เปิดกลยุทธ์ Hatari บริษัทพัดลมไทย ที่ครองแบ่งตลาดถึง 80%

เปิดกลยุทธ์ Hatari บริษัทพัดลมไทย ที่ครองแบ่งตลาดถึง 80%
Highlight  

ไทยเป็นประเทศเมืองร้อน พัดลมเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นของทุกบ้าน บริษัท ฮาตาริ อิเล็คทริค จำกัด ซึ่งผลิตพัดลมแบรนด์ “ฮาตาริ” ชื่อคล้ายญี่ปุ่นแต่เป็นแบรนด์ไทยแท้ 100% ก่อสร้างโดยจุน วนวิทย์ เศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินเข้ามูลนิธิรามาธิบดี 900 ล้านบาทเมื่อวันก่อน กุญแจสำคัญที่ทำให้พัดลมฮาตาริ ครองส่วนแบ่งตลาดในไทยสูงถึง 80% เพราะนอกจากคุณภาพสินค้าดีแล้วการใช้วัตถุดิบในประเทศราว 90% ทำให้การแข่งขันด้านราคามีประสิทธิภาพอีกด้วย

20220731-b-01.jpg

20220731-b-02.jpg

เป็นข่าวฮือฮาในโซเขียล เมื่อเพจเฟซบุ๊ก Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความเมื่อ 26 ก.ค.ระบุว่าบริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด โดย คุณจุน-คุณสุนทรี วนวิทย์ และครอบครัว บริจาคเงิน 900 ล้านบาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯเมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทำให้หลายคนอยากรู้เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการเติบโตของธุรกิจพัดลมและเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยรวมทั้ง ประวัติ “ฮาตาริ” กว่าจะเป็นพัดลมที่อยู่คู่คนไทยเกินกว่า 30 ปี

หากย้อนกลับเมื่อราวปี 2532 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตและจำหน่ายพัดลมยี่ห้อฮาตาริเป็นครั้งแรก คุณจุน วนวิทย์ในวัย 52 ปี ที่สั่งสะสมประสบการณ์มายาวนานตั้งแต่อายุ 12 ปี ไล่เรียงตั้งแต่ลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสาร ช่างทำทอง ขับรถโดยสารรับจ้าง ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก ลูกจ้างโรงกลึง ช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดชิ้นงานพลาสติก ออกแบบและผลิตของเล่นเด็ก  

จนกระทั่งเมื่อมีความรู้ด้านการฉีดพลาสติก จึงเริ่มคิดผลิตโครงพัดลมด้วยพลาสติกส่งโรงงาน ซึ่งแตกต่างจากท้องตลาดในขณะนั้นที่ส่วนใหญ่จะผลิตขึ้นจากอลูมิเนียม และเริ่มมีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากคุณจุนเรียนรู้เพิ่มเติมและพัฒนาสู่การผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนพัดลมพลาสติกทั้งหมดของตัวเองภายใต้แบรนด์ “K” และ “TORY” ต่อมาจึงเริ่มผลิตพัดลมแบรนด์ฮาตารินั่นเอง

ขณะเดียวกันประกอบกับแนวทางการดำเนินชีวิตที่คุณจุนยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มุ่งมั่น มีวินัย และไม่เคยย่อท้อ ที่สำคัญคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งการยึดกลยุทธ์การบริหาร 2 ประการ คือ 1.การบริหารต้นทุนเท่าเดิม แต่เพิ่มผลผลิต และ 2.การบริหารต้นทุนลดลง แต่คงประสิทธิภาพการผลิต ทำให้คุณจุนพัฒนาสินค้าเรื่อยมา  

ปัจจุบันฮาตาริมีสินค้าพัดลมครบทุกประเภท ได้แก่ พัดลมเคลื่อนที่ พัดลมติดตั้ง พัดลมอุตสาหกรรม พัดลมระบายอากาศ พัดลมไอเย็น และครอบคลุมไปถึงเครื่องปรับอากาศ ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ เรียกได้ว่าครบวงจรทีเดียว ตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทในเครือว่า “ฮาตาริ คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม” โดยทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป ได้แก่ บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด และบริษัท วนวิทย์ เมทัล เวิร์ค จำกัด โดยเมื่อปี 2553 ฮาตาริครองส่วนแบ่งการตลาดราว 80% จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

อาณาจักร ฮาตาริ และบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป มีดังนี้

1. บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด  
เริ่มจดทะเบียนเมื่อ 13 มิ.ย.2528 ประเภทธุรกิจการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทผลิตความร้อนด้วยไฟฟ้า ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ประกอบด้วยรายชื่อกรรมการ 3 ราย ได้แก่ นายจุน วนวิทย์, นางสุนทรี วนวิทย์ และนางศิริวรรณ พานิชตระกูล 

โดยปี 2564 บริษัททำรายได้รวม 5,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.56% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 5,270 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปีล่าสุดอยู่ที่ 645 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.91%  

2. บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด  
เริ่มจดทะเบียนเมื่อ 8 ส.ค.2533 ประเภทธุรกิจการขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดในครัวเรือน ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ประกอบด้วยรายชื่อกรรมการ 3 ราย ได้แก่ นายวิทยา พานิชตระกูล, นายจุน วนวิทย์ และนางสุนทรี วนวิทย์  

โดยปี 2564 บริษัททำรายได้รวม 6,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.53% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 6,240 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปีล่าสุดอยู่ที่ 65.82 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 10.85%  

3. บริษัท วนวิทย์ เมทัล เวิร์ค จำกัด 
เริ่มจดทะเบียนเมื่อ 18 ต.ค.2536 ประเภทธุรกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนิดในครัวเรือน (ยกเว้นประเภทผลิตความร้อนด้วยไฟฟ้า) ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ประกอบด้วยรายชื่อกรรมการ 3 ราย ได้แก่ นายจุน วนวิทย์, นางสุนทรี วนวิทย์ และนางศิริวรรณ พานิชตระกูล  

โดยปี 2564 บริษัททำรายได้รวม 478.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.94% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 357.36 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปีล่าสุดอยู่ที่ 45.36 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.57%

กรุงศรีฯ ระบุธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าโตต่อเนื่องปี 65-66

อย่างไรก็ตาม ฮาตาริ ถือเป็นแบรนด์ไทยที่ยังคงน่าจับตามองไม่น้อย เนื่องจากบทวิจัยกรุงศรีระบุว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มฟื้นตัวช่วงปี 2564-2566 จากความต้องการในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวอีกกว่า 2-3%  

บทวิจัยกรุงศรีระบุว่า ปริมาณความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 3.0-4.0% ขณะที่ปี 2566 และปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ผลจาก (1) ตลาดที่อยู่อาศัยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ (2) การทำตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาความสามารถควบคุมการทำงานผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (3) สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนช่วยหนุนความต้องการเครื่องปรับอากาศ และ (4) การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการทำตลาดสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจซื้อได้สะดวกมากขึ้น

มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ขณะที่ปี 2566 และปี 2567 คาดจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยการส่งออกเครื่องซักผ้าไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564 หลังสิ้นสุดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ขณะที่ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดเอเชียยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหลายประเทศมีอัตราถือครองต่ำกว่า 20% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา และลาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและกลุ่มคนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชีย

อ้างอิง : https://www.facebook.com/215272535161654/posts/pfbid0sXCo6Mcss6HqrDhayCzwg7fgKr6VTcd3HoC2DQ32Y2YZVZCcAKSNo9X4X6QMf5gel/ 
www.thaismescenter.com 
 

ติดต่อโฆษณา!