ทำไมผู้นำอินโดนีเซียถึงไปเยือน ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ?
Highlight
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือ ‘โจโควี’ แห่งอินโดนีเซียในฐานะประธานกลุ่ม G20
เดินทางไปเยือนยูเครนและรัสเซีย หวังให้ทั้งสองประเทศยุติการสู้รบและตกลงกันได้อย่างสันติ ด้วยหวังว่ายูเครนจะสามารถส่งออกธัญพืชได้ตามปกติ รัสเซียเองสามารถส่งปุ๋ย และโภคภัณฑ์อื่นๆ การเดินทางไปเยือนครั้งนี้มีความหมายต่ออินโดนีเซียและเพื่อนบ้าน อย่างน้อยด้านความสัมพันธ์และความเป็นกลาง รวมทั้งความหวังที่ทั้งสองประเทศจะส่งออกอาหาร และสิ่งจำเป็นต่างๆได้เพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากวิกฤตอาหารทั่วโลก
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือ ‘โจโควี’ แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่ม G20 ได้เดินทางไปเยือนยูเครนและรัสเซีย ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด หรือ ‘โจโควี’ แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่ม G20 ได้เดินทางไปเยือนยูเครนและรัสเซีย เพื่อพบปะกับผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ หลังจากการเข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ที่เยอรมนี ปลายเดือนมิ.ย.
‘โจโควี’ พยายามที่จะรักษาความเป็นกลางตั้งแต่เริ่มสงคราม แม้ว่าก่อนหน้านี้จะร่วมกับนานาชาติประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน แต่อินโดนีเซียก็หลีกเลี่ยงที่จะร่วมใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซีย ซึ่งผู้นำอินโดนีเซียหวังว่าความพยายามในการเดินทางสู่พื้นที่ขัดแย้งในครั้งนี้จะนำไปสู่การหยุดยิงและการเจรจาโดยตรงระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศในที่สุด
โจโควีคาดหวังอะไร?
‘โจโควี’ ต้องการสนับสนุนให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้เริ่มเจรจาเพื่อยุติสงคราม ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารทั่วโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยการบุกรุกยูเครนของรัสเซียได้บีบตลาดโลก และทำให้ราคาเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ซีเรียล น้ำตาล และน้ำมันพืชมีราคาสูงขึ้น
ผู้นำอินโดนีเซียตระหนักว่าการเยี่ยมเยือนทั้ง 2 ประเทศในครั้งนี้ไม่ได้สำคัญต่อชาวอินโดนีเซียเพียงเท่านั้น หากแต่มีความสำคัญต่อประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีรายได้ต่ำตกอยู่ในภาวะยากจนและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
ทำไมสงครามยูเครนถึงมีความสำคัญต่อโจโควี?
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย Retno Marsudi กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จคือ จะต้องทำให้การส่งออกธัญพืชจากยูเครนกลับมาอีกครั้ง อีกทั้งการส่งออกอาหารและปุ๋ยจากรัสเซีย เพื่อยุติปัญหาการขาดแคลนและช่วยให้ราคาสินค้าต่ำลง
ก่อนหน้านี้ ต้นทุนน้ำมันพืชที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มชั่วคราว แต่ได้กลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มดิบอีกครั้งในเดือนต่อมา
ทั้งนี้ อินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 85% ของการผลิตทั่วโลก
ทำไมปูตินและเซเลนสกีอาจรับฟังโจโควี?
ในฐานะประธานกลุ่ม G20 ของอินโดนีเซียในปีนี้ ‘โจโควี’ พยายามที่จะรักษาความเป็นกลางในการรับมือกับปัญหาการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย โดย ‘โจโควี’ เสนอการสนับสนุนต่อการเจรจาสันติภาพให้กับทั้งปูตินและเซเลนสกี ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะเชื่อมประสานการประชุมกลุ่ม G20 ให้เป็นหนึ่งเดียว หลังเกิดการแบ่งแยกกันจากความขัดแย้งที่ยังคงยืดเยื้อ
โดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ G20 ได้พยายามลงโทษปูตินในหลายทาง ซึ่งรวมถึงการบอยคอตการประชุมสุดยอด G20 ที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้ด้วย หากปูตินไม่ถูกถอนออกจากการประชุม
อย่างไรก็ดี โจโควีได้เชิญเซเลนสกีเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวพร้อมกับปูติน ด้วยความหวังว่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียให้ดีขึ้น
โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ
โจโควีจะเป็นผู้นำเอเชียคนแรกที่เดินทางไปยังประเทศสงครามทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งความพยายามดังกล่าวมีมาตั้งแต่ที่รัสเซียกล่าวว่าจะพิจารณาข้อเสนอของอิตาลี เพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของยูเครนและรัสเซียพบปะกันในตุรกีในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประชุมของคณะผู้แทนในอิสตันบูล แต่กลับล้มเหลวที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ขณะที่ นักวิจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศชาวอินโดนีเซีย Gilang Kembara มองว่าปูตินจะรับฟังโจโควีเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติมีโอกาสน้อยมาก และอินโดนีเซียเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ที่ดีในฐานะตัวแทนด้านสันติภาพภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ผู้นำอินโดนีเซียเยือนกรุงมอสโก ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ตกลงที่จะรับรองด้านความปลอดภัยสำหรับการส่งออกข้าวสาลีของยูเครนและปุ๋ยของรัสเซียซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่น่ายินดีสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2488 อินโดนีเซียมีความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อินโดนีเซียได้รับเอกราช ยิ่งไปกว่านั้นรัสเซียยังเป็นแหล่งที่มาสำคัญของยุทโธปกรณ์นับตั้งแต่รถหุ้มเกราะไปจนถึงเครื่องบินขับไล่ต่าง ๆ
ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่สืบสานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การเยือนรัสเซียครั้งนี้ไม่สูญเปล่า โดย ‘โจโควี’ และ ‘ปูติน’ ได้หารือเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นด้วย แต่ยังคงไม่เห็นสัญญาณของการยุติสงครามในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา : https://www.voanews.com/a/explainer-why-indonesia-s-leader-is-visiting-kyiv-moscow/6640961.html
Indonesia’s President Becomes First Asian Leader to Visit Ukraine and Russia, Since Conflict (aseanbriefing.com)
Bangkok Bang SME