ธปท.ชี้เศรษฐกิจ พ.ค.โตขึ้นต่อเนื่อง ส่งออกดี-ท่องเที่ยวฟื้น ต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.3 ล้านคน

ธปท.ชี้เศรษฐกิจ พ.ค.โตขึ้นต่อเนื่อง ส่งออกดี-ท่องเที่ยวฟื้น ต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.3 ล้านคน
Highlight

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.65 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ดุลย์การค้าเกินดุลย์ แต่บัญชีเดินสะพัดขาดดุลย์ ในครึ่งปีหลังมีความท้าทายเรื่องเงินเฟ้อ การปรับอัตราดอกเบี้ย และเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนคลายเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์เลิกเพดานจ่ายปันผลแบงก์-ปรับเงินนำส่ง FIDF กลับปกติ เพิ่มมาตรการช่วยลูกหนี้


ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมมีสัญญาณที่ดีโดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว 

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวตามรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลมากขึ้น

ธปท.ระบุในรายละเอียดว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่น้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก สอดคล้องกับอุปสงค์โดยรวมที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงบ้างหลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อนตามยอดขายวัสดุก่อสร้าง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอาเซียนและอินเดีย เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างต่อเนื่องจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว ประกอบกับการส่งออกผลไม้ไปจีนเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกบริหารจัดการปัญหาการขนส่งได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนปรับลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการผลิตหมวดยานยนต์ที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตในหลายหมวดยังคงปรับเพิ่มขึ้น อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดปิโตรเลียม

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง หมวดสินค้าทุน และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายลงทุนซึ่งมีการทยอยเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลดลง เนื่องจากการก่อสร้างเกิดความล่าช้าในโครงการคมนาคม สำหรับรายจ่ายประจำทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาในหมวดอาหาร และผลของฐานค่าน้ำประปาที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ แม้ดุลการค้าจะเกินดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ธปท.เลิกเพดานจ่ายปันผลแบงก์-ปรับเงินนำส่ง FIDF กลับปกติ, เพิ่มมาตรการช่วยลูกหนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) วันนี้เห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แม้การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มส่งผลดีต่อสถานะของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ระบบ สง. มีความมั่นคงสะท้อนจากเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง 

ทำให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ผ่อนปรนและมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง (broad-based) มีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติได้ (policy normalization) โดยยังเน้นมาตรการเฉพาะจุด (targeted) เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง

ธปท. จึงเห็นควรปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ดังนี้

1. ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี เนื่องจากผลการทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) ชี้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า รวมทั้งผู้กำกับดูแลในต่างประเทศส่วนใหญ่ ก็ได้ยกเลิกนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผลเพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินในช่วงระบาดของโควิด 19 แล้ว

2. ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับมาอยู่ที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 66 เป็นต้นไป จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและสถาบันการเงินยังมีฐานะเข้มแข็ง จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้ในระยะต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลดเงินนำส่ง FIDF และยังจะช่วยให้หนี้ของ FIDF ทยอยลดลงตามเป้าหมาย ไม่สร้างภาระต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาว

นอกจากนั้น ธปท.ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ด้วยมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ทั้งการผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนี้

มาตรการเดิมที่ยังมีผลอยู่

1. มาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 66

2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.66

3. การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.66

มาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง ดังนี้

1. คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 66 และที่ 8% ในปี 67 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไป และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 66 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง

2. ปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้

ธปท.เผยดุลบัญชีเดินสะพัด พ.ค.ขาดดุลต่อเนื่องเหตุต่างชาติส่งกลับกำไร-ปันผล

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนพ.ค. ขาดดุล 3,716 ล้านดอลลาร์ โดยยังขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเม.ย. ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3,057 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว เป็นผลจากอยู่ในช่วงฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย

อย่างไรก็ดี คาดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เนื่องจากจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มกลับเข้ามา และทั้งปีคงจะขาดดุลไม่สูงไปกว่าระดับที่ ธปท.เคยประเมินไว้ที่ 8 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศหลังโควิดคลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าในไทยเดือนพ.ค. อยู่ที่ 5.2 แสนคน ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. – พ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.3 ล้านคน ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ดัชนีผลผลิตภาคบริการปรับตัวดีขึ้นด้วย

ส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 25,598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมการทองคำ มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 13.4% ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนพ.ค.ขยายตัวได้ดีในทุกหมวดสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้า อยู่ที่ 23,612 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน พ.ค.65 ไทยเกินดุลการค้า 1,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนพ.ค.ยังมาจากปัจจัยสินค้าหมวดอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากที่ภาครัฐลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5% และมีโอกาสที่บางเดือนในไตรมาส 3 เงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงถึง 8% ได้

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือนพ.ค. เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง จากผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่อย่างไรก็ดี เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่ายังอยู่ในระดับกลางๆ

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในเดือนมิ.ย. ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากดอลลาร์สหรัฐยังมีทิศทางแข็งค่า หลังจากนักลงทุนกังวลการเร่งตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของขึ้นเฟด ซึ่งทำให้ตลาดกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า จึงทำให้มีการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ได้หรือไม่นั้น ยังประเมินได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมาจากสถานการณ์โลกที่แนวโน้มยังมีความเสี่ยงอยู่มาก จึงทำให้สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น รวมถึงผลจากนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดด้วย

“คนมาถือดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างเยอะ จึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และกดดันให้บาทอ่อน…ในครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา คงไม่เห็นความผันผวนของเงินบาทในด้านอ่อนค่ามากเหมือ

ติดต่อโฆษณา!