ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ถกเตรียมแยกตัวหลังผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
Highlight
หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เปลี่ยนผลัดรัชกาลใหม่เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทำให้เป็นที่จับตาว่า สถานการณ์ที่จะต้องเผชิญหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร หนึ่งในนั้นคือความท้าทายที่หลายประเทศในราชอาณาจักรเครือจักรภพต่างเริ่มทยอยส่งสัญญาณเกี่ยวกับแผนการลงประชามติ ฟังเสียงประชาชน ว่าด้วยเรื่องการเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายสูงสุดของการประกาศเอกราชโดยสมบูรณ์จากบรรดาประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมล่าสุดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่เป็นแผนอนาคตไม่ใช่เร็วๆนี้
เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสวรรคต หลังทรงครองราชย์มายาวนานกว่า 70 ปี ซึ่งในสมัยของพระองค์นั้นอังกฤษยังคงสืบทอดและมีอิทธิพลต่อประเทศในเครือจักรภพ เมื่อเปลี่ยนผลัดรัชกาลใหม่เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทำให้เป็นที่จับตาว่า บรรดาประเทศในเครือจักรภพจะยังคงอยู่ภายใต้กฏระเบียบแบบเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา หรือจะแปรสภาพเป็นระบบสาธารณรัฐและแยกตัวเป็นอิสระ เหมือนบางประเทศที่ทำได้สำเร็จ เช่น บาร์เบโดส และ มอริเชียส อย่างไรก็ตามหลายประเทศเตรียมทำ ประชามติจากประชาชน
ประเทศในเครือจักรภพในอดีต ซึ่งเป็นรัฐกึ่งเอกราชซึ่งยอมรับพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรเป็นประมุขแห่งรัฐ ถือว่ายังเป็นดินแดนในจักรวรรดิบริติช ประกอบด้วย แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นิวฟันด์แลนด์ แอฟริกาใต้ เสรีรัฐไอร์แลนด์ และต่อมาภายหลังคริสต์ทศวรรษ 1940 ได้รวมถึง อินเดีย ปากีสถาน และซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) ประเทศในเครือจักรภพปรากฏอยู่จนถึง ค.ศ. 1953 หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ในเครือจักรภพได้แปรสภาพเป็นราชอาณาจักรเครือจักรภพและเป็นสมาชิกในราชอาณาจักรเครือจักรภพ หรือ Commonwealth realm)
ราชอาณาจักรในเครือจักรภพ คือรัฐเอกราชภายในเครือจักรภพแห่งประชาชาติที่มีพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุขและใช้ลำดับการสืบราชบัลลังก์แบบเดียวกับรัฐสมาชิกอื่น ๆ ในเครือจักรภพข้อมูลเมื่อ 2021 ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 15 รัฐ รวมพื้นที่ทั้งหมด (ไม่นับรวมการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนแอนตาร์กติก) 18.8 ล้านตารางกิโลเมตร (7.3 ล้านตารางไมลส์) และมีประชากรรวมกันกว่า 137 ล้านคนโดยรัฐที่มีประชากรมากที่สุดหกลำดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, ปาปัวนิวกินี, นิวซีแลนด์ และจาเมกา
อาณาจักรในเครือจักรภพทั้งหมดล้วนแล้วแต่เคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงแต่สหราชอาณาจักรและปาปัวนิวกินี (ก่อนได้รับเอกราชเคยเป็นเพียงดินแดนสองแห่งที่ถูกปกครองโดยอาณานิคมออสเตรเลีย) พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์มีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2474 นับเป็นการสถาปนาอาณาจักรในเครือจักรภพขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการให้เอกราชทางนิติบัญญัติแก่อาณานิคมหลายแห่ง ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้กลายมาเป็นเขตปกครองตนเองเรียบร้อยแล้ว และจึงกลายมาเป็นอาณาจักรในเครือจักรภพด้วยการที่สหราชอาณาจักรการมอบเอกราชให้โดยตรง
ประเทศล่าสุดที่เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ สำเร็จ เช่น บาร์เบโดส ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกเครือจักรภพ ตัดสินใจเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) มาเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) ยุติบทบาทของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะประมุขของประเทศ (Head of State)
โดยรัฐสภาบาร์เบโดสมีมติแต่งตั้งให้ ซานดรา ปรูเนญา มาซัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยุติบทบาทดังกล่าว พร้อมขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐบาร์เบโดส เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 นับเป็นประเทศล่าสุดในประชาคมโลกที่ตัดสินใจเริ่มต้นระบอบสาธารณรัฐในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
นอกจากบาร์เบโดสแล้ว ประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ในแถบมหาสมุทรอินเดียอย่าง มอริเชียส ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศอดีตเครือจักรภพที่ประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรและเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐสำเร็จ เมื่อปี 1992
นอกจากนี้ยังมีบางประเทศในเครือจักรภพที่มีแผนจะจัดการลงประชามติ เพื่อเปลี่ยนแปลงและเตรียมแยกตัวออกไป เช่น แอนทีกาและบาร์บิวดา นายกรัฐมนตรีแกสตัน บราวน์ ของแอนทีกาและบาร์บิวดา ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในแถบทะเลแคริบเบียน หนึ่งในประเทศสมาชิกเครือจักรภพ ประกาศเตรียมแผนการจัดลงประชามติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ หลังสิ้นสุดรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2
โดยบราวน์จะผลักดันแผนการดังกล่าวอย่างจริงจัง หากเขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2023 พร้อมเน้นย้ำว่าท่าทีดังกล่าวไม่ได้เป็นไปด้วยจุดยืนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์หรือราชวงศ์อังกฤษแต่อย่างใด หากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเกิดขึ้นจริง แอนทีกาและบาร์บิวดาก็จะยังคงรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับสหราชอาณาจักรและบรรดาเครือจักรภพอื่นๆ ต่อไป
ประเทศออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ที่สังกัดพรรคเลเบอร์ ก็เป็นสมาชิกฝ่ายรีพับลิกัน สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐ และมีความพยายามจะจัดการลงประชามติภายในระยะ 4 ปีในช่วงที่เขายังคงดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ อย่างไรก็ตาม อัลบาเนซีประกาศว่าออสเตรเลียยังไม่เหมาะสมที่จะจัดการลงประชามติในช่วงเวลานี้ เนื่องจากพลเมืองออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยยังคงอยู่ในช่วงที่เศร้าเสียใจ สิ่งที่เราจะทำได้คือเคารพและชื่นชมการอุทิศตนของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีต่อออสเตรเลีย
จาเมกา นายกรัฐมนตรีแอนดรูว์ โฮลเนสส์ของจาเมกา ก็เริ่มส่งสัญญาณถึงราชวงศ์ถึงความฝันในการเป็นประเทศเอกราช เป็นประเทศสาธารณรัฐเช่นเดียวกับบาร์เบโดส และเตรียมยุติบทบาทของกษัตริย์จากราชวงศ์อังกฤษในฐานะประมุขของประเทศเช่นเดียวกัน
ล่าสุด นิวซีแลนด์ นายกฯนิวซีแลนด์คาดประเทศจะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้
นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) ว่า นิวซีแลนด์จะกลายเป็นสาธารณรัฐในท้ายที่สุด และยุติการอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ แต่ยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้
เมื่อถูกถามถึงการแปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐของนิวซีแลนด์ หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นายกฯอาร์เดิร์นกล่าวว่า “ดิฉันเชื่อมั่นว่านิวซีแลนด์จะไปถึงจุดนั้นเมื่อถึงเวลา”
“ดิฉันเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของดิฉัน แต่ไม่คิดว่าจะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้” นายกฯอาร์เดิร์นกล่าว พร้อมเสริมว่า คณะรัฐบาลของเธอจะยังไม่ถกประเด็นนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ทั้งนี้ นิวซีแลนด์ และอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ เช่น ออสเตรเลีย และแคนาดา ยังคงถือเอากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข โดยมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 บนเหรียญและธนบัตร
อย่างไรก็ตาม การเสด็จสวรรคคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้จุดประเด็นการถกเถียงเรื่องการเป็นสาธารณรัฐในออสเตรเลียแล้ว
ที่มา : ที่มา :
https://www.reuters.com/world/jamaica-pm-tells-british-royals-island-nation-wants-be-independent-2022-03-23/
BBC , Wikipedia