ค่าจ้างขึ้นต่ำอาจปรับขึ้น 5-8% ค่าจ้างขั้นต่ำบอกอะไรเรา?

ค่าจ้างขึ้นต่ำอาจปรับขึ้น 5-8% ค่าจ้างขั้นต่ำบอกอะไรเรา?
Highlight 
ปัจจุบันค่าจ้างขึ้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด โดยปกติแล้วระดับค่าจ้างขั้นต่ำควรจะมีการปรับเรื่อยๆ เพื่อรักษาอำนาจการซื้อและควบคู่ไปกับเงินเฟ้อ และพบว่าหลังปี 2015 ระดับค่าจ้างที่แท้จริงแทบจะไม่โตขึ้นเลย ในขณะที่เศรษฐกิจที่แท้จริงโตขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนจากภาคผลิตไปสู่ภาคบริการเพิ่มขึ้น อำนาจต่อรองของลูกจ้างค่อนข้างต่ำ มีแรงงานต่างด้าวเป็นตัวเลือก สิ่งที่เกิดตามมาคือคือหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น คงต้องคิดแก้ไขในระดับนโยบายกันต่อไป 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีข่าวรายงานว่าคณะกรรมการไตรภาคี (คณะกรรมการสามฝ่าย ที่ประกอบไปด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายแรงงาน และฝ่ายรัฐ)ว่าน่าจะได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับค่าจ้างขึ้น 5-8%  

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมาก เพราะฝั่งแรงงานก็อยากให้ปรับขึ้นเยอะๆ ตามค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป ในขณะที่ฝั่งนายจ้างก็เป็นห่วงว่า หากปรับมากเกินไป จะทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจนขาดทุนได้

ถ้าลองย้อนกลับไปดูในอดีต เราอาจจะจำได้ว่าเราเคยปรับค่าแรงเยอะๆ ช่วงปี 2012-2013 มีปรับค่าแรงขั้นต่ำจากร้อยกว่าบาทถึงสองร้อยต้นๆต่อวันขึ้นมาเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่เยอะมากที่สุดครั้งหนึ่ง แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับขึ้นมาไม่มากนัก ครั้งสุดท้ายที่มีการปรับคือปี 2019 และผ่านมาเกือบสิบปี ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาทเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับจังหวัด)

ถ้ามองแรงงานเป็นปัจจัยการผลิต ในโลกที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ค่าแรงควรจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ถ้าค่าแรงถูกเกินไป หรือน้อยเกินไป แรงงานควรจะลดเวลาทำงานหรือลดจำนวนลง และค่าแรงควรจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่แรงงานคิดว่าเหมาะสม และควรจะเท่ากับมูลค่าของการผลิตสินค้าหรือบริการส่วนเพิ่มที่แรงงานสามารถทำให้กับนายจ้างได้

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ตลาดอาจจะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ และผู้จ้างอาจจะมีอำนาจมากกว่าลูกจ้าง และอาจจะมีเหตุผลในการกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าค่าจ้างของแรงงาน ไม่ต่ำกว่าไประดับที่เหมาะสม เช่น ระดับที่พอจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  

และระดับค่าจ้างขั้นต่ำควรจะมีการปรับเรื่อยๆ เพื่อรักษาอำนาจการซื้อ แต่ถ้าเราเทียบค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพที่วัดโดยอัตราเงินเฟ้อ และพบว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาปรับขึ้นช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อพอสมควร แม้ว่าระดับเงินเฟ้อที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำมาก หมายความค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันซื้อของได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้เมื่อสิบปีที่แล้วเสียอีก

นอกจากนี้ เราควรต้องหวังว่า สัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำควรจะมีน้อยมากๆ เพื่อไม่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำกลายเป็นระดับค่าจ้างที่ไปบิดเบือนกลไกตลาดเสียเอง  

แต่สังเกตว่าระดับค่าจ้างของแรงงานเอกชนนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยของไทย สูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่พอสมควร แต่ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้นายจ้างหรือลูกจ้างใช้เป็นจุดยึดโยงให้มีการปรับค่าจ้างในระดับใกล้เคียงกัน

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ระดับค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานไทยก็ปรับตัวขึ้นช้ากว่าเงินเฟ้อเสียอีก และหลังปี 2015 ระดับค่าจ้างที่แท้จริงแทบจะไม่โตขึ้นเลย ในขณะที่เศรษฐกิจที่แท้จริงโตขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา  ทั้งที่จำนวนแรงงานในวัยทำงานโตช้าลงและกำลังจะลดลง ซึ่งอาจจะมีหลายคำอธิบาย

หนึ่ง คือ หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีระดับประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำมาก (คือผลิตสินค้าและบริการได้มูลค่าน้อยลงเรื่อยๆ?) จนทำให้นายจ้างแทบจะไม่ปรับค่าจ้างที่แท้จริงให้เลย  เช่น มีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากภาคการผลิต ไปสู่ภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่อาจจะมี productivity gain น้อยกว่า

หรือ สอง แรงงานมีความสามารถในการเจรจาต่อรองน้อยลง จนได้รับส่วนแบ่งจากเศรษฐกิจที่โตขึ้นน้อยลง เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า และกำไรของเจ้าของทุน

หรือ สาม เพราะที่ผ่านมา มีปริมาณแรงงานราคาถูก (เช่น แรงงานต่างด้าว) เข้ามาเรื่อยๆ จนกดดันให้ผลตอบแทนต่อแรงงานด้อยฝีมือเพิ่มขึ้นไม่ได้ ในขณะที่แรงงานมีฝีมือกำลังขาดแคลน และความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างกำลังเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยแทบจะไม่เพิ่มขึ้น

“น่าคิดนะครับว่ากำลังเกิดอะไรกันขึ้น และระดับค่าจ้างที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ค่อยเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น หนี้ครัวเรือน  (เพราะรายได้ของครัวเรือนโดยเฉลี่ยโตช้ากว่าค่าใช้จ่าย) ความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะกับคนที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณอายุ” นายพิพัฒน์ กล่าว

วิธีเดียวที่จะเพิ่มค่าจ้างที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงาน ผ่านการลงทุน การพัฒนานวัตกรรม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาด ลดคอร์รัปชั่น เปิดเสรีด้านต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาที่ประชากรของเรากำลังจะลดลง

“เราต้องช่วยคิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเราทำอย่างเดิม เราก็คงได้ผลอย่างเดิม” นายพิพัฒน์ กล่าว
ติดต่อโฆษณา!