ครั้งแรกในรอบ 100 ปี อุตุนิยมวิทยาโลกชี้ ปรากฏการณ์ “ลานีญา” เกิดติดต่อกัน 3 ปีซ้อน
Highlight
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่า รูปแบบสภาพอากาศ “ลานีญา” จะคงอยู่จนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะขยายช่วงฤดูหนาวทางตอนเหนือติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดจะเกิดภัยแล้งรุนแรงในแอฟริกา กระทบผู้คนนับล้าน สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ฝนจะตกหนักไปถึงเดือนตุลาคม
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ว่า สภาวการณ์ของลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนรุนแรงขึ้น เนื่องจากลมค้ามีกำลังแรงมากขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ค ถึงกลางเดือน ส.ค. ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกของฝน อีกทั้งยังทำให้ภัยแล้งและอุทกภัยในส่วนต่าง ๆ ของโลก ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การอัพเดทข้อมูลเอลนีโญ/ลานีญา ของดับเบิลยูเอ็มโอ คาดการณ์ถึงปรากฏการณ์ลานีญาในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ย. 2563 และมีอยู่ต่อไปอีก 6 เดือนหลังจากนั้น โดยมีโอกาส 70% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ในเดือน ก.ย.-พ.ย. ที่จะถึงนี้ และตัวเลขจะลดเหลือ 55% ในเดือน ธ.ค. 2565-ก.พ. 2566
“มันเป็นเรื่องผิดปกติที่มีปรากฏการณ์ลานีญาติดต่อกัน 3 ปี แม้อิทธิพลความเย็นทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นช้าลงชั่วคราว แต่มันจะไม่หยุด หรือย้อนกลับแนวโน้มภาวะโลกร้อนในระยะยาว” นายเพตเตอรี ทาลาส เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวในแถลงการณ์
นอกจากนี้ เขากล่าวเสริมว่า ภัยแล้งที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในภูมิภาคแอฟริกา และทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ คือสิ่งที่แสดงถึงจุดเด่นของลานีญา เช่นเดียวกับปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสตราเลเชีย
“น่าเสียดายที่การอัพเดทลานีญาครั้งใหม่ เป็นการยืนยันการคาดการณ์สภาพอากาศในภูมิภาค ซึ่งภัยแล้งรุนแรงในแอฟริกาจะเลวร้ายลง และส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน” ทาลาส กล่าวทิ้งท้าย
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนฝนตกหนักไปถึงเดือนตุลาคม
กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่าฝนที่ตกตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ มีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ย 23 % และช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม มีฝนตกชุกหนาแน่น ประกอบกับมีปรากฏการณ์ลานีญา จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ ที่จะแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่
สำหรับตัวการที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ร่องมรสุม ลมตะวันตกเฉียงใต้ โดยคาดว่า ช่วงปลายฤดูฝน จะมีพายุเข้าไทยประมาณ 2 ลูก ที่จะทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในทุกภาค ต้องเฝ้าระวังไปถึงช่วงกลางเดือนตุลาคม
ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 7 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “หินหนามหน่อ” มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
GISTDA แจงอิทธิพลจาก ลานีญา ทำฝนตกหนักลแต่รุนแรงน้อยกว่าปี 54
ขณะที่ GISTDA เปิดข้อมูลภาพจากแผนที่สถานการณ์น้ำท่วมช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2554 กินบริเวณกว้างกว่า 5.5 ล้านไร่ เปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนสิงหาคม ปี 2565 มีพื้นที่น้ำท่วมขังที่เห็นเป็นสีฟ้า ๆ ประมาณ 1,850,000 ไร่ ต่างกันราว ๆ 3 เท่าตัว ที่เหมือนคือปรากฏการณ์ลานีญาทำให้ฝนมาเร็ว หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูง แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2554
อ้างอิงจาก : https://public.wmo.int/en/media/press-release/wmo-predicts-first-%E2%80%9Ctriple-dip%E2%80%9D-la-ni%C3%B1a-of-century