือนพ.ค.65 นี้ มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาสูงขึ้น 190 รายการเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.65 เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, เนื้อสุกร, ค่ากระแสไฟฟ้า, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, ก๊าซหุงต้ม, ข้าวสารเจ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง 163 รายการ ได้แก่ มะนาว, พริกสด, ผักกาดขาว, มะม่วง, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และนมสด เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 77 ราย

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงทิศทางอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.65 ว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าและบริการที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมมองว่า ต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเดือนมิ.ย. เนื่องจากในเดือนนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการหารือกับซาอุดิอาระเบียเพื่อขอให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ช่วยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงได้บ้าง

ราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและฐานเงินเฟ้อที่ต่ำในปีที่ผ่านมาน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับสูงไปจนถึงไตรมาส 3 ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 4 ตามฐานการคำนวณที่สูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีคงไม่น่าจะเกิน 6-7% ผอ.สนค. กล่าว

สุดอั้น.. กบน.มีมติปรับขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 1 บาท-ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลปรับจากลิตรละ 32.94 บาท เป็นลิตรละ 33.94 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

การปรับราคาดังกล่าว เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) อยู่ที่ 158.29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (2 มิ.ย. 65) เพิ่มขึ้นจากเดิมสัปดาห์ก่อนราคา 149.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (27 พ.ค. 65) ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการออกมาตราการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปที่ตกลงจะห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเชีย การเปิดประเทศของจีน ตลอดจนปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ลดลงกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ กบน. ยังได้ปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ลงลิตรละ 0.93 บาท (เดิมจัดเก็บลิตรละ 1.02 บาท เหลือ 0.09 บาท) และ E20 ลดลงลิตรละ 0.94 บาท (เดิมจัดเก็บลิตรละ 0.12 บาทปรับเป็นให้การชดเชย 0.82 บาท) ทั้งนี้เพื่อให้ราคาขายปลีกลดลง

ทั้งนี้ ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 5 มิถุนายน 2565 ติดลบ 86,028 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 50,147 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 35,881 ล้านบาท

คลัง พลังงาน สศช. เร่งหาทางออกกองทุนน้ำมันฯ หาแหล่งเงินกู้เพิ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ อยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาทางออกให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

“ทางออกของการกู้เงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ เพราะยังอยู่ระหว่างการหารือ และต้องหารือกับสำนักงานกฤษฎีกาก่อน ถึงสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจะสามารถกู้เงินได้หรือไม่” นายอาคม กล่าว

พร้อมระบุว่า ช่องทางที่รัฐบาลจะใช้งบกลางในการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถทำได้ แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องหาวิธีการในการช่วยเหลือตัวเองให้เต็มที่ก่อน เพราะตอนนี้กองทุนน้ำมันฯ ยังสามารถบริหารสภาพคล่องได้อยู่ แม้ว่าสถานะกองทุนฯ จะติดลบกว่า 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากยังมีรายได้เข้ามา

ส่วนเพดานราคาน้ำมันดีเซลที่สามารถปรับขึ้นได้ไปถึงลิตรละ 35 บาทนั้น กองทุนน้ำมันฯ จะต้องพิจารณาว่าหากเงินกู้เข้ามาไม่ทัน ก็ต้องหามาตรการอื่น ๆ เช่น การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเพื่อลดภาระกองทุนฯ เพราะยังมีช่องที่สามารถปรับขึ้นได้อยู่

ติดต่อโฆษณา!