เตรียมรับมือ! ฝนจะตกหนักถึงเดือน พ.ย. ไทยมีโอกาสเจอฝน 100 ปี ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ มีอะไรบ้าง
Highlight
ภาวะสภาพอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจมาจากหลายสาเหตุ ในขณะที่หลายพื้นที่บนโลกประสบภัยแล้งในรอบ 500 ปี หรือเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติ สำหรับประเทศไทยนั้นคาดการณ์ว่าปีนี้จะเกิดพายุ 23 ลูก ช่วงครึ่งปีแรกเกิดแล้ว 8 ลูก ยังเหลืออีกประมาณ 15 ลูก และหากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปีได้ แต่ประชาชนไม่ควรตระหนกและควรหาวิธีรับมือ
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ออกมาเตือนว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น และระยะเวลายาวขึ้น ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย. - พ.ย. 2565 จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ปีนี้ พายุ อาจจะเข้าไทย 2-3 ลูก และอาจมีโอกาสเป็น "ฝน 100 ปี" เหมือนกับสถานการณ์ฝนตกหนักที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นฝนในรอบ 80 ปี และกรุงเทพฯ สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม. ก็เคยมีฝนตกในรอบ 100 ปี ปัจจุบันโอกาสจะเกิดฝนตกแบบนั้นมีมาก หลายประเทศในโลกพบว่ามีฝนมากผิดปกติ
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เหมือนปี 2554 เพราะปริมาณน้ำฝนเท่ากัน แต่ลักษณะการท่วมแตกต่างจากปี 2554 ที่มาเร็วจากน้ำหลาก และการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ แต่ปีนี้มาจากน้ำฝน แนวพายุเข้าที่อาจจะเลื่อนมาภาคกลาง จะทำให้น้ำเต็มทุ่งจนล้นเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำจะเต็มเขื่อน ต้องระบายน้ำมาฝั่งตะวันออก ไปทางคลองรังสิต และทางฝั่งตะวันตก ซึ่งหากน้ำล้นคลองพระยาบรรลือเมื่อไหร่ ดังนั้น คนกรุงเทพฯ ต้องเตรียมตัวป้องกันไว้ก่อน เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล พื้นที่หน่วงน้ำมีน้อย
ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรี ย้ำว่า ในช่วง 3 เดือนนี้ (กันยายน - ตุลาคม - พฤศจิกายน 2565) จะมีฝนตกหนักมากและตกยาวนาน หรือ ฝน 100 ปี ส่วนพายุที่จะเข้ามาอาจจะรู้ล่วงหน้าได้ประมาณ 10 วัน ปริมาณฝนจะตกเท่าไหร่ พื้นที่ลุ่มทุ่งเจ้าพระยา พื้นที่รับน้ำหน่วงน้ำ ชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวได้หมดใน 15 วันหรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำฉากทัศน์ จำลองสถานการณ์ล่วงหน้าไว้หลาย ๆ แบบ นำข้อมูลมาแจ้งประชาชนให้เข้าใจ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วง เวลาเปิดประตูระบายน้ำ แต่ประชาชนไม่อยากให้เปิด
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เสรี ยังได้วิเคราะห์ ความเสี่ยงสูงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2565 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขอให้ประชาชนตระหนัก แต่ไม่ตระหนก!
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้ ต้องมาครบทั้ง 3 ปัจจัยคือ
1. ปริมาณฝนสะสมช่วงก่อนฤดูฝนมากกว่าค่าปกติ
2. ปรากฏการณ์ลานิญญายังทรงพลังช่วงปลายปีทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าฝั่งตะวันออก ความชื้นสูง
3. ปรากฏการณ์ไอโอดีเป็นลบทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก ความชื้นสูง
ปริมาณฝนคาดการณ์ช่วงปลายปี (สิงหาคม-พฤศจิกายน) มีสูงกว่าค่าปกติ และมากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา หากปริมาณฝนในภาคกลางมีมากกว่า 18% ของค่าปกติ มีความเสี่ยงสูงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554 แต่พฤติกรรมน้ำหลากจะไม่เหมือนกัน (ถ้าฝนตกเหนือเขื่อน ปริมาตรรองรับน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือยังมีประมาณ 50% แต่หากตกใต้เขื่อน จะสร้างปัญหาให้กับภาคกลางแบบน้ำท่วมทุ่ง ค่อยๆหลากเข้าเมือง) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนกลาง ตอนล่าง) ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรง หรือเบาลงประกอบไปด้วย
- ความสามารถรับน้ำของลุ่มน้ำลดลง บีบให้ระดับน้ำสูงขึ้น (เช่นปีที่แล้วในภาคกลางปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปี 2554 ประมาณ 20% แต่ระดับน้ำสูงเท่าหรือมากกว่า)
- การเตรียมความพร้อม และความเข้าใจภาคครัวเรือนในพื้นที่เสี่ยง (เพื่อให้องค์ความรู้ และความตระหนัก จัดการความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง)
- ความขัดแย้งภาคประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (มีการประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ หรืออาชีพอื่นๆ การจะเอาน้ำจากที่หนึ่งไปเก็บในอีกที่หนึ่ง เช่นแก้มลิงหรือประตูน้ำต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบกับการทำมาหากินของเขาเหล่านั้น)
- การบริหารจัดการเอาอยู่หรือไม่ (การประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชี้แจงมาตรการต่าง ๆ ต่อภาคประชาชนในการลดผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง