ค่าไฟจ่อแตะ 5 บาท/หน่วย งวด ก.ย.-ธ.ค.65 อาจยาวถึงปีหน้า ด้าน กฟผ.แบกต้นทุน 8 หมื่นล้าน
Highlight
กกพ.จ่อประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า หลังประเมินต้นทุนยังสูง คาดอาจจ่ายเพิ่มช่วงครึ่งหลังของปี แตะ 5 บาท/หน่วย เนื่องจากราคาก๊าซแพงขึ้นแตะ 30 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ในขณะที่ กฟผ.แบกต้นทุนใกล้แตะแสนล้านบาทปลายปีนี้ ด้านผลสำรวจนิด้าโพล เผย ประชาชนมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงกระทบมากที่สุด ตามด้วย ค่าอาหารในชีวิตประจำวัน และค่าไฟฟ้า
สื่อหลายสำนักรายงาน อ้างอิงแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนและปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ในงวดใหม่เดือน ก.ย.-ธ.ค.65 มีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และอาจทำให้ค่าไฟฟ้าอาจต้องปรับเพิ่มสูงถึงเกือบ 5 บาท/หน่วย ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้คาดว่า กกพ.จะประกาศค่าเอฟทีอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทย และยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.65 จนถึงปัจจุบัน
“ปลายสัปดาห์นี้ กกพ.จะต้องประชุมทบทวนอีกครั้ง เพื่อประกาศค่าเอฟที ราคาแอลเอ็นจีนำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน พุ่งสูงแตะระดับกว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูแล้ว จากเดิมอยู่ที่กว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งกกพ.ค่อนข้างหนักใจ ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยยังขาดความชัดเจน ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับแทนประชาชนอีกกว่า 80,000 ล้านบาทในงวดก่อนหน้าที่ กกพ.อาจจะต้องเข้าไปดูแลช่วยลดภาระต้นทุนผ่านการทยอยปรับเพิ่มผ่านค่าเอฟทีด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่ กกพ.ต้องเลือกที่จะดูแลความมั่นคงทางพลังงานเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะดูแลผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าไฟฟ้าต้องไม่ขาด ประชาชนและภาคธุรกิจต้องมีไฟฟ้าใช้
ดังนั้นหากให้ กฟผ.แบกรับภาระทางการเงินแทนผู้ใช้ไฟฟ้าเกินกำลังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับระบบ และการดูแลความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในการประกาศค่าเอฟทีตั้งแต่ต้นปี 65 กกพ.ได้ทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟทีโดยขอให้ กฟผ.ได้แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท และ ครม.ได้มีมติให้ กฟผ.กู้เงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท ในช่วงที่มีการแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง
จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติอาจปรับตัวดีขึ้นได้บ้างจากแนวโน้มราคาก๊าซที่ลดลงมาได้บ้างในไตรมาสนี้ แต่ขณะนี้ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงฤดูหนาวปลายปีจนถึงต้นปีหน้า
หากให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนต่อโดยไม่มีการทยอยคืนให้ผ่านการปรับเพิ่มค่าเอฟที ก็อาจทำให้ กฟผ. ติดลบสูงถึง 100,000 ล้านบาทภายในปี 65” แหล่งข่าวกล่าว
อีกประเด็นที่ กกพ. หนักใจคือปัจจัยของความไม่แน่นอนจากปริมาณผลผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ขาดช่วงไประหว่างการเปลี่ยนผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ และแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมมีปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณป้อนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน จนถึงขณะนี้ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน
ทำให้การบริหารจัดการและการวางแผนทำได้ยากมากขึ้นด้วย ได้รับแจ้งเพียงว่าระยะเวลาที่จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติกลับมามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในระดับเดิม ก่อนเปลี่ยนสัมปทานอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสำรวจ ขุดเจาะ ผลิตอีกประมาณ 2 ปี หมายความว่าค่าไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงราคาแพงจากการนำเข้าแอลเอ็นจีทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวอีกอย่างน้อย 2 ปีเช่นกัน และคาดการณ์ได้ว่าไทยจะเผชิญกับภาวะค่าไฟแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ และต่อเนื่องในปี 66 ตลอดทั้งปีด้วย
นอกจากนี้ ปัจจัยลบอื่นที่กระทบต่อค่าเอฟทีในงวด ก.ย.-ธ.ค.65 ยังได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจริงในงวดก่อนหน้าที่สูงกว่าประมาณการ ที่ต้องนำมาคำนวณรวมกับค่าเอฟทีในงวด ก.ย.-ธ.ค.65 รวมถึงภาระต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยประมาณการค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค.65 อยู่ที่ 34.40 บาทต่อเหรียญฯ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน” ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทุกภูมิภาค 1,312 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงรายได้ปัจจุบันของประชาชน พบว่า ร้อยละ 47.10 ระบุว่ารายได้ลดลง รองลงมา ร้อยละ 46.72 ระบุว่ารายได้เท่าเดิม และร้อยละ 6.18 ระบุว่ารายได้มากขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายในแต่ละเดือน ร้อยละ 60.06 ระบุว่ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา ร้อยละ 32.62 ระบุว่ารายได้พอๆ กับรายจ่าย และร้อยละ 7.32 ระบุว่ารายได้มากกว่ารายจ่าย
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการใช้จ่ายในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.73 ระบุว่าการใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง, อันดับ 2 ร้อยละ 25.79 ระบุว่าอาหารประจำวัน, อันดับ 3 ร้อยละ 13.47 ระบุว่า ไฟฟ้าในครัวเรือน, อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ระบุว่าแก๊สหุงต้ม, อันดับ 5 ร้อยละ 3.36 ระบุว่าการผ่อนชำระค่ารถ, อันดับ 6 ร้อยละ 3.18 ระบุว่าน้ำประปา, อันดับ 7 ร้อยละ 2.79 ระบุว่าการผ่อนชำระค่าบ้าน, อันดับ 8 ร้อยละ 2.32 ระบุว่าอุปกรณ์หรือวัตถุดิบในการประกอบอาชีพและการใช้จ่ายด้านการเรียนหนังสือของตนเองหรือบุตรหลานในสัดส่วนที่เท่ากัน, อันดับ 9 ร้อยละ 1.79 ระบุว่าค่าเช่าที่อยู่อาศัย, อันดับ 10 ร้อยละ 1.56 ระบุว่าไม่มีการใช้จ่ายใดที่สร้างผลกระทบ และอันดับ 11 ร้อยละ 1.50 ระบุว่าการใช้จ่ายด้านการโดยสารขนส่งสาธารณะ