ผู้ชุมนุมกดดันนายกฯ ศรีลังกาลาออก หลังปธน.หนีออกนอกประเทศ

ผู้ชุมนุมกดดันนายกฯ ศรีลังกาลาออก หลังปธน.หนีออกนอกประเทศ

Highlight

ศรีงลังกาประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังนายราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้หลบหนีออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินทหารในช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ค. และนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห จะรับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ทั้งนี้ การบริหารงานรัฐบาลสร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนชาวศรีลังกาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาอาหารแพงขึ้นถึง 80% ค่าขนส่งสูงขึ้น 128% ขาดเชื้อเพลิงและไฟฟ้ามานานหลายเดือน และเงินเฟ้อสูง 54%จากการพิมพ์เงินเดือนแจกข้าราชการ

เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง และต้องพิมพ์เงินรูปีเพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการ จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 54.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งทะยานขึ้นถึง 128% และค่าอาหารพุ่งขึ้น 80% อันเป็นผลจากการขาดแคลนพืชผลและน้ำมันดิบ

ศรีลังกาประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อคุมสถานการณ์ หลังประธานาธิบดีหนีออกนอกประเทศ

นายวิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ หลังจากนายราชปักษะ ประธานาธิบดีได้หลบหนีออกนอกประเทศ

การประกาศภาวะฉุกเฉินครอบคลุมถึงการใช้มาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งรวมถึงกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เพื่อยับยั้งเหตุการณ์รุนแรง หลังจากประชาชนได้ก่อเหตุประท้วงและบุกเข้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดี และยังได้จุดไฟเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห เนื่องจากไม่พอใจต่อการบริหารประเทศ หลังจากเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างรุนแรง

เนื่องจากประธานาธิบดีราชปักษะได้เดินทางออกจากประเทศแล้ว เราจึงจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ในประเทศ

ประธานาธิบดีราชปักษะได้หลบหนีออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินทหารในช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ค. เนื่องจากไม่สามารถทนแรงกดดันจากประชาชน โดยรายงานระบุว่าขณะนี้ นายราชปักษะ ได้เดินทางถึงประเทศมัลดีฟส์แล้ว ซึ่งการเดินทางออกนอกประเทศของปประธานาธิบดีราชปักษะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาการประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้

รัฐสภาศรีลังกาจะจัดการประชุมในวันที่ 15 ก.ค.นี้ เนื่องจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ว่างลง และจะมีการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 19 ก.ค. ส่วนการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ค.

รายงานระบุว่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภาของพรรคสามัคคีชนะพละเวกายา (Samagi Jana Balawegaya) เตรียมเสนอชื่อนายสาชิต เปรมทาส ผู้นำพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป

ความผิดพลาดในการบริหารประเทศของศรีลังกา

ทั้งนี้ ความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคนไม่สามารถชำระเงินเพื่อการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ปุ๋ย ยารักษาโรค และเชื้อเพลิง เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง และต้องพิมพ์เงินรูปีเพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการ จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 54.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งทะยานขึ้นถึง 128% และค่าอาหารพุ่งขึ้น 80% อันเป็นผลจากการขาดแคลนพืชผลและน้ำมันดิบ

บทเรียนศรีลังกา ที่หลายประเทศต้องเรียนรู้

การกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกา ในมุมมองของ “รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์อนาคตของศรีลังกานับจากนี้ว่า หลังจาก นายกรัฐมนตรี “รานิล วิกรมสิงเห” และประธานาธิบดี “โกตาบายา ราชปักษา” ที่ต้องลาออกพร้อมกัน ทำให้อำนาจทางการเมืองของตระกูล “ราชปักษา” ลดลง โดยฝ่ายค้านจะจัดตั้งรัฐบาล และดำเนินนโยบายเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจหลังจากนี้

มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดใหม่จะยื่นเรื่องขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อมีเงินเข้ามาบริหารกิจการภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน รวมถึงเปิดเสรีทางการค้ากับนานาประเทศมากขึ้น แต่ศรีลังกาจะต้องเคร่งครัดระบบการคลังเพิ่มขึ้น เพราะกลไกการช่วยเหลือทางการเงินของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้เอง ยังไม่มีกองทุนขนาดใหญ่พอที่จะช่วยเหลือ และกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลชุดใหม่จะต้องมีการเจรจากับประเทศเจ้าหนี้ ที่มีการกู้เงินมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เจ้าหนี้รายใหญ่ ที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก ส่วนจีนและอินเดีย เป็นเจ้าหนี้ที่มีสัมพันธ์อันดี จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะขอผ่อนผันได้

หากมองถึงการเมืองของศรีลังกา ที่มีการครองอำนาจมายาวนานของตระกูล “ราชปักษา” จะค่อยๆ เสื่อมลง เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียใต้ นิยมใช้แนวทางชาตินิยมผูกโยงกับศาสนา เพื่อสร้างฐานอำนาจทางการเมือง ตัวอย่างเช่น อินเดีย ที่กลุ่มนักการเมืองหัวรุนแรงด้านศาสนา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศจำนวนมาก

ถ้าวิเคราะห์บทเรียนการล่มสลายของศรีลังกา จะเหมือนกับไทยสมัย “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ที่ขาดดุลการค้าจนส่งผลต่อนโยบายทางการเงิน ซึ่งหลังจากนั้นไทยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินให้มีความเข้มแข็ง เห็นได้จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจยังสามารถพยุงตัวไปต่อได้ แต่ก็มีโอกาสจะกลับไปเจอวิกฤติอีกครั้ง หากเกิดปัญหาผู้นำทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ

โดยเฉพาะระบบการเมืองที่รัฐบาลมีพรรคเล็กจำนวนมากต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม รวมถึงผู้นำที่หากไม่มีภาวะผู้นำ อาจทำให้ไทยประสบกับภาวะวิกฤติเหมือนศรีลังกา แต่อาจไม่ร้ายแรงเท่า เนื่องจากสถาบันการเงินภายในประเทศมีความแข็งแกร่งพอที่จะพยุงให้เศรษฐกิจผ่านภาวะวิกฤติไปได้

ที่มา : VOA, infoquest, Thairath

ติดต่อโฆษณา!