14 สิงหาคม 2565
1,377
บทเรียนของบ.ประกันภัย พิษโควิดจ่ายเคลมกว่า 1 แสนล้านบาท คปภ.ระดมสมองกูรู ปรับโครงสร้างเสริมแกร่ง
Highlight
โควิด-19 เริ่มระบาดตั้งแต่ต้นปี 63 และในเวลาต่อมาธุรกิจประกันภัยเริ่มขายกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” ราคา 299-500 บาท แต่หากติดเชื้อโควิดรับเงิน 1 แสนบาท ในปี 63 มีการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดการติดเชื้อและเสียชีวิตมีน้อย กลับกันในปี 64 มีการติดเชื้อจำนวนมากและยอดเสียชีวิตก็สูงเช่นกัน ทำให้ยอดเคลมประกันสูงกว่า 1 แสนล้านบาท 4 บริษัทต้องปิดกิจการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคธุรกิจประกันภัยระดมสมอง “ถอดบทเรียนวิกฤตโควิด” เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยปี 2564 และปี 2565 ประมาณปีละ 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 3.3% ของจำนวนประชากร 66 ล้านคน แต่จากจำนวนคนซื้อประกัน “เจอ-จ่าย-จบ” พบว่าติดเชื้อไปกว่า 5% ในปี 2564 และ 12% ในปี 2565 การติดเชื้อ ที่เห็นมันไม่ใช่ธรรมชาติ ตัวเลขเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย
บทเรียนจากโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ สร้างความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันภัยครั้งใหญ่ จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องปิดกิจการไปถึง 4 แห่ง คือ เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย และยังอยู่ระหว่างขอยื่นแผนฟื้นฟูกิจการอีก 1 ราย คือ “สินมั่นคงประกันภัย”
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า บทเรียนครั้งนี้ทำให้ภาคธุรกิจระมัดระวังมากขึ้นในโดยเฉพาะการออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโรคระบาด, ภัยสงคราม ถ้าจะขายเบี้ยประกันต้องคุ้มความเสี่ยง
อันที่จริงไม่เพียงแต่ธุรกิจประกันที่ประมาท เพราะหน่วยงานกำกับดูแล ก็อนุญาตให้ออกกรมธรรม์ด้วย ดังนั้นเวลาเสียหายต้องช่วยกันแก้ไขและยอมรับผลร่วมกัน
ความเสียหายครั้งนี้ส่งผลให้เงินกองทุนของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบหายไปประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่เกือบ 3 แสนล้านบาท
ด้านผู้เสียหายก็ยังต้องรอการรับเงินคืนอีกราว 4 หมื่นล้านบาท จาก 4 บริษัทที่ถูกปิดกิจการไป ภาระดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังกองทุนประกันวินาศภัย หรือ กปว. ในฐานะผู้ชำระบัญชี ที่ต้องทำหน้าที่ “จ่ายเคลม” ซึ่งยังมีปัญหาว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่าย และผู้เอาประกันจะต้องรอนานแค่ไหน
ด้าน คปภ.ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2565 หรือ งาน CEO Insurance Forum 2022 เพื่อระดมสมองและความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนในการช่วยผลักดัน สนับสนุน และขับเคลื่อนมาตรการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็ง และมีบทบาทในการสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนและสร้างเกราะป้องกันให้ธุรกิจประกันภัย คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยผลักดัน สนับสนุน และขับเคลื่อนมาตรการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็ง มากขึ้นในระยะยาว
ทั้งนี้ คปภ.ละภาคธุรกิจข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้
1.ภาคธุรกิจประกันภัยต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เอาประกันภัย
2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นควรใช้ประโยชน์จากโครงการ Insurance Regulatory Sandbox และโครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox ให้มากขึ้น
3.นักคณิตศาสตร์ประกันภัยควรจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ระดับเฟลโล่ (Fellow) ซึ่งต้องพิจารณารับรองผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะยื่นขอรับความเห็นชอบมายังนายทะเบียน
4.เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่บริษัทประกันภัยควรมี คือ การยืนยันตัวตนของผู้เอาประกันภัย (Know Your Customer : KYC) ในการสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นระบบ KYC กลาง หรือใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย
5.การรับประกันภัย การจัดการทางบัญชีและการเงิน และการจัดการค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยควรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน
6.สำนักงาน คปภ. ควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การปรับปรุง Free Look Period ของผลิตภัณฑ์การให้ความคุ้มครองการแพ้วัคซีน
7.การปรับปรุงระบบการรายงานการฉ้อฉลประกันภัย
8.การจัดทำฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้ในการติดตามกำกับดูแล การกระทำความผิดของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย การใช้ฐานข้อมูลสำหรับการประสานความร่วมมือทางคดี
9.การพัฒนาระบบการประสานงานข้อร้องเรียนด้านการประกันภัยโดยการส่งข้อร้องเรียนให้บริษัทประกันภัยที่ถูกร้องเรียนผ่านระบบอีเมล์ของแต่ละบริษัทเพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน แบบ Real Time
10.บริษัทประกันภัยควรมีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
11.แนวทางเกี่ยวกับกระบวนการเข้าทำสัญญา การใช้หรือการตีความข้อสัญญา และการยกเลิกสัญญาให้เป็นธรรม และไม่กระทบต่อผู้เอาประกันภัย การตีความสัญญาประกันภัยต้องเป็นไปตามกฎหมายประกันภัย หรือต้องปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โดยหากสัญญาข้อใดที่ไม่เป็นธรรมให้มีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
“การประชุม CEO Insurance Forum 2022 ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เหตุการณ์ที่ผ่านมาผมเห็นว่าเปล่าประโยชน์ที่จะไปโทษว่าใครผิด ใครถูก หรือโยนความผิดพลาดให้ใครรับผิดชอบ แต่ควรจะหันมาร่วมมือกันเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้และ “ถอดบทเรียน”เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ระบบประกันภัยของไทยมีความแข็งแกร่งเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าว