13 สิงหาคม 2565
998
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมลุยเกาะพะงันให้เห็นกับตา!! ขายกัญชาเต็มหาดจริงไหม? ก่อนเสนอเปิดผับพื้นที่ท่องเที่ยวได้ถึงตี 4
Highlight
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีแผนเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาในเดือน ก.ย. เพื่อขอขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง ตี4 โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ การขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิงดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะในบางพื้นที่ (โซนนิ่ง) ที่มีการควบคุมและป้องกันที่ดีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และ ตะวันออกกลางที่รับประทานอาหารเย็นในเวลาประมาณ 22.00 น. รวมทั้งตรวจสอบ เกาะพะงัน หลังรับทราบข่าวการขายกัญชาเต็มชายหาด ก่อนที่จะสรุปข้อเสนอต่อ ศบค.ต่อไป
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กล่าวยืนยันแนวคิดในการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. โดยมีแผนจะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) พิจารณาในเดือนก.ย. และจะให้มีผลตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้ การขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิงดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะในบางพื้นที่ (โซนนิ่ง) ที่มีการควบคุมและป้องกันที่ดี
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ถ้าไม่จัดโซนนิ่ง เหตุการณ์อย่างกรณีสถานบันเทิงจังหวัดชลบุรีก็จะเกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ดี ถ้าไม่ขยายเวลาเปิด สถานบันเทิงก็แอบเปิดให้บริการอยู่ดี แต่ถ้าอนุญาตเปิดสถานบันเทิงได้ถึงเวลา 04.00 น. อย่างโปร่งใส ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวก็ไม่ต้องมีความกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะไปตรวจค้น
นอกจากนี้ ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป หรือตะวันออกกลาง มีพฤติกรรมเริ่มรับประทานอาหารเย็นในเวลาประมาณ 22.00 น. ถ้าประเทศไทยปิดสถานบันเทิงเวลา 01.00-02.00 น. ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในการเที่ยว กิน ดื่ม ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว
“ดังนั้น สิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่คนอยากเที่ยว ควรจะทำให้ถูกต้อง เพื่อเซฟชีวิตของนักท่องเที่ยว ขอให้ทุกคนทั้งเจ้าหน้าที่ และ NGO รวมทั้งคนที่ต่อต้านแอลกอฮอล์ อย่าไปกังวลหรือต่อต้าน พอตี 2 ผับปิด เขาก็ซื้อกลับไปกินที่อื่นอยู่ดี อาชญากรรมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ดังนั้น ถ้าจัดโซนนิ่งได้ จะปิดประเด็นเรื่องปัญหาอาชญากรรมได้ไม่น้อยกว่า 70-80%” นายพิพัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในส่วนของพื้นที่ที่จะจัดโซนนิ่ง ตนได้แจ้งให้ผู้ประกอบการไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ว่ามีความประสงค์จัดโซนนิ่งบริเวณไหนในแต่ละจังหวัด ยกตัวอย่าง ตรอกข้าวสาร กรุงเทพฯ ถ้าอยากจัดโซนนิ่ง ก็ให้ผู้ประกอบการไปพูดคุยและขออนุญาตกับผู้ว่าฯ กทม. ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็จะผลักดันให้อีกชั้นหนึ่ง และหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ปลดล็อก ขณะเดียวกัน จะมีการหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ช่วยส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัย
“ให้ผู้ประกอบการฟอร์มทีมมา ว่าต้องการเปิดตรงไหน และเมื่อจัดแล้ว ต้องไม่รบกวนชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเห็นด้วย ทำการค้าขายบริเวณนั้นด้วย เป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันก็จบ ส่วนความคืบหน้าขณะนี้ก็พยายามสื่อแล้ว แต่ยังไม่ค่อยเห็นฟีดแบ็ก อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทันภายในปีนี้” รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าว
สำหรับพื้นที่นำร่อง ผู้ประกอบการบางส่วนมีความประสงค์อยากเปิดพื้นที่มาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ผู้ประกอบการบริเวณวอคกิ้งสตรีท แหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องไปคุยกับนายกเมืองพัทยา ถ้าเห็นด้วยก็พร้อมนำเสนอ หากผ่าน ศบค. และขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยแล้ว
ส่วนพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น บริเวณหาดป่าตอง ถนนคนเดินบางลา จ.ภูเก็ต, หาดอ่าวนาง จ.กระบี่ และหาดเขาหลัก จ.พังงา ส่วนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ต้องส่งโซนนิ่งมาเพราะมีหลายพื้นที่ ในส่วนของเกาะพะงัน ก็จะมีการจัดปาร์ตี้ฟูลมูน และฮาฟมูนอยู่แล้ว
“จะมีการลงพื้นที่ตรวจเกาะพะงัน ว่าการจัดฟูลมูน-ฮาฟมูน ถูกต้องตามกฎหมายแค่ไหน และจะพาตำรวจท่องเที่ยวไปดูว่าขณะจัดงาน เจ้าหน้าที่ของเราต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ จะลงไปดูว่าที่มีการลือว่ามีกัญชาขายเต็มชายหาดนั้นจริงหรือไม่” นายพิพัฒน์ กล่าว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบและพอใจตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 6 ก.ค. 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยสะสม 2,214,132 คน ก่อให้เกิดรายได้ 1.25 แสนล้านบาท บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยว “ไทยเที่ยวไทย” สะสมที่ 67.8 ล้านคน สร้างรายได้ 3.05 แสนล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีแรกประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 4.3 แสนล้านบาท
จากรายงานดังกล่าว ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัว คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (ต.ค. - ธ.ค.) ซึ่งเป็นช่วง High Season นั้น จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อระบบสาธารณสุขไทยและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน