เปิดผลสำรวจธุรกิจ-สายงาน โตก้าวกระโดดหลังยุคโควิด-19
Highlight
จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)เผยผลสำรวจภาพรวมธุรกิจและแนวโน้มตลาดงาน ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามี 4 ธุรกิจที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย 1.ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี 2.ไอที 3.การผลิต และ 4.การแพทย์และเภสัชกรรม และขณะภาคการท่องเที่ยวเริ่มต้องการมากขึ้น แนะแรงงานเสริมแกร่งทักษะด้านดิจิทัล รองรับวิถีการทำงานยุคใหม่
หลายธุรกิจเติบโตหลังยุคหลังโควิด-19 และแรงงานปรับตัวเสริมทักษะดิจิทัล รองรับคลื่นความต้องการตลาดงาน ในขณะเศรษฐกิจภาพรวมยังคงชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% ส่วนในด้านตำแหน่งงานว่าง ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% ผันแปรไปตามจำนวนที่มากขึ้นของประชากรที่ได้รับวัคซีน โดยเหล่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
น.ส.ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในงาน “SURVEY TO SURVIVE: เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน ทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี” ว่า จากฐานข้อมูลและผลสำรวจภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานของจ๊อบส์ดีบี พบว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วมี 4 ธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี ซึ่งได้รับผลพวงเชิงบวกมาจากการใช้พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 300% จากการจัดส่งอาหารในช่วงโรคระบาด
2. ธุรกิจไอที ที่เติบโตจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลที่ผลักดันการนำเอาอุปกรณ์ไอทีมาประยุกต์ใช้
“ไอที ยังคงเป็นสายงานมนุษย์ทองคำ ที่ตลาดงานพร้อมแย่งชิงตัว และเป็นสายงานที่เงินเดือนขึ้นอันดับ 1 มาตลอดตั้งแต่ก่อนโควิด โดยมีภาค SME บางแห่ง พร้อมทุ่มเสนออัตราเงินเดือนที่สูง เพื่อดึงดูดมนุษย์ไอทีเข้าทำงาน” น.ส.ดวงพร กล่าว
3. ธุรกิจการผลิต จากดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาดเริ่มผ่อนปรนลง
4. ธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม ที่ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาดหลายปีที่ผ่านมา
สายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
1. สายงานไอที คิดเป็น 19.1%
2. สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 19.0%
3. สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 13.9%
กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่
1. สายงานอีคอมเมิร์ซ คิดเป็น 71.7%
2. สายงานขนส่ง คิดเป็น 43.8%
3. สายงานการเงินและการธนาคาร คิดเป็น 26.2%
สายงานที่มีจำนวนใบสมัครสูงสุด ได้แก่
1. สายงานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 14.3%
2. สายงานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 11.7%
3. สายงานธุรการและทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 10.9%
น.ส.ดวงพร กล่าวว่า จากผลสำรวจสรุปภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานปี 65 โดยอ้างอิงจากจำนวนประกาศงานและข้อมูลการสมัครงาน พบว่า เศรษฐกิจภาพรวมยังคงชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% ส่วนในด้านตำแหน่งงานว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% ผันแปรไปตามจำนวนที่มากขึ้นของประชากรที่ได้รับวัคซีน โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง และจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
“คาดการณ์การจ้างงานครึ่งปีหลัง มองว่าจะมีการจ้างงานมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากโควิดด้วย”
มีบางสายงานที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่ไม่มีผู้สมัคร เช่น ภาคการท่องเที่ยว ที่ในช่วงโควิด-19 ผู้ที่ทำงานสายนี้ต้องลาออกไปทำงานสายอื่น และมีส่วนน้อยที่กลับบมาทำงานสายเดิม น.ส.ดวงพร กล่าว
อย่างไรก็ดี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กจบใหม่ หรือผู้ที่ต้องการทำงานสายนี้มากขึ้น ขณะที่บางสายงานที่มีความต้องการในตลาดจำนวนมาก เช่น สายการผลิต และงานสายไอที-ดิจิทัล มีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 50-60%
“สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันการดำเนินธุรกิจ การซื้อขาย และการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ช่วยกระตุ้นให้สายงานเหล่านี้พลิกกลับขึ้นมาเป็นสายงานสำคัญ และเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์” น.ส.ดวงพร กล่าว
แนะแรงงานปรับตัวเสริมทักษะดิจิทัล รองรับคลื่นความต้องการตลาดงาน
จ๊อบส์ดีบี ได้ร่วมมือกับ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) จัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล” (Decoding Digital Talent Survey) จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ พบว่า แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลทั่วโลก มีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนงานภายใต้สายงานเดิม โดยมีปัจจัยด้านความต้องการแสวงหาโอกาสในการก้าวหน้าอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และความท้าทายใหม่ ๆ เป็นแรงจูงใจหลัก ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล จะมีส่วนช่วยให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น
องค์กรและประเทศยอดฮิตที่แรงงานสนใจในระยะไกล
แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลทั่วโลก จำนวนไม่น้อย (70% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก) ตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการทำงานระยะไกลในช่วงวิกฤตโรคระบาด ยินดีที่จะทำงานแบบระยะไกลให้กับองค์กรที่อยู่ต่างพื้นที่
โดย 5 ประเทศที่แรงงานในยุคนี้สนใจต้องการทำงานระยะไกลให้ด้วยมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์