รู้จักคลื่นความร้อน ภัยที่เข้าใกล้ตัวมากขึ้น
Highlight
คลื่นความร้อน ภัยธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์พืชและสัตว์เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะประเทศในแถบอากาศหนาว ทวีปอเมริกาและยุโรปรวมถึงเอเชีย ที่ประสบปัญหามากขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งมีทั้ง ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ปากีสถาน คลื่นความร้อนส่งผลให้เกิดไฟป่า ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิต อาหารโลกหายไป 10% สหประชาชาติเตือนว่าปรากฏการณ์คลื่นความร้อนนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงทศวรรษที่ 2060 คลื่นความร้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราต้องหลบเลี่ยงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
ตั้งแต่ต้นปี 2565 เราคงจะได้เห็นข่าวกันมาบ้างว่า หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เผชิญสถานการณ์คลื่นความร้อน (Heat Wave) อย่างหนัก จนเกิดภัยพิบัติตามมาในหลายพื้นที่...ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า คลื่นความร้อนที่ว่า นั้นคืออะไร?
คลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟ (Heat wave) ก็คือ ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวัน เกินค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของภูมิภาคนั้นในช่วงเวลาเดียวกันของปีประมาณ 5 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 วัน
ในกรณีที่อุณหภูมิอากาศเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส และมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ 45% จะมีดัชนีค่าความร้อนเท่ากับ 46 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นผลกระทบในระดับ "อันตราย" ที่อาจส่งผลให้มีอาการลมแดด เพลียแดด ตะคริวแดด หรือเหนื่อยล้าได้
ดังนั้นเมื่อประชาชนทราบเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสภาพอากาศเป็นดังกล่าว เราจึงต้องเตรียมตัวอย่างระมัดระวังล่วงหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวมาก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพด้านความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะร่างกายไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ผู้ที่ออกแรงมากในการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด
ประเทศที่ได้รับผลกระทบนั้น มีที่ไหนบ้าง?
เริ่มตั้งแต่ในทวีปเอเชีย ที่ประเทศอินเดียอุณหภูมิเดือนมีนาคมพุ่งสูง ทำสถิติร้อนที่สุดในรอบ 122 ปี ทำอุณหภูมิสูงถึง 49 องศาเซลเซียส สูงสุดเป็นประวัติการณ์จนทำให้มีประชาชนล้มตายเนื่องจากการเป็นลมแดด ซึ่งคลื่นความร้อนนี้ก็ได้แผ่ขยายไปยังปากีสถานด้วย ในขณะที่เมือง ก็เผชิญอุณหภูมิสูงถึง 49.5 องศาเซลเซียส
ส่วนในสเปนก็อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส แอนตาร์กติกในเดือนมีนาคมก็เผชิญอุณหภูมิที่สูงขึ้น 15 องศาเซลเซียสจนทำให้ทุบสถิติตลอดกาลครั้งก่อน
ถัดมาเป็นประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่งเผชิญคลื่นความร้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน โดยที่เมืองอิเซะซากิทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียวมีอุณหภูมิสูงถึง 40.2 องศาเซลเซียส
นับเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดสำหรับเดือนมิถุนายนนับตั้งแต่มีการจดบันทึกอุณหภูมิเมื่อปี พ.ศ. 2418 และทางการได้ประกาศให้ประชาชนในโตเกียวช่วยกันประหยัดไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าอาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่พุ่งสูงขึ้น
ในทวีปยุโรป หลายประเทศก็เผชิญคลื่นความร้อนตั้งแต่เดือนมิถุนายนมาจนถึงปัจจุบัน อย่างในฝรั่งเศสเผชิญคลื่นความร้อนจัด จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าในภูมิภาค Gironde ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้คนกว่า 24,000 คนต้องอพยพ โดยไฟได้ทำลายพื้นที่ไปกว่า 42,000 เฮกตาร์
ในขณะที่โปรตุเกสก็เผชิญกับไฟไหม้ป่าในเมือง Leiria เผาไหม้พื้นที่ไปกว่า 3,000 เฮกตาร์ ส่วนที่เยอรมนีพบผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากคลื่นความร้อนกว่า 1,636 คนในเดือนมิถุนายน ซึ่งเดือนนั้นอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 39.2 องศาเซลเซียส
หลายเที่ยวบินต้องระงับการเดินทางชั่วคราว หลังจากรันเวย์สนามบินบางแห่งในกรุงลอนดอนละลายเสียหาย จากคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมไปทั่วยุโรปตะวันตก เช่น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ยูโรนิวส์รายงานว่า รันเวย์สนามบินบางแห่งในอังกฤษละลายเสียหาย ขณะที่อังกฤษเผชิญคลื่นความร้อนครั้งรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยอังกฤษมีอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียสในช่วงวันดังกล่าว
ส่วนสาเหตุที่ประเทศในเขตหนาวอย่างเยอรมนีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากที่พักอาศัยไม่ค่อยมีเครื่องปรับอากาศที่ช่วยทำความเย็น ภาครัฐจึงต้องจัดหาที่พักชั่วคราวที่มีเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิอากาศให้เย็นลงในเวลากลางวัน เพื่อให้ประชาชนมาหลบภัยคลื่นความร้อน
ขณะเดียวกัน เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ได้รายงานว่า องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และสหประชาชาติ (UN) เตือนว่าคลื่นความร้อนเช่นเดียวกับแบบที่กำลังปกคลุมยุโรปอยู่นั้นจะมีมากขึ้นและกลายเป็นเรื่องปกติในช่วงเดือนฤดูร้อน โดยปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงทศวรรษที่ 2060
องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกระบุด้วยว่า คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันควรเป็นเสียงปลุกเตือนให้กับประเทศต่าง ๆ ที่กำลังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
การดูแลสุขภาพและการหลบเลี่ยงภัยจากคลื่นความร้อน
สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภัยคลื่นความร้อนก็อาจทำได้โดยพยายามอยู่ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากกลางแดดที่ร้อนจัด ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อให้ร่างกายระบายเหงื่อได้ดี
หากมีอาการโรคตะคริวแดด (Heat cramp) ซึ่งแสดงอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าท้องและขา อุณหภูมิร่างกายจะเปลี่ยน เหงื่อจะออกมาก ร่างกายจะกระหายน้ำและหัวใจเต้นเร็ว ควรบรรเทาอาการโดยรีบเข้าที่ร่ม และดื่มน้ำและเกลือแร่ หรือหากเป็นโรคเพลียแดด (Heat exhaustion) ซึ่งมีอาการ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ความดันต่ำ และอุณหภูมิของร่างกายอาจเพิ่มสูงได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ควรปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในที่เย็นสบาย ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ให้ดื่มน้ำและเกลือแร่ แต่ในกรณีคนไข้ที่มีอาการรุนแรงต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศเขตร้อน อาจจะมีความคุ้นชินกับการอาศัยในอากาศร้อนมากกว่าประชาชนในเขตอากาศหนาว และมีอัตราการใช้เครื่องปรับอากาศที่ช่วยทำความเย็นสูงกว่า แต่อย่าลืมว่า การเปิดใช้เครื่องปรับอากาศพร้อมๆ กัน จะทำให้ความต้องการพลังงานพุ่งสูงขึ้นจนเกินกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยประหยัดไฟ
อีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างภาวะน่าสบาย (Thermal Comfort) ให้กับผู้อยู่อาศัยในอาคาร คือการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม (Passive Design) โดยใช้ปัจจัยธรรมชาติและป้องกันความร้อนเข้าสู่กรอบอาคาร เช่น
- การออกแบบสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารให้เย็นด้วยการปลูกต้นไม้และพืชคลุมดิน
- การใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม อย่างร่มเงาไม้ แหล่งน้ำ ลมที่พัดเข้าผ่านจะเย็นลง ลดความร้อนก่อนถึงตัวอาคาร
- การวางผังอาคารที่ลดการกระทบกับแสงแดด (วางทิศทางอาคารตามแนวเหนือใต้)
- การใช้วัสดุเปลือกอาคารที่มีค่าความต้านทานความร้อนสูง (ฉนวนกันความร้อน)
- การวางตำแหน่งหน้าต่าง ในทิศทางที่รับแสงแดดโดยตรงให้น้อยที่สุด
ทั้งหมดนี้เพื่อให้สร้างสภาวะน่าสบายสูงสุด และช่วยให้มีการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศต่ำลง และอาคารมีประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานสูงขึ้นด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีควรงดการอยู่กลางแดดในช่วงที่อากาศร้อนจัด
อ้างอิง : RISC Research & Innovation for Sustainability Center
https://www.scimath.org/article-science/item/12578-2022-02-15-07-00-17-2-2-2-2-2
https://www.scientificamerican.com/article/astonishing-heat-grips-india-and-pakistan/
https://www.bbc.com/news/world-asia-61976937
https://www.bbc.com/news/world-europe-62206006
https://www.destatis.de/DE/Presse/Pressemitteilungen/2022/07/PD22_295_126.html