วันเข้าพรรษา 2565 มีกิจกรรมที่ไหนบ้าง ?
Highlight
วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งศาสนาพุทธ ซึ่งพระสงฆ์ได้หยุดพักจากการจาริกเผยแผ่ศาสนายังสถานที่ต่างๆ ที่จะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝนโดยมีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงมีประเพณีถวายเทียนพรรษา แห่เทียนพรรษา หลายจังหวัดมีกิจกรรมส่งเสริมประเพณีอันดีงาม และถือเป็นเทศกาลท่องเที่ยวอิ่มบุญประจำปีอีกด้วย
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยได้บัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรืออาจพูดเป็นภาษาทั่วไปว่า จำพรรษา (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน , จำ แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ไม่สามารถละเว้นได้ทุกกรณี ซึ่งการเข้าพรรษาตามปกติจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่สำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) พุทธศาสนิกชนชาวไทย รวมถึงพระมหากษัตริย์และบุคคลทั่วไปได้สืบทอดประเพณีการปฏิบัติและการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้จำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักจากการจาริกเผยแผ่ศาสนายังสถานที่ต่างๆ ที่จะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาจำพรรษตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาส หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ นับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วยเอง
อีกทั้งในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอด 3 เดือนนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้บำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และนับเป็นโอกาสพิเศษที่มากกว่าวันสำคัญอื่นๆ โดยในวันเริ่มต้นพรรษานี้ จะมีการถวายหลอดไฟ หรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ เพื่อไว้สำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้ตลอดการอยู่จำพรรษา ซึ่งในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนและมีอายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า บวชเอาพรรษา
นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งในปีถัดมายังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา หวังเพื่อเป็นการส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
1. ช่วงวันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ จะช่วยให้ต้นกล้าของพันธุ์พืช ตลอดจนสัตว์เล็กสัตว์น้อยไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 – 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาจะเป็นช่วงที่ให้พระสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
3. วันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง อีกทั้งยังได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
5. เพื่อเป็นการให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ อาทิ ทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดช่วงเวลาเข้าพรรษาอีกด้วย
ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์
ถึงแม้ว่าการเข้าพรรษาจะถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรงที่ไม่สามารถละเว้นได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม แต่ในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้นอาจมีกรณีจำเป็นบางอย่างที่ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างแรมที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณีๆ ไป ซึ่งได้มีระบุไว้ในพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนา หรือการอุปัฏฐานบิดามารดา ทั้งนี้ ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า สัตตาหกรณีย พระพุทธเจ้าได้ทรงระบุเหตุต่างๆ เอาไว้ในกรณีจะออกจากที่จำพรรษาไปชั่วคราวได้ ดังนี้
1. การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และบิดามารดา
2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5
3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือการไปทำสังฆกรรม อาทิ สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น
4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ให้ไปทายกได้โดยให้ทาน รับศีล ฟังเทศนาธรรมได้ ในกรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ก็จะไปค้างไม่ได้
หากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัยก็ถือว่าขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้) แต่ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องได้ แต่หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะและต้องกลับมาภายใน 7 วันเพื่อไม่ให้ขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าว
ตร.เตือนห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา ประจำปี 2565 พร้อมดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการอำนวยความสะดวกการจราจรช่วงวันหยุดยาว 13-17 ก.ค.65
สำนักงานตำรวจแห่งชาติพล.ต.ต.หญิง วิชญ์ชยากร ณิชาบวร รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 และวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 เป็นวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานนานาชาติ
โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้สร้างการรับรู้ถึงเรื่องนี้ และขอความร่วมมือมายังประชาชน และผู้ประกอบการร้านค้า ให้งดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีกทั่วราชอาณาจักร ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน (เวลา 24.00 น.) ของคืนวันที่ 12 ก.ค. 65 จนถึงเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 14 ก.ค. 65 (ยกเว้นเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ) หากผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565 เป็นช่วงวันหยุดยาวถึง 5 วัน ประชาชใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุดและเตรียมออกเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว และทำบุญกันเป็นจำนวนมาก
กิจกรรมวันเข้าพรรษา
• ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษาและถวายเทียนพรรษา
• ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร
• ร่วทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
• อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565
เทศกาลเข้าพรรษากับเทียนพรรษาเป็นของคู่กัน พุทธศาสนิกชนนิยมหล่อเทียนแท่งใหญ่แล้วแห่ไปตั้งในวัดเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอด 3 เดือน จนกลายเป็นงานบุญน่าสนุกสนาน เพราะการแห่เทียนพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน โดยเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงาม ซึ่งหนึ่งในจังหวัดที่จัดงานแห่เทียนพรรษาอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปีคือ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเป็นเทียนแกะสลักที่มาจากชุมชนคนทำเทียนของวัดต่าง ๆ ในจังหวัด รวมถึงต้นเทียนพรรษาจากอำเภอต่าง ๆ ด้วย
โดยการจัดงานประจำปี 2565 เป็นปีที่ 121 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 และมีพิธีปล่อยขบวนต้นเทียน ได้แก่ ขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนต้นเทียน ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และขบวนเทียนโบราณ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม การแสดงแสง สี เสียง ขบวนแห่ภาคกลางคืน ซึ่งจะมีการแสดงขบวนแห่ต้นเทียนและขบวนฟ้อนรำ จากคุ้มวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอ และท้องถิ่น ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป บริเวณด้านหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม จากนั้นจะเคลื่อนขบวนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ตั้งแต่ถนนอุปราช บริเวณหน้าปะรำพิธีวัดศรีอุบลรัตนาราม ตรงไปทางถนนชยางกูร จนถึงสี่แยกเอสโซ่ ระยะทางกว่า 1.3 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวและประชาชนสามารถชื่นชมความงดงามของต้นเทียนได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีการปรับลดความแออัดให้มีระยะห่างเพิ่มขึ้น
งานแห่เทียนโคราช ประจำปี 2565
เป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา กับงานแห่เทียนโคราช แม้จะงดจัดงานไป 2 ปี (2563-2564) จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ในปี 2565 ทางจังหวัดก็ออกมาประกาศว่าจะจัดงานแห่เทียนโคราชขึ้นในระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สวนสุรนารี สวนเมืองทอง เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของไทย ภายในงานมีการจัดกิจกรรมการประกวดต้นเทียนพรรษา การประกวดขบวนแห่ การประกวดวาดภาพระบายสี การแกะสลักเทียนพรรษา และมหรสพสมโภช อาทิ การแสดงของศิลปินกำปั่น บ้านแท่น การแสดงดนตรีลูกทุ่งของโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) การแสดงวงออร์เคสตรา เป็นต้น
งานบุญเข้าพรรษา วัดบัวโรย จังหวัดสมุทรปราการ
เชิญร่วมทำบุญในงาน “งานบุญเข้าพรรษา” ณ วัดบัวโรย จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2565 โดยมีกำหนดการต่าง ๆ ดังนี้
วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 วันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)
• เวลา 09.00 น. ทำบุญตักบาตร บริเวณศาลาการเปรียญ
• เวลา 10.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
• เวลา 10.30 น. ทำพิธีถวายพุ่มต้นไม้ประจำพรรษา
• เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล
• เวลา 19.30 น. ร่วมเวียนเทียนรอบมหาเจดีย์ศรีบัวโรย
วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 วันพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 8)
• เวลา 09.00 น. ทำบุญตักบาตร บริเวณศาลาการเปรียญ
• เวลา 10.00 น. พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
• เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล
เข้าพรรษา" ชาวบางปะอินแห่เทียนพรรษาทางน้ำสืบสานประเพณีท้องถิ่น
"วันอาสาฬหบูชา" และวัน "เข้าพรรษา" 13-14 กรกฎาคม 2565 นี้ ซึ่งวันนี้ นายประพันธ์ ตรีบุบผา ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน และนายพะเนียด ผลภาพ นายกอบต.ตลิ่งชัน ได้ร่วมในขบวนเรือพื้นบ้าน จำนวนกว่า 20 ลำ ที่ตกแต่งสวยงามด้วยดอกไม้และวัสดุธรรมชาติ นำ "เทียนพรรษา" จากชุมชน ต.ตลิ่งชัน และ ต.คุ้งลาน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา แห่ไปตามลำคลองบ้านคลองโพธิ์ ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร
การแห่เทียนพรรษา ของชาวบ้านทางน้ำไปตามลำคอลงโพเพื่อไปถวายเทียนพรรษา ที่วัดขนอนใต้ และวัดขนอนเหนือ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ติดกับคลองบรรยากาศแห่เทียนพรรษาเป็นไปอย่างคึกคักสนุกสนาน ร้องเล่น ฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานทั้งผู้ใหญ่และเด็ก นับว่าเป็นกิจกรรมแรกที่ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มกับจัดกิจกรรมได้ หลังจากที่ว่างเว้นการจัดกิจกรรมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดเพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและกิจกรรมตามศาสนา "วันอาสาฬหบูชา" และ "เข้าพรรษา" ที่ชุมชน ต.ตลิ่งชัน และ ต.คุ้งลาน
ที่มา : https://www.facebook.com/tatubon,sanook.com, ประชาสัมพันธ์สมุทรปราการ, https://thainews.prd.go.th/th, Korat Breaking News